อุตสาหกรรมพลาสติกในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2559 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916 - 3926) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.73 และ 2.70 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของเมือง (Urbanization) ของประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีผลต่อราคาเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนปริมาณและมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916 - 3926) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.80 และ 1.32 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามประเภทผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัจจัยการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ได้แก่ ใยยาวเดี่ยว เครื่องประกอบอาคาร เครื่องใช้ในครัวเรือน รวมถึงแผ่นฟิล์มชนิดต่างๆ
การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2559 ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 928,683.09 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.73 หรือคิดเป็นมูลค่า 3,139.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องประกอบอาคาร (3925) แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3921) เครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) และแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.85 10.05 7.02 และ 5.46 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 1) โดยภาพรวมช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2559 ประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก 5 ลำดับแรกไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย คิดเป็นร้อยละ 18.16 10.49 5.90 5.89 และ 5.72 ตามลำดับ
การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2559 ปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 574,551.14 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.80 หรือคิดเป็นมูลค่า 3,368.403 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเกือบทุกผลิตภัณฑ์มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ยกเว้น เครื่องสุขภัณฑ์ (3922) โดยสินค้าที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นที่สำคัญ ได้แก่ ใยยาวเดี่ยว (3916) แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ชนิดยึดติดในตัว (3919) แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) เครื่องประกอบอาคาร (3925) และเครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.58 18.78 18.11 17.93 และ 16.43 ตามลำดับ (ตารางที่ 2) โดยภาพรวมช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2559 ประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก 5 ลำดับแรกไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 30.76 24.13 6.96 5.70 และ 5.47 ตามลำดับ
ภาครัฐมีนโยบายการบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาคบังคับกับผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสอาหาร คาดว่าจะทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและการบริโภคพลาสติกภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ (Super Cluster) และนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมรูปแบบอื่นๆ เช่น New S-Curve, Spring Board ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์
สรุปภาวะเศรษฐกิจปี 2559 ผลิตภัณฑ์พลาสติกคาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 1,123,285 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.15 หรือคิดเป็นมูลค่า 3,810.804 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่คาดว่ามีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องประกอบอาคาร (3925) แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3921) เครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) และแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.72 9.07 8.41 และ 7.64 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าคาดว่ามีปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 694,017.09 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.60 หรือคิดเป็นมูลค่า 4,099.769 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่คาดว่ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ใยยาวเดี่ยว (3916) แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ชนิดยึดติดในตัว (3919) เครื่องประกอบอาคาร (3925) และเครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.83 20.15 18.45 18.16 และ16.85 ตามลำดับ
แนวโน้มปี 2560 อุตสาหกรรมกรรมพลาสติกคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่ามีมูลค่าการส่งออกรวม 3,917.480 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.80 หรือคาดว่ามีปริมาณการส่งออกรวม 1,161,610.31 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.41เมื่อเทียบกับปี 2559
ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมโครงการใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โดยคาดว่ามีมูลค่าการนำเข้ารวม 4,135.785 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.88 หรือคาดว่ามีปริมาณการนำเข้ารวม 716,507.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.24 เมื่อเทียบกับปี 2559
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--