การส่งออกรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงในทุกผลิตภัณฑ์เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทยยังคงชะลอตัวทำให้กำลังซื้อลดลงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยประกอบกับขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงเนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่า และมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนวัตถุดิบ
การผลิต
1. การฟอกและการตกแต่งหนังฟอกดัชนีผลผลิตไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 17.58 สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลง ร้อยละ 16.66 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ลดลง ร้อยละ 6.14 เนื่องจากการส่งออกในตลาดหลักยังขยายตัวไม่มาก แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาการผลิต ลดลง ร้อยละ 2.51 ซึ่งมีแนวโน้มการลดลงที่ดีขึ้นโดยเปรียบเทียบ ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าและดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.26 และ 2.86 ตามลำดับ
2. การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลากดัชนีผลผลิตไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 11.99 เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลง ร้อยละ 17.30 ทำให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.75 แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.37 ขณะที่ดัชนีการส่งสินค้าลดลง ร้อยละ 7.86 เนื่องจากมีสต๊อกของระดับสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 42.56
3. การผลิตรองเท้า ดัชนีผลผลิตไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 9.27 และ 5.98 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออกที่มีมูลค่าลดลงในส่วนดัชนีการส่งสินค้าเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 18.13 และ 14.24 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.27 และ 6.98 ตามลำดับ
ไตรมาส 3 ปี 2559 มีโรงงานตั้ง/ประกอบกิจการ จำนวน 5 แห่ง แบ่งเป็น โรงงานฟอกหนัง สัตว์ จำนวน 1 แห่ง โรงงานผลิตรองเท้าและชิ้นส่วน จำนวน 1 แห่ง โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากหนัง จำนวน 3 แห่ง มีโรงงานขยายกิจการ จำนวน 2 แห่ง คือ โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากหนัง จำนวน 1 แห่ง โรงงานผลิตรองเท้าและชิ้นส่วน จำนวน 1 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลต่อภาคการผลิตและความต้องการบริโภคสินค้า นอกจากนี้ มีโรงงานผลิตรองเท้าและชิ้นส่วน ขอยกเลิกกิจการ 1 แห่ง
การตลาดและการจำหน่าย
การค้าระหว่างประเทศ
ไตรมาส 3 ปี 2559 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 415.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.96 และ 2.08 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้
1. หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดไตรมาส 3 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 182.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.83 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเข็มขัด และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.90 และ 19.80 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักที่สำคัญ ได้แก่ อาเซียนและฮ่องกง ขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง และ ถุงมือหนัง ปรับตัวลดลง ร้อยละ 62.65 28.63 และ 14.69 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการสินค้าไทยของจีน ที่ต้องการสินค้าจากไทยเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำไปยังตลาดอื่นชะลอตัวลงต่อเนื่อง
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ปรับตัวลดลง ร้อยละ 1.24 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง และถุงมือหนัง ปรับตัวลดลง ร้อยละ 17.52 2.09 และ 24.92 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเข็มขัด และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 92.65 และ 2.10 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ได้แก่ เวียดนาม ฮ่องกง และจีน มีสัดส่วน ร้อยละ 21.91 16.71 และ 10.05 ตามลำดับ
2. เครื่องใช้สำหรับเดินทางไตรมาส 3 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 77.66 ล้านเหรียญ ลดลง ร้อยละ 3.59 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ และกระเป๋าใส่เศษสตางค์ ลดลง ร้อยละ 9.31 19.67 และ 5.61 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ลดลง อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์เครื่องเดินทางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.92 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทางขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.66 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกทุกผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.63 4.59 14.56 และ 8.65 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วน ร้อยละ 31.59 11.82 และ 8.83 ตามลำดับ
3. รองเท้าและชิ้นส่วนไตรมาส 3 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 154.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 9.22 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ลดลงได้แก่ รองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง และส่วนประกอบรองเท้า ลดลง ร้อยละ 40.13 15.98 10.98 และ 22.49 ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อมูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนที่ปรับตัวลดลง เกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ และญี่ปุ่น ยังคงชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 7.97 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกทุกผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง รองเท้าอื่น ๆ และส่วนประกอบของรองเท้า ลดลง ร้อยละ 9.00 24.49 2.39 5.40 และ 20.63 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก มีสัดส่วน ร้อยละ 16.24 7.86 และ 10.18 ตามลำดับ
ไตรมาส 3 ปี 2559 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังมีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 399.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.68 และ 1.82 ตามลำดับ ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้
1. หนังดิบและหนังฟอกไตรมาส 3 ปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้า 191.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.65 และ 1.78 ตามลำดับ เพื่อสต๊อกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวของปริมาณความต้องการภายในประเทศที่ครอบคลุมทั้งความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มสินค้ารองเท้าและเครื่องหนังและการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้หนังในกระบวนการผลิตเช่น เบาะรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ โดยแหล่งนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่สำคัญ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล และสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนร้อยละ 16.52 10.32 และ 13.02 ตามลำดับ
2. กระเป๋าไตรมาส 3 ปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้า 109.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.88 และ 1.98 ตามลำดับ เป็นไปตามทิศทางของการขยายตัวของการท่องเที่ยวทั้งการท่องเที่ยวขาเข้า และการท่องเที่ยวขาออกที่ทำให้เกิดอุปสงค์ของกระเป๋าภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน อิตาลี และฝรั่งเศส มีสัดส่วน ร้อยละ 47.22 17.39 และ 10.52 ตามลำดับ
3. รองเท้าไตรมาส 3 ปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้า 98.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.31 และ 1.73 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นที่เริ่มปรากฎผลให้เห็นชัดเจนขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีสัดส่วน ร้อยละ 42.56 22.51 และ 10.68 ตามลำดับ
นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
1. นโยบายการส่งเสริม SMEs ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลที่ออกมาช่วยสร้างความ แข็งแกร่งให้กับ SMEs โดยมีแนวทางในการปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เน้นปัจจัยการผลิตเดิม (Factor Driven Growth) ประเภทที่ดิน แรงงาน และทุน ไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่การสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มเป็นปัจจัยขับเคลื่อน หรือการพัฒนาทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยกระดับให้ SMEs ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และตั้งเป้าหมายในปี 2558 เพิ่มสัดส่วนรายได้ของ SMEs ทั้งระบบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในปี 2559 หรือคิดเป็นมูลค่า 300,000 ล้านบาทซึ่งอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ส่วนใหญ่เป็น SMEs จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะได้รับการส่งเสริม
2. นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 จำนวน 5 -10 บาทใน 69 จังหวัด โดยพิจารณาแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ไม่ปรับค่าจ้าง มี 8 จังหวัด คือ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา 2) กลุ่มที่ปรับขึ้นค่าจ้าง 5 บาท มี 49 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย3) กลุ่มที่ปรับขึ้นค่าจ้าง 8 บาท มี 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และพระนครศรีอยุธยา และ 4) กลุ่มที่ปรับขึ้นค่าจ้าง 10 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2560 อาจจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ
สรุปและแนวโน้ม
การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทุกผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลง ได้แก่ การฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และการผลิตรองเท้า ลดลง ร้อยละ 17.58 11.99 และ 9.27 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวและเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักได้แก่ สหภาพยุโรป และ จีน ที่ยังคงชะลอตัว
การส่งออก ไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.83 ในขณะที่เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วน มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 3.59 และ 9.22 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกของไทยได้รับอิทธิพลจากกระแสการค้าโลกที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อและการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ประกอบกับขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่า และมีความได้เปรียบด้านต้นทุน
การนำเข้า ไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทุกผลิตภัณฑ์มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ หนังดิบและหนังฟอก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.65 สำหรับสินค้าสำเร็จรูป ได้แก่ กระเป๋า และรองเท้า มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.88 และ 8.31 ตามลำดับ เป็นไปตาม ทิศทางการบริโภคสินค้าหรูของประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น
แนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2559 คาดว่าการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังจะเพิ่มขึ้น จากการปรับการผลิตเข้าสู่ภาวะปกติ และการผลิตเพื่อทดแทนสินค้าคงคลังที่ลดลงในช่วงที่มีการผลิตลดลงในไตรมาสที่ผ่านมาในส่วนของการผลิตกระเป๋าและกระเป๋าเดินทางยังคงขยายตัวได้ตามการเติบโตของอุปสงค์จากการเดินทางท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งการเดินทางภายในประเทศ และการเดินทางระหว่างประเทศ โดยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวและนักเดินทางภายในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญให้คาดการณ์ได้ว่าการผลิตกระเป๋าและกระเป๋าเดินทางจะยังคงขยายตัวได้แต่จะเป็นการขยายตัวในอัตราไม่สูงมากเพราะยังคงมีข้อจำกัดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และของโลกที่ยังมีปัจจัยจำกัดการเติบโตหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าการผลิตในภาพรวมของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2559 สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง คาดว่า จะปรับตัวในทิศทางดีขึ้นตามคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้ารองเท้าและเครื่องหนังที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ และเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดช่วงปีใหม่ซึ่งจะมีการจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างมากอย่างไรก็ตาม การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังทั้งปีคาดว่า จะทรงตัว สำหรับการนำเข้า คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเศรษฐกิจไทยที่มีการขยายตัวดีขึ้น และอาจขยายตัวได้ดีขึ้นมากถ้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--