สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 และแนวโน้มปี 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 14:31 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลกในปี 2559 IMF คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 ภาพรวมเศรษฐกิจของโลกยังคงขยายตัว แม้ว่าเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศจะชะลอตัวจากปี 2558 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัว โดยปัญหาการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจสหภาพยุโรปขยายตัวแต่ยังคงมีปัญหาอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ยังคงมีความกังวลในเรื่อง Brexit ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจสหภาพยุโรป เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเล็กน้อย สำหรับเศรษฐกิจประเทศจีนยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง

สถานการณ์การเงินโลกธนาคารกลางหลาย ๆ ประเทศ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ และยังคงใช้มาตรการแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ

สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกในปี 2559 ยังคงอยู่ในระดับต่ำ อันเป็นผลมาจากกลุ่มประเทศโอเปกตัดสินใจคงกำลังการผลิต และยังมีผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐฯ และแคนาดา จึงส่งผลให้อุปทานน้ำมันโลกยังคงล้นตลาด โดยราคาน้ำมันดิบ (Dubai) เฉลี่ย 10 เดือน อยู่ที่ 39.9 USD:Barrel โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมกราคม (ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2559) มีราคาอยู่ที่ 50.3 USD:Barrel สำหรับราคาน้ำมันโลกปี 2560 คาดว่าราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มโอเปกบรรลุข้อตกลงการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2560 ทั้งนี้ข้อตกลงของกลุ่มโอเปกอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นมาในระยะสั้นเท่านั้น เพราะหากราคาน้ำมันสูงกว่าระดับ 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จะส่งผลให้น้ำมันจากชั้นหินดินดานในสหรัฐฯ มีการผลิตเพิ่มขึ้น

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ขยายตัวคงที่จากไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 คือ การผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ปรับตัวเป็นบวกหลังจากลดลง 7 ไตรมาสติดต่อกัน เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้งเริ่มผ่อนคลายลง การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9 ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.5 และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.4 การส่งออกสุทธิเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 3.4 ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 1.3

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 0.9 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 เป็นผลจากความต้องการในตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงความต้องการในประเทศที่หดตัวในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ แต่ในบางอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตแอร์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัวสูงจากการส่งออก

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 และเศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0

การค้าต่างประเทศในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของทั้งมูลค่าการนำเข้าและมูลค่าการส่งออก ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว โดยการนำเข้าตลอดทั้ง 10 เดือนมีมูลค่าลดลงในระดับที่มากกว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 18,177.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าใน 9 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - กันยายน) การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 1,302 โครงการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,769 โครงการ โดยในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2559 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 675,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า การลงทุน 665,630 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 459 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 102,190 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ จำนวน 305 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 330,060 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 538 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 243,370 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 236,720 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตรมีเงินลงทุน 147,340 ล้านบาท และหมวดเคมีภัณฑ์ พลาสติกและกระดาษมีเงินลงทุน 140,240 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนใน 9 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - กันยายน) พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 228 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 72,220 ล้านบาท รองลงมา คือ ประเทศจีนได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 80 โครงการ มีเงินลงทุน 40,564 ล้านบาท เนเธอร์แลนด์มีจำนวน 26 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 22,433 ล้านบาท และประเทศออสเตรเลียมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 23 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 19,794 ล้านบาท

แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทยปี 2560 คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2558 จากการทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและการค้าโลก รายจ่ายการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และการดำเนินงานภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor Development: EEC)

สรุปภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2559 มีประมาณ 7,728 ,338 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กทรงยาว ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.02 เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.90 สำหรับการจำหน่ายในประเทศประมาณ 19,074,108 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.86 โดยเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.82 เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.91 สำหรับมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.25 มูลค่าการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 3.66

คาดการณ์การบริโภคเหล็กของไทยในปี 2560 ประมาณ 17.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.1-2.8 โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเหล็กทรงแบน จะมีการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ สำหรับเหล็กทรงยาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของโครงการก่อสร้างภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ พบว่า ในปี 2560 กระทรวงคมนาคมมีแผนลงทุนด้านขนส่ง โดยขยายการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 36 โครงการ โดยเป็นโครงการต่อขยายเฟสแรก โดยโครงการที่พร้อมขออนุมัติ ครม. เช่น รถไฟทางคู่ปากน้ำโพ-เด่นชัย, จิระ-อุบลราชธานี, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, เด่นชัย-เชียงใหม่, เด่นชัย-เชียงของ และบ้านไผ่นครพนม ซึ่งจะมีผลทำให้เหล็กทรงยาว ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 1,637,841 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิต 1,597,140 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.55 โดยมีปริมาณการผลิตรถยนต์นั่ง 680,384คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์927,923คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ5.86และ0.49ตามลำดับ ส่วนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 29,534คัน ลดลงร้อยละ 4.74

สำหรับประมาณการของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2560 จากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่าการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,000,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 800,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,200,000 คัน ซึ่งสอดคล้องกับที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2560 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3-4 สำหรับตลาดส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 40-45 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 55-60

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 110.75 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.46 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.55 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.71 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเครื่องปรับอากาศสามารถขยายตัวได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี และเครื่องซักผ้ามีการขยายตัวอย่างมากในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีการขยายกำลังการผลิต โดยเริ่มผลิตและส่งออกตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ในปี 2560 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่ามีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการฟื้นตัวของตลาดในประเทศและการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น

เคมีภัณฑ์ การส่งออกเคมีภัณฑ์ในช่วง10 เดือนแรก (ม.ค. - ต.ค.) ของปี 2559มีมูลค่ารวม 5,602.237ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นมูลค่าที่ลดลง162.35ล้านเหรียญสหรัฐผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เครื่องสำอาง และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด คิดเป็นประมาณร้อยละ 30.5026.71และ 12.39 ตามลำดับส่วนการนำเข้าเคมีภัณฑ์ในช่วง10 เดือนแรก (ม.ค. - ต.ค.) ของปี 2559มีมูลค่ารวม 10,832.450ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นมูลค่าที่ลดลง 462.583ล้านเหรียญสหรัฐผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ดคิดเป็นประมาณร้อยละ 23.62และ 22.88 ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2560 การส่งออกเคมีภัณฑ์ปี 2560 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมประมาณ 6,950 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าเคมีภัณฑ์ปี 2560 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมประมาณ 13,659 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หลายโครงการเริ่มก่อสร้างในปี 2560 อาทิ Motorway รถไฟฟ้าในเขตเมือง รถไฟฟ้ารางคู่ เป็นต้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนตาม ซึ่งน่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้การบริโภคเคมีภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายในประเทศเพิ่มขึ้น

พลาสติก สรุปภาวะเศรษฐกิจปี 2559 ผลิตภัณฑ์พลาสติกคาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 1,123,285 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.15 หรือคิดเป็นมูลค่า 3,810.804 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่คาดว่ามีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องประกอบอาคาร (3925) แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3921) เครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) และแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.72 9.07 8.41 และ 7.64 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าคาดว่ามีปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 694,017.09 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.60 หรือคิดเป็นมูลค่า 4,099.769 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่คาดว่ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ใยยาวเดี่ยว (3916) แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ชนิดยึดติดในตัว (3919) เครื่องประกอบอาคาร (3925) และเครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.83 20.15 18.45 18.16 และ16.85 ตามลำดับ

แนวโน้มปี 2560 อุตสาหกรรมกรรมพลาสติกคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่ามีมูลค่าการส่งออกรวม 3,917.480 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.80 หรือคาดว่ามีปริมาณการส่งออกรวม 1,161,610.31 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.41เมื่อเทียบกับปี 2559

ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.)ปี 2559คาดว่ามูลค่าการส่งออกและนาเข้าโดยรวมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลงร้อยละ 10.17 และ 8.81 ตามลาดับ ซึ่งเกิดจากความผันผวนของระดับราคานามันดิบที่อยู่ในช่วงขาลง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงการฟืนตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2560 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึน ตามการคาดการณ์การขยายตัวของ GDP และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัว GDP ปี 2560 ของสานักงานเศรษฐกิจการคลังได้ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะมีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกและการนาเข้าร้อยละ 1.8 และ 4.0ตามลาดับ (ข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่147/2559 วันที่ 28 ตุลาคม 2559) อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของระดับราคานามันดิบ ภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาค และภาวะเศรษฐกิจโลก การขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมปลายทาง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นปัจจัยสาคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษปี 2559คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.84 0.65 11.90 3.48 และ 0.07 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอางปูนซีเมนต์ ที่เพิ่มขึ้นตามการบริโภคภายในที่ขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับเหตุการณ์สำคัญที่กระตุ้นให้ความต้องการกระดาษประเภทต่าง ๆ ขยายตัว เช่นการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น รวมถึงเป็นการขยายการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มขยายตัว

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ปี 2560 คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ ในภาพรวมจะสามารถขยายตัวได้จากเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีทิศทางขยายตัว ยกเว้นกระดาษพิมพ์เขียน ที่คาดว่า จะมีดัชนีผลผลิตลดลง เนื่องจากเอกสาร หนังสือ สื่อโฆษณาในรูปแบบกระดาษถูกแทนที่ด้วยระบบดิจิทัล ส่งผลให้การผลิตกระดาษพิมพ์เขียนลดลง ประกอบกับการนำเข้ากระดาษดังกล่าวส่วนหนึ่งจากต่างประเทศมาใช้ทดแทน

เซรามิก การผลิตเซรามิก ปี 2559 ในภาพรวมได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก ทำให้การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว การเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง และยังต้องเร่งระบายโครงการเดิมที่มีอยู่ ในขณะที่ผู้บริโภคเองยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ได้สิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2559 ทำให้การผลิตเซรามิกเพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบต่อเนื่องตามไปด้วย โดยในปี 2559 ปริมาณการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีประมาณ 150.67 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.31 ในขณะที่ปริมาณการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีประมาณ 7.51 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.73 ซึ่งการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์จะมีทิศทางการเติบโตของตลาดในประเทศดีกว่ากระเบื้องปูพื้นบุผนัง จึงทำให้การผลิตยังสามารถขยายตัวได้

ในปี 2560 คาดว่าการผลิตและจำหน่ายเซรามิกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่จะขยายตัวตามโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในส่วนของการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีทิศทางการขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ปี 2559 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 42.52 ล้านตัน และปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ 42.88 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน การผลิตปูนเม็ดและปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.58 และร้อยละ 15.20 ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวจากปีก่อน ถึงแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจในประเทศจะอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปีโดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเนื่องจากฐานตัวเลขของปี 2558 ค่อนข้างต่ำ

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2560 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวโดยเฉพาะในส่วนของนโยบายเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้มีความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนการผลิตกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์และเส้นด้ายเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ภายในประเทศที่ขยายตัวสูงขึ้น สำหรับการผลิตผ้าผืนลดลง เนื่องจากยังมีสินค้าสะสมค่อนข้างมากจากการนำเข้าตั้งแต่ช่วงกลางปี เนื่องจากราคานำเข้าถูกกว่าการผลิตในประเทศ ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงทั้งเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอแม้ว่าความต้องการใช้เสื้อผ้าสีดำภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

ภาพรวมการผลิต การจำหน่ายในประเทศของกลุ่มเส้นใยสิ่งทอปี 2560 คาดว่า จะขยายตัวได้จากความต้องการของตลาดในอาเซียนยังมีความต้องการนำเข้าจากไทย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำสำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะเสื้อผ้าชุดดำ ยังมีความต้องการของผู้บริโภคในประเทศเกือบทุกภาคส่วน ซึ่งในหลายองค์กรยังไว้อาลัยต่อเนื่อง และหลายโรงงานต้องเร่งการผลิตเพื่อให้ทันตามความต้องการของลูกค้า ในส่วนภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะขยายตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจภายในตลาดคู่ค้าหลัก ๆ ยังชะลอตัวต่อเนื่อง

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2559 ในภาพรวมหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่การเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงเนื่องจากอยู่ในช่วงการเร่งระบายโครงการเดิมที่มีอยู่ ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็ยังมีปัญหาไม่ผ่านการขอสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้มีผลต่อเนื่องต่อความต้องการใช้เครื่องเรือนในการตกแต่งบ้านที่ไม่สามารถขยายตัวได้ โดยปริมาณการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2559 มีประมาณ 4.97 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 12.19

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มจะขยายตัวตามโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินค้าตกแต่งบ้าน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ยา การผลิตยาในประเทศ ปี 2559 คาดว่าจะมีปริมาณลดลงจากปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตบางรายย้ายสถานที่ตั้งโรงงานจึงต้องหยุดเดินเครื่องจักรไประยะหนึ่ง และผู้ผลิตบางรายหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงระบบการผลิต ในขณะที่การจำหน่ายยาในประเทศคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายมียาน้ำชนิดใหม่ออกสู่ตลาดทดแทนยาน้ำชนิดเดิมที่ถูกจำกัดปริมาณการจำหน่าย ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดี และผู้ประกอบการบางรายมียอดสั่งซื้อยาน้ำบางชนิดซึ่งเป็นสินค้าที่มีผลิตอยู่เดิมเพิ่มขึ้นมาก

การผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศปี 2560 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่บางรายน่าจะสามารถกลับมาผลิตยาได้เต็มกำลังการผลิต หลังจากที่ย้ายสถานที่ ตั้งโรงงานเมื่อปีที่ผ่านมาทำให้ต้องรอขออนุญาตผลิตยาแต่ละชนิดใหม่ทั้งหมด

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นปี 2559 คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 0.67เมื่อเทียบกับปีก่อนสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญทั้งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ(ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ยางในรถบรรทุก/รถโดยสารและยางหล่อดอก)และถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในส่วนของยางนอกและยางในรถบรรทุกและรถโดยสาร ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่าจะลดลงร้อยละ 2.38และ19.26 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ทำให้ผู้บริโภคหันไปหล่อดอกยางมากกว่าที่จะซื้อยางใหม่ซึ่งมีราคาสูง สอดคล้องกับตัวเลขการผลิตยางหล่อดอกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.81 ประกอบกับเทคโนโลยีการผลิตยางล้อมีความก้าวหน้ามากขึ้นทำให้ปัจจุบันมีการผลิตยางล้อชนิดที่ไม่ใช้ยางในซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่าเพิ่มขึ้นปริมาณการผลิตยางในรถบรรทุกและรถโดยสารจึงหดตัวลงค่อนข้างมาก

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในปี 2560 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากสต็อกยางที่ลดลงมากของจีนจะทำให้จีนต้องนำเข้ายางพาราจากไทยมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และในส่วนของผลิตภัณฑ์กลุ่มยางล้อคาดว่าจะขยายตัวได้ตามแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ทุกผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลง ได้แก่ การฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และการผลิตรองเท้า เนื่องจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว และเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป และ จีน ที่ยังคงชะลอตัว

ปี 2560 คาดว่า การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังจะมีแนวโน้มทรงตัว หรืออาจพลิกกลับมาเป็นบวกเล็กน้อย เนื่องจากฐานปี 2559 อยู่ในระดับต่ำ โดยมีปัจจัยที่กระตุ้นการผลิต เช่น การขยายตัวเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยว การลงทุนจากภาครัฐที่จะส่งผลเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศโดยรวม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้การผลิต ปี 2560 กลับมาขยายตัวได้ ดังนั้น การผลิตในภาพรวมของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง อาจมีทิศทางที่ดีขึ้นในปี 2560 สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง คาดว่า จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน และมีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้ารองเท้าและเครื่องหนังที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบในด้านลบ คือ นโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย สำหรับการนำเข้า คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการบริโภคสินค้าหรูเพื่อแสดงฐานะทางสังคมมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น และอาจขยายตัวได้ดีขึ้นมากถ้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คาดว่า การผลิตจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.58 ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลายประเทศที่คาดการณ์ว่าจะเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องประดับเทียม เพื่อเป็นสินค้าทางเลือกในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือในช่วงที่ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม คาดว่า จะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.39 เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่าสูงถึง 7,036.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 84.83 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีก่อน ทำให้มีการสั่งซื้อเพื่อเก็งกำไรและถือครองไว้ และหากไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่า จะขยับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.56 โดยยังมีสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ

การผลิต ในปี 2560 คาดว่า การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเนื่องจากคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางดีขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น

อาหาร ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2559 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.94 เนื่องจากการผลิตน้ำมันพืช น้ำตาล และประมงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัวจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคยังไม่ดีนัก ส่วนการส่งออกปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.87 จากสินค้ากลุ่มน้ำตาลทราย กลุ่มอาหารอื่นๆ และ กลุ่มข้าวและธัญพืช จากความคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าลดลง ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้การค้าการลงทุนซบเซาตามไปด้วย เนื่องด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นที่เป็นประเทศคู่ค้าหลักนอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบต่างๆ ที่ควรเฝ้าระวัง เช่น ผลกระทบของ Brexit ผ่านค่าเงินปอนด์สเตอริง และยูโรที่อ่อนค่าลง นโยบายของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการระบายสต๊อกข้าวโพดจากการที่แผนการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบได้สิ้นสุดลงปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎIUU Fishing จากสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสินค้าไทย ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การแข่งขันด้านราคาในตลาดโลก รวมทั้งระดับราคาสินค้าในตลาดโลกผันผวนตามราคาน้ำมัน ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ แม้จะมีปัจจัยบวกในช่วงปลายปีจากนโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ ในการยกเลิกข้อตกลง TPP ผลดีจากสหรัฐฯ ที่ปรับระดับการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้นจาก Tier 3 เป็น Tier 2 รวมทั้งการกลับมาได้รับสิทธินำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากเกาหลีใต้

คาดการณ์การผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0 ถึง 2 เนื่องจากการผลิตเพิ่มขึ้นสินค้าสำคัญ เช่น กลุ่มปศุสัตว์ จากสินค้า ไก่แปรรูป และกลุ่มประมง (สินค้ากุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง)ที่ได้รับผลดีจากการแก้ปัญหาโรคตายด่วน และประเทศคู่แข่งประสบปัญหาผลผลิตลดลง ส่งผลต่อการส่งออกในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ1 ถึง 3 เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น กลุ่มข้าวและธัญพืชกลุ่มประมง (ทูน่ากระป๋อง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง และกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง) ที่ได้รับผลดีจากสหรัฐฯ ที่ปรับระดับการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้นจาก Tier 3 เป็น Tier 2 และกลุ่มปศุสัตว์ (ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และ ไก่แปรรูป) ที่เพิ่มคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้า และการกลับมาได้รับสิทธินำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากเกาหลีใต้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ