สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 และแนวโน้มปี 2560(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 15:24 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ขยายตัวคงที่จากไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 คือ การผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ปรับตัวเป็นบวกหลังจากลดลง 7 ไตรมาสติดต่อกัน เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้งเริ่มผ่อนคลายลง การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9 ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.5 และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.4 การส่งออกสุทธิเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 3.4 ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 1.3

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 0.9 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 เป็นผลจากความต้องการในตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงความต้องการในประเทศที่หดตัวในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ แต่ในบางอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตแอร์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัวสูงจากการส่งออก

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีการส่งสินค้า และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังขยายตัวเพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปี 2558 เล็กน้อย โดยอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ (1) การผลิตเครื่องปรับอากาศ (2) การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและของที่เกี่ยวข้อง (3) การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ (4) การผลิตสบู่และผงซักฟอกเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดและขัดเงา เครื่องหอมและสิ่งปรุง และ (5) การผลิตสตาร์ชและผลิตภัณฑ์จากสตาร์ช แต่เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 พบว่า ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากยังไม่เชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการส่งออก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำในช่วง 10 เดือนของปี 2559 หดตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558

ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนในช่วงเดือนมกราคมตุลาคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐแก่เกษตรกรบางกลุ่ม และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้จากการประเมินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวแต่มีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐอเมริกา ปัญหาการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป ปัญหาภาคการเงินในยุโรปและจีน ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกสินค้าของไทย และจากปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบของการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนน้อยกว่าประมาณการเดิม

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 และเศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0

โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้คาดการณ์ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2560 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงไว้ ดังนี้

ปัจจัยสนับสนุนสำหรับเศรษฐกิจไทย
  • การกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออก ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสำคัญๆ ในตลาดโลก โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 มูลค่าการส่งออกสินค้าเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกสอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ในช่วงที่เหลือของปี 2559 และในปี 2560 เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นช้าๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกในปี 2560 เริ่มกลับมาขยายตัวหลังจากปรับตัวลดลง 3 ปีติดต่อกัน
  • แนวโน้มการฟื้นตัวและการขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคเกษตร ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของฐานรายได้และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน หลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงของภาวะเอลนีโญ (El Ni-o) ซึ่งทำให้การผลิตภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 3.8 และร้อยละ 1.3 ในปี 2558 และในครึ่งแรกของปี 2559 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 การผลิตภาคเกษตรเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 และในปี 2560 ตามปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญๆ ที่อยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของฐานรายได้และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนได้มากขึ้นแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตจะทำให้ราคาผลผลิตในบางสินค้าเริ่มปรับตัวลดลงเข้าสู่ระดับปกติก็ตาม
  • รายจ่ายการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ตามความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม 20 โครงการ วงเงินรวม 1,410,763.35 ล้านบาท ซึ่งเริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้นในปี 2559 และคาดว่าจะเร่งขึ้นในปี 2560 ในขณะที่ในด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (คนพ.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ได้ให้ความเห็นชอบร่างแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (พ.ศ.2560 - 2564) ประกอบด้วย 173 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 712,645.23 ล้านบาท โดยในปี 2560 เริ่มดำเนินการโครงการเร่งด่วน 48 โครงการ วงเงินรวม 6,992.67 ล้านบาท
  • แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยในปี 2558 และในช่วง 9 เดือนของปี 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 20.6 และร้อยละ 12.4 ตามลำดับ และเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นและความวิตกกังวลของนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับกิจกรรมท่องเที่ยวในช่วงการไว้ทุกข์และมาตรการแก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญของภาครัฐ อย่างไรก็ตามในปี 2560 คาดว่าผลกระทบจากความวิตกกังวลของนักท่องเที่ยวต่อเรื่องดังกล่าวจะผ่อนคลายลงตามลำดับ และทำให้จำนวนและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทย
  • ความเสี่ยงด้านความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและสนับสนุนให้ภาคการส่งออกในปี 2560 เริ่มกลับมาขยายตัวก็ตาม แต่ในช่วงที่เหลือของปี 2559 และในปี 2560 ยังมีปัจจัยที่จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมีความผันผวนซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) ทิศทางและแนวนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง (2) ผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญในอิตาลีวันที่ 4 ธันวาคม 2559 (3) การใช้อำนาจตามมาตรา 50 ภายใต้สนธิสัญญาลิสบอน ฉบับปี 2552 ของสหราชอาณาจักรเพื่อขอแยกตัวจากสหภาพยุโรปในเดือนมีนาคม 2560 (4) การคาดการณ์และผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสในวันที่ 23 เมษายน 2560 (5) การคาดการณ์การเลือกตั้งในเยอรมันในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2560 (6) ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในยุโรป และ (7) ปัญหาในภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน
ดัชนีทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 0.1 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนมีค่า 108.3 และในปี 2558 มีค่า 108.2 โดยมี (1) การผลิตเครื่องปรับอากาศ (2) การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและของที่เกี่ยวข้อง (3) การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ (4) การผลิตสบู่และผงซักฟอกเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดและขัดเงา เครื่องหอมและสิ่งปรุง และ (5) การผลิตสตาร์ชและผลิตภัณฑ์จากสตาร์ช เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคมตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558

สำหรับแนวโน้มปี 2560 คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีนและญี่ปุ่น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเกษตร การกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 1.2 ซึ่งดัชนีการส่งสินค้าเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2559 มีค่า 109.5 และในปี 2558 มีค่า 108.3 โดยมี (1) การผลิตเครื่องปรับอากาศ (2) การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ (3) การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและของที่เกี่ยวข้อง (4) การผลิตเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น และ (5) การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขึ้นมูลฐาน เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558

สำหรับแนวโน้มในปี 2560 คาดว่า ดัชนีการส่งสินค้าจะขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ซึ่งจะสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ข้างต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 0.1 ซึ่งดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2559 มีค่า 114.2 และในปี 2558 มีค่า 114.0 โดยมี (1) การผลิตสบู่และผงซักฟอกเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดและขัดเงาเครื่องหอมและสิ่งปรุง (2) การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (3) การผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ (4) การผลิตเครื่องปรับอากาศ และ (5) การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558

สำหรับแนวโน้มปี 2560 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังจะเพิ่มขึ้นจากปี 2559 เนื่องจากการปรับปริมาณสินค้าคงคลังให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับภาวะด้านอุตสาหกรรมที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องรักษาระดับของสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อการจำหน่ายต่อไป

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม ตุลาคม 2559 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 โดย 10 เดือนแรกของปี 2559 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 65.8 และในปี 2558 อยู่ที่ระดับร้อยละ 66.1 โดยมี (1) การผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ (2) การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ (3) การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ (4) การผลิตรองเท้า และ (5) การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558

สำหรับแนวโน้มปี 2560 คาดว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตจะปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 เนื่องจากในหลายอุตสาหกรรมน่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2560

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในช่วงเดือนมกราคม -ตุลาคม 2559 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเฉลี่ยรวมมีค่า 73.4 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 2.8 (75.5) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ (1) ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม (2) ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำโดยรวม และ(3) ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 ทั้ง 3 ดัชนีมีค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 และอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตยังไม่ดี

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 เฉลี่ยมีค่า 62.3 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 (64.8) การที่ค่าดัชนีอยู่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคเห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่มากนัก เนื่องมาจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการส่งออก

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2559 เฉลี่ยมีค่า 68.2 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 (70.2) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวม โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำจะไม่ดีตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ

ดัชนีความเชื่อมั่นในผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2559 เฉลี่ยมีค่า 89.6 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 (91.5) อย่างไรก็ตามการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ในระดับใกล้เคียง 100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังมีความมั่นใจในรายได้ในอนาคตของตนในระดับที่ใกล้เคียงปกติ

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2559 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2559 มีค่า 49.5 และในปี 2558 มีค่า 48.6 โดยค่าเฉลี่ยดัชนีทั้ง 10 เดือนมีค่าใกล้เคียงกับ 50 แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ในภาวะทรงตัว หากพิจารณาดัชนีย่อย ซึ่งประกอบด้วย (1) ดัชนีผลประกอบการ (2) ดัชนีคำสั่งซื้อทั้งหมด (3) ดัชนีการลงทุน (4) ดัชนีการจ้างงาน (5) ดัชนีต้นทุนการประกอบการ และ (6) ดัชนีการผลิต พบว่า ดัชนีการลงทุน และการจ้างงานอยู่ที่ระดับเหนือ 50 แสดงว่ามีความเชื่อมั่นดีขึ้น ตามแนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคการผลิตและคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม

สำหรับแนวโน้มปี 2560 คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจจะเพิ่มขึ้นจากปี 2559 จากความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากการบริโภค และการลงทุนของภาครัฐและเอกชน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2559 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยมีค่า 85.4 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 เล็กน้อย (85.6) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยังมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคม 2559 ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 86.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 84.8 ในเดือนกันยายน 2559 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 เป็นผลจากปรับเพิ่มขึ้นขององค์ประกอบ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ เนื่องจากผลการสำรวจพบว่า มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นทั้งจากผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อรองรับเทศกาลในช่วงสิ้นปี ขณะเดียวกันกลุ่มผลิตที่เป็นกลุ่มตัวอย่างได้มีการออกแบบและปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปี ทำให้มียอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความวิตกกังวลต่อต้นทุนการผลิต การแข่งขันด้านราคา ปัญหาสภาพคล่องของ SMEs รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและสภาวะเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพิ่มเติม ดังนี้ (1) การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่อง และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น (2) การสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการเพื่อนำสินค้าไปแสดงในต่างประเทศ (3) เร่งรัดการจัดทำมาตรฐานสินค้าให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม และ (4) ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ และสินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย

สำหรับแนวโน้มปี 2560 คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้นจาก ปี 2559 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ มาจากการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายโครงการของภาครัฐ ซึ่งจะสนับสนุนความเชื่อมั่นและทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนตาม รวมทั้งการทยอยปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก จะช่วยหนุนมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และผลักดันการส่งออกในภาพรวมให้สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2560

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 155.4 ลดลงจากเดือนกันยายน 2559 ร้อยละ 1.43 ที่ระดับ 157.7 ตามการหดตัวของเงินทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล และดัชนีส่วนกลับราคาน้ำมัน (โอมาน)

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 มีค่าเฉลี่ย 156.3 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 2.77 ที่ระดับ 152.1

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 128.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากเดือนกันยายน 2559 ร้อยละ 0.67 ที่ระดับ 128.8 ตามการหดตัวของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 มีค่าเฉลี่ย 128.3 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 1.46 ที่ระดับ 126.5

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 5) ในช่วง 10 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - ตุลาคม) มีค่าเฉลี่ย 116.77 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.15 จากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ค่าเฉลี่ย 113.20 ทั้งนี้เครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 คือ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าในกิจการขนาดใหญ่ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ การนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง

สำหรับแนวโน้มการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปี 2560 คาดว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2559 เนื่องจากการฟื้นของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออกที่คาดว่าน่าจะกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวซึ่งจะสนับสนุนอำนาจซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจประกอบกับค่าเงินบาทและสกุลอื่นในภูมิภาคมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการณ์ในปี 2560 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน จะขยายตัวร้อยละ 2.7 จากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของภาคครัวเรือน ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกและภาคการผลิต

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ ณ ราคาคงที่และการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ พบว่าการลงทุนภาคเอกชน ในช่วง 10 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - ตุลาคม) มีค่าเฉลี่ย 124.58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.31 จากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ค่าเฉลี่ย 124.20

หากพิจารณาปัจจัยการผลิตหลักแยกตามรายการสินค้า ในช่วง 10 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - ตุลาคม) พบว่าปัจจัยหลักที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ร้อยละ 5.38 และ 1.77 ส่วนปัจจัยหลักที่มีปริมาณลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ได้แก่การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ร้อยละ 2.02 และ 0.64 ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออก จากการกระตุ้นความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น ความคืบหน้าของการดำเนินโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ของภาครัฐ รวมทั้งการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและชัดเจนให้แก่นักลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามายังประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการณ์ในปี 2560 การลงทุนรวมจะขยายตัวร้อยละ 5.0 การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 2.8 และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 11.2

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม ปี 2559 ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนมีค่า 106.43 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ระดับ 106.37 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เนื้อสัตว์แปรรูป เป็ดไก่สำเร็จรูปและแปรรูป ไข่ ผักและผลไม้ ผักสด ผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร ผลิตภัณฑ์น้ำตาล เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อาหารสำเร็จรูป ยาสูบและเครื่องดืมมีแอลกอฮอล์ รวมทั้งกลุ่มอาหารสด

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2559 ดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนมีค่า 101.37 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ระดับ 102.87 เป็นผลมาจากการลดลงของราคาทุกหมวดผู้ผลิตทั้งผลผลิตเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำหรับแนวโน้มปี 2560 คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตมีจะปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2559 เนื่องจากปัจจัยสำคัญจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า และเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในปี 2559 (ตัวเลขล่าสุด ณ เดือนธันวาคมซึ่งเป็นตัวเลขประจำเดือนตุลาคม 2559) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 37.720 ล้านคนเป็นผู้ที่มีงานทำ 37.136 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.45 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.45 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 1.19)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2559 มีจำนวน 6.363 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.13 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

การค้าต่างประเทศในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของทั้งมูลค่าการนำเข้าและมูลค่าการส่งออก ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว โดยการนำเข้าตลอดทั้ง 10 เดือนมีมูลค่าลดลงในระดับที่มากกว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 18,177.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของปี 2559 ในเดือนมกราคม - ตุลาคม 2559 นั้น การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 338,323.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 178,250.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 160,073.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 1.03 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 5.94 ส่งผลให้ตลอดทั้ง 10 เดือนของปี 2559 ดุลการค้าเกินดุล 18,177.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสถานการณ์การส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมนั้นโดยรวมลดลง ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว

การส่งออกใน 10 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - ตุลาคม) พบว่ามูลค่าการส่งออกสูงสุดในเดือนกันยายน เท่ากับ 19,460.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.4 และมูลค่าการส่งออกต่ำสุดในเดือนเมษายน เท่ากับ 15,545.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8

การนำเข้าใน 10 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - ตุลาคม) พบว่ามูลค่าการนำเข้าสูงสุดในเดือนตุลาคม เท่ากับ 17,534.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.5 และ มูลค่าการนำเข้าต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ เท่ากับ 14,007.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.82

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกใน 10 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - ตุลาคม) ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 143,071.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 80.26) สินค้าเกษตรกรรม 15,628.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.80) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 14,173.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.95) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 5,321.6 (คิดเป็นร้อยละ 2.99)

เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าการส่งออกโดยรวมมีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.03 โดยหมวดสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.48 และสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.91 ส่วนหมวดสินค้าที่มีมูลค่าลดลงได้แก่ สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าลดลงร้อยละ 30.45 และสินค้าเกษตรมีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.89

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมใน 10 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - ตุลาคม) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 10 รายการหลัก ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 27,163 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.99), เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ 26,655.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.63), เครื่องใช้ไฟฟ้า 18,226 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 12.74), อัญมณีและเครื่องประดับ 12,376.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.65), เม็ดพลาสติก 6,294.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.40), เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง 5,721.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.0), ผลิตภัณฑ์ยาง 5,433.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.8), สิ่งทอ 5,359.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.75), เคมีภัณฑ์ 5,030.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.52), และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 4,333.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.03) โดยมูลค่าการส่งออกทั้ง 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 116,593.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 81.49 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด

ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักใน 10 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - ตุลาคม) ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 67.10 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลง มีประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.86 และมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.44 สำหรับการส่งออกไปยังประเทศจีนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.51 มูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.14 และมูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 1.06

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าใน 10 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - ตุลาคม) เป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 62,914.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 39.30) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน โดยมีมูลค่า 46,737.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 29.20), สินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่า 19,771.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 12.35), สินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 19,491.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 12.18), สินค้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งมีมูลค่า 10,855.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.78), และการนำเข้าสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่า 303.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(คิดเป็นร้อยละ 0.19)

โดยมูลค่าการนำเข้าตลอดทั้ง 10 เดือนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าในหมวดสำคัญส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 5.94 โดยหมวดสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.04, สินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 และสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.59 ส่วนสินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าลดลงร้อยละ 24.47, สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 4.63 และสินค้าทุนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 3.64

แหล่งนำเข้า

การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาใน 10 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - ตุลาคม) มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 50.44 เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่าการนำเข้าสินค้าจากแหล่งนำเข้าหลักทุกแหล่งมีมูลค่าลดลง โดยแหล่งนำเข้าที่มีมูลค่าลดลงมากที่สุดได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกามีมูลค่าลดลงร้อยละ 18.76 รองลงมาเป็นกลุ่มประเทศอาเซียนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.90, ญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 3.04 และสหภาพยุโรปมีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.42

แนวโน้มการส่งออก

สถานการณ์การส่งออกใน 10 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - ตุลาคม) พบว่าการส่งออกโดยรวมมีมูลค่าลดลง จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัวลง ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวลดลง ทั้งราคาสินค้าเกษตร และเชื้อเพลิง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการณ์ในปี 2560 ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลดาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและปริมาณสินค้าโลก รวมทั้งระดับราคาสินค้าในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นช้าๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกในปี 2560 เริ่มกลับมาขยายตัวหลังจากปรับตัวลดลง 3 ปีติดต่อกัน

การสนับสนุนและเร่งรัดการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัว โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการส่งออกของไทยปี 2560 โดยเฉพาะการขยายตลาดส่งออกเชิงรุก การตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มตลาดเป้าหมาย การส่งเสริมการค้าชายแดนเชื่อมโยงประเทศใน CLMV การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการด้วยการใช้นวัตกรรม และการติดตามและระมัดระวังมาตรการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของกระแสการต่อต้านการค้าที่ไม่เป็นธรรมในประเทศสำคัญ

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิ จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ใน 9 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - กันยายน) พบว่ามีมูลค่ารวม 46,557.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิ มีมูลค่า 72,213.8 ล้านบาท และ 79,003.2 ล้านบาท ตามลำดับ แต่ในไตรมาสที่ 3 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลออกมีมูลค่ามากกว่าลงทุนที่ไหลเข้ามาจากต่างประเทศ ส่งผลให้การลงทุนมีมูลค่ารวม -104,659.1 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือนช่วงที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิ มากที่สุดได้แก่ เดือนมิถุนายนมีมูลค่ารวม 26,697.62 ล้านบาท รองลงมาเดือนเมษายนมีมูลค่า 26,516.55 ล้านบาท และเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 25,789.01 ล้านบาท ส่วนช่วงที่เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลออกมีมูลค่ามากกว่าเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาจากต่างประเทศ ได้แก่ เดือนกันยายน มีมูลค่า -73,274.96 ล้านบาท รองลงมา คือ เดือนกรกฎาคมมีมูลค่า -31,178.12 ล้านบาท และเดือนสิงหาคมมีมูลค่า -205.99 ล้านบาท

หมายเหตุ

1. เป็นการลงทุนในภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารเท่านั้น

2. เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ = การลงทุนในทุนเรือนหุ้นบวกกับเงินกู้บริษัทในเครือในต่างประเทศ ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - กันยายน) การลงทุนในกิจกรรมการผลิตหรือสาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 189,165.5 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า มากที่สุดซึ่งมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 80,507.0 ล้านบาท รองลงมาคือการผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์มีมูลค่าลงทุนสุทธิ 56,466.3 ล้านบาท การผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วงมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 27,199.1 ล้านบาท และการผลิตอาหารมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 19,134.9 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในกิจกรรมรองลงมาคือเกษตรกรรม การป่าไม้และการประมงซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 55,729.0 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - กันยายน) คือประเทศฮ่องกงซึ่งมีเงินลงทุนสุทธิ 111,468.1 ล้านบาท รองลงมา คือประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 95,464.4 ล้านบาท และประเทศสหรัฐอเมริกามีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 19,803.8 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าใน 9 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - กันยายน) การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 1,302 โครงการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,769 โครงการ โดยในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2559 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 675,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 665,630 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 459 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 102,190 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ จำนวน 305 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 330,060 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 538 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 243,370 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 236,720 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตรมีเงินลงทุน 147,340 ล้านบาท และหมวดเคมีภัณฑ์ พลาสติกและกระดาษมีเงินลงทุน 140,240 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนใน 9 เดือนแรก ของปี 2559 (มกราคม - กันยายน) พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 228 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 72,220 ล้านบาท รองลงมา คือ ประเทศจีนได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 80 โครงการ มีเงินลงทุน 40,564 ล้านบาท เนเธอร์แลนด์มีจำนวน 26 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 22,433 ล้านบาท และประเทศออสเตรเลียมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 23 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 19,794 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ