อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งมีฐานตัวเลขค่อนข้างต่ำ โดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศของทั้งปูนเม็ดและปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นจากนโยบายเร่งลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนักทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนลงความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจึงไม่ขยายตัวเท่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี สำหรับการส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากเมียนมานำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยลดลงค่อนข้างมาก
การผลิตปูนซีเมนต์ปี 2559 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 42.52 ล้านตัน และปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ 42.88 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน การผลิตปูนเม็ดและปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.58 และร้อยละ 15.20 ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวจากปีก่อน ถึงแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจในประเทศจะอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปีโดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเนื่องจากฐานตัวเลขของปี 2558 ค่อนข้างต่ำ
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศปี2559คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายรวม 36.77 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.45 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ 36.32 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 13.76จากการที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีนโยบายเร่งลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการทำให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ส่งสัญญานว่าจะมีการฟื้นตัวที่ดีในช่วงครึ่งปีหลังไม่เป็นไปตามที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ ภาคเอกชนจึงชะลอการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆ ลง ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภาพรวมปีนี้เติบโตได้ดีเฉพาะในระยะครึ่งปีแรกเท่านั้น
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกปูนซีเมนต์ปี 2559คาดว่าจะมีมูลค่ารวม 612.11ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกรวมหดตัวลงร้อยละ 8.50โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ดมูลค่า 181.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.10ในส่วนของปูนซีเมนต์มีมูลค่าการส่งออก 431.04ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ลดลงร้อยละ 15.98ในภาพรวมการส่งออกปูนซีเมนต์ของไทยปรับตัวลดลง เนื่องจากเมียนมาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยยังคงเป็นเมียนมา ตามด้วย กัมพูชา บังคลาเทศ ลาว และเวียดนาม ตามลำดับ
การนำเข้าปูนซีเมนต์ในปี 2559คาดว่าจะมีมูลค่า 6.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.37 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้าปูนเม็ด 0.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ 6.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการนำเข้าปูนเม็ดทรงตัวที่ระดับเดิม ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.41โดยส่วนมากเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์เพื่อการทดสอบ
ราคาปูนซีเมนต์ในปี 2559จะทรงตัวจากช่วงปลายปี 2558เนื่องจากมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์สูงกว่าความต้องการใช้ในประเทศอย่างต่อเนื่องสินค้าไม่มีความแตกต่างกันมากนักทำให้มีการแข่งขันด้านราคาและบริการสูง ประกอบกับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก บริษัทผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายจึงไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ และยังต้องมีการวางแผนการส่งออกที่ดีเพื่อไม่ให้มีสินค้าคงค้างในสต็อกมากจนเกินไปอีกด้วย
รัฐบาลมีนโยบายเร่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งในส่วนของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายพัทยา-มาบตาพุด สายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และช่วงฉะเชิงเทราคลอง 19-แก่งคอย โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงและแม่สอด รวมถึงโครงการสุวรรณภูมิ เฟส 2
สรุปและแนวโน้ม
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2559เมื่อเทียบกับปีก่อน ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีเนื่องจากฐานตัวเลขปี 2558 ค่อนข้างต่ำ โดยมีอัตราการเติบโตที่ดีในช่วงครึ่งปีแรกที่รัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และมีอัตราการเติบโตที่ต่ำลงในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนลง
ในส่วนของการส่งออกมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเมียนมาปรับลดปริมาณการนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยลงค่อนข้างมากตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกปูนซีเมนต์ที่สำคัญที่สุดของไทยในปีนี้ยังคงเป็นเมียนมา สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยส่วนมากเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์เพื่อการทดสอบ
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2560 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวโดยเฉพาะในส่วนของนโยบายเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้มีความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น
สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยหลายแห่งยังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยในปริมาณมาก และในระยะหลังไทยเริ่มมีตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้นซึ่งถึงแม้ว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศในปี 2560 ก็จะไม่กระทบต่อปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ เนื่องจากไทยมีกำลังการผลิตที่เกินความต้องการใช้ในประเทศมากอยู่แล้ว
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--