สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 (อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 15:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlight
  • ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 110.75 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.46 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.55 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.71 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเครื่องปรับอากาศสามารถขยายตัวได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี และเครื่องซักผ้ามีการขยายตัวอย่างมากในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีการขยายกำลังการผลิต โดยเริ่มผลิตและส่งออกตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 มีมูลค่า 53,375 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวลดลงเกือบทั้งหมด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • ในปี 2560 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่ามีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการฟื้นตัวของตลาดในประเทศและการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น
การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 110.75 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.46 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.55 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ Monolithic IC และ Other IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.58 และ 5.35 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนใน Smart phone จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นมาก โดยการจำหน่ายSmart phone ในตลาดโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 1.46 1พันล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน อีกทั้งการจำหน่าย Tablet จะถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ แบบ 2-in-1 ซึ่งจะขยายตัวตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 73 โดยคาดว่ายอดการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจาก 16.6 ล้านเครื่องในปี 2558 เป็น 63.8 ล้านเครื่องในปี 2563

นอกจากนี้ จากการรายงาน Semiconductor Industry Association 2(SIA) ของสหรัฐอเมริกาได้มีการคาดการณ์ Semiconductor ในตลาดโลกใหม่ลดลงกว่าเดิมมาอยู่ที่ 335 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากภูมิภาคสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 4.9 และ 6.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่ญี่ปุ่น และเอเชียแปซิฟิก ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.2 และ 2.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับอุตสาหกรรม HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.90 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 1/2559 เนื่องจากความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการ HDD ปรับตัวลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลงด้วย สำหรับการผลิต HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นสำหรับนำไปใช้ใน Cloud Storage ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่, External HDD มากขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตจะไม่มากเท่าเดิม แต่ราคาต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม HDD ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสี่ากการส่งออกไปตลาดหลักเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี

อุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.17 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต พัดลม ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ และหม้อหุงข้าวจากการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ในส่วนของเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ทำให้การผลิตลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2558

การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ

ภาวะการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในปี 2559 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าส่วนใหญ่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ พัดลม ตู้เย็น และหม้อหุงข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.94, 12.94, 2.84, 12.77, 5.44 และ 11.60 เมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน และสายไฟ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.27, 26.11, 12.01 และ 11.60 เมื่อเทียบกับ ปีก่อน

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 53,375 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทุกตลาดปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับปีก่อน ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความต้องการ IC และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ตามลำดับ

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 22,571 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยตลาดสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น ส่วนการส่งออกไปอาเซียน และสหรัฐอเมริกา ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญที่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน คือ เครื่องรับโทรทัศน์สี เนื่องจากการส่งออกตลาดหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน ลดลงถึงร้อยละ 51.95, 43.28 และ 22.86 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล/กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอ ส่วนหนึ่งมาจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้มีสินค้าอื่นทดแทน เช่น สมาร์ทโฟน และแท็บเลต เป็นต้น ส่งผลให้ความต้องการกล้องดิจิตอลในตลาดหลักปรับตัวลดลงทั้งหมด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน คือ เครื่องปรับอากาศ จากการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะจีนส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40.29 เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาคือ ตู้เย็น ที่มีการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาดเช่นกัน

การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 30,804 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวลดลงเกือบทั้งหมด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อน ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสหรัฐอเมริกา มีความต้องการ IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.26 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญที่มีการปรับตัวลดลง คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ จากการส่งอออกไปตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับปีก่อน ยกเว้นอาเซียนที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และวงจรรวมไมโครแอสแซมบลี (IC) มีการปรับตัวลดลงจากการส่งออกไป อาเซียน จีนและญี่ปุ่นลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

การนำเข้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 43,973 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าหลักที่ปรับตัวลดลง คือ อาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ยกเว้นการนำเข้าจากสหภาพยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 17,936 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน แหล่งนำเข้าหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ยกเว้นการนำเข้าจากอาเซียนและญี่ปุ่นปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้านำเข้าหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุมมีการนำเข้าจากอาเซียน และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ สายไฟ ชุดสายไฟ มีการนำเข้าจากจีนและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น

การนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 26,047 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าหลักที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน คือ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับสินค้าหลักที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน คือ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี ที่มีการนำเข้าจากสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่นลดลง รองลงมาคือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่มีการนำเข้าจากตลาดหลักลดลงเกือบทั้งหมด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับปีก่อน

สรุปและแนวโน้ม
สรุป

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.46 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.55 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ Monolithic IC และ Other IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.58 และ 5.35 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนใน Smart phone และ Tablet ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นมาก

สำหรับการผลิต HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นสำหรับนำไปใช้ใน Cloud Storage ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่, External HDD มากขึ้น ทำให้ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.90 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 1/2559 เนื่องจากความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการ HDD ปรับตัวลดลง

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.71 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเครื่องปรับอากาศสามารถขยายตัวได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี และเครื่องซักผ้ามีการขยายตัวอย่างมากในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีการขยายกำลังการผลิต โดยเริ่มผลิตและส่งออกตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

แนวโน้ม

ในปี 2560 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่ามีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการฟื้นตัวของตลาดในประเทศและการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น

จากการรายงาน Semiconductor Industry Association 3(SIA) ของสหรัฐอเมริกาได้มีการคาดการณ์ Semiconductor ในตลาดโลกใหม่ลดลงกว่าเดิมมาอยู่ที่ 335 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากภูมิภาคสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 4.9 และ 6.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่ญี่ปุ่น และเอเชียแปซิฟิก ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.2 และ 2.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Sensors และ Discrete Semiconductors มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ