สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 (อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 15:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlight
  • ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปี 2559 มีปริมาณการผลิต 7,728,338 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.98 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.02 เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.90 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.05
  • การจำหน่ายในประเทศ 19,074,108 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.86 โดยเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.82 และเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.91
  • การนำเข้า ปี 2559 ประมาณ 6,715.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.66 โดยเหล็ก ทรงแบน ลดลง ร้อยละ 11.76 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 15.99 เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 8.10 โดยเหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 8.30
การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าปี 2559 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.98 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปริมาณการผลิต 7,728,338 เมตริกตัน โดยเหล็กทรงยาว ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.02 (ส่วนหนึ่งที่การผลิตเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ทั้งที่สถานการณ์ของอุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงทรงตัว เนื่องจากเหตุผลทางด้านเทคนิค กล่าวคือ วิธีคำนวณการผลิตเหล็กทรงยาว ส่วนหนึ่งจะนำมาจากข้อมูลการนำเข้าวัตถุดิบของเหล็กทรงยาว (เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต) ซึ่งในช่วง 3-4 เดือน ที่ผ่านมามีการนำเข้าเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ตลดลงในช่วงนั้น) สำหรับเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.90 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.05 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.05 แต่เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 6.97

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2559 มีประมาณ 19,074,108 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.82 สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.91

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญใน ปี 2559 มีจำนวนประมาณ 807 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.25 เมื่อเทียบกับปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1,433.35 โดยผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1,776.55 รองลงมาคือ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.42

โดยท่อเหล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.99 เหล็กแผ่นเคลือบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.27 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.50 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.88 แต่เหล็กทรงยาว กลับมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 19.42 โดยเหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 33.81 เหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 24.93

การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2559 มีจำนวนประมาณ 6,715.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 3.66 เมื่อเทียบกับปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 11.76 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 15.99 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 10.21 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 8.10 โดยเหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 8.30 เหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 7.94

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1.กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศให้ใช้มาตรการชั่วคราวตอบโต้การทุ่มตลาดจากการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่มีความหนา 0.9 ถึง 100 มิลลิเมตร และความกว้าง 100 ถึง 3,200 มิลลิเมตร ภายใต้ HS Code 7208 และ 7211 รวม 126พิกัด ที่มีแหล่งกำเนิดจากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และสาธารณรัฐตุรกี ในอัตราร้อยละ 7.09 y 38.52 ของราคาซี.ไอ.เอฟ. เป็นระยะเวลา 4 เดือน หลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

2.กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศให้ใช้มาตรการชั่วคราวสินค้าหลอดและท่อทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ที่มีภาคตัดขวางเป็นวงกลมและไม่เป็นวงกลม ภายใต้ HS Code 7305 และ 7306 รวม 26 พิกัด ที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐเกาหลี ในอัตราร้อยละ 3.22 y 66.01 ของราคาซี.ไอ.เอฟ. และให้เรียกเก็บอากรชั่วคราวในอัตรา 0% ของราคาซี.ไอ.เอฟ. ในกรณีที่มีการนำเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออกภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กฎหมายส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายศุลกากร หรือกรณีการนำเข้าท่อ 3 ชนิด คือ 1) ท่อที่ใช้เป็นท่อส่งน้ำมันหรือก๊าซเฉพาะมาตรฐาน API 5L 2) ท่อผนัง บ่อ (เคสซิง) ชนิดที่ใช้ในการเจาะน้ำมันหรือก๊าซ ชนิดเชื่อมตะเข็บ เฉพาะมาตรฐาน API 5 CT สำหรับอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน 3) ท่อเหล็กบุโพลีเอทิลีน เป็นเวลาไม่เกิน 4 เดือน จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

สรุปและแนวโน้ม
สรุป

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2559 มีประมาณ 7,728,338 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กทรงยาว ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.02 เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.90 สำหรับการจำหน่ายในประเทศประมาณ 19,074,108 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.86 โดยเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.82 เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.91 สำหรับมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.25 มูลค่าการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 3.66

แนวโน้ม

คาดการณ์การบริโภคเหล็กของไทยในปี 2560 ประมาณ 17.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.1-2.8 โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเหล็กทรงแบน จะมีการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ สำหรับเหล็กทรงยาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของโครงการก่อสร้างภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ พบว่า ในปี 2560 กระทรวงคมนาคมมีแผนลงทุนด้านขนส่ง โดยขยายการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 36 โครงการ โดยเป็นโครงการต่อขยายเฟสแรก โดยโครงการที่พร้อมขออนุมัติ ครม. เช่น รถไฟทางคู่ปากน้ำโพ-เด่นชัย, จิระ-อุบลราชธานี, ขอนแก่นหนองคาย, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, เด่นชัย-เชียงใหม่, เด่นชัย-เชียงของ และบ้านไผ่-นครพนม ซึ่งจะมีผลทำให้เหล็กทรงยาว ขยายตัวเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ