สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 (อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 16:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนการผลิตกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์และเส้นด้ายเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ภายในประเทศที่ขยายตัวสูงขึ้น สำหรับการผลิตผ้าผืนลดลง เนื่องจากยังมีสินค้าสะสมค่อนข้างมากจากการนำเข้าตั้งแต่ช่วงกลางปี เนื่องจากราคานำเข้าถูกกว่าการผลิตในประเทศ ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงทั้งเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอแม้ว่าความต้องการใช้เสื้อผ้าสีดำภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

การผลิต

กลุ่มสิ่งทอ ปี 2559 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม คาดว่า การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ และการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คาดว่า จะมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.47 และ 2.06 ตามลำดับ จากความต้องการใช้ภายในประเทศที่ขยายตัวสูงขึ้น ในส่วนการผลิตผ้าผืนลดลง ร้อยละ 10.22 เนื่องจากยังมีสินค้าสะสมค่อนข้างมากจากการนำเข้าในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย

กลุ่มเครื่องนุ่งห่มปี 2559เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม คาดว่า การผลิตผ้าและสิ่งของที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์(เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถัก) และการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์(เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ) ลดลง ร้อยละ 4.73และ 18.70เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนแม้ว่าความต้องการใช้เสื้อผ้าสีดำเพื่อไว้อาลัยของประชาชนทุกภาคส่วนจะเพิ่มขึ้นก็ตามโดยส่วนใหญ่จะนำสินค้าในสต๊อกออกมาจำหน่าย และบางส่วนมีการนำเสื้อผ้าเก่ามาย้อมใหม่ ประกอบกับมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา และบังคลาเทศมากขึ้น เนื่องจากราคาไม่สูงมากนัก เพื่อตอบสนองวิกฤตความต้องการที่เร่งด่วน ส่งผลให้การผลิตภายในประเทศยังหดตัว

การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ
การส่งสินค้า

กลุ่มสิ่งทอ ปี 2559 เมื่อพิจารณาจากดัชนีการส่งสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คาดว่า ดัชนีการส่งสินค้าเส้นใยสิ่งทอฯ และการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ11.95 และ 6.79 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นในประเทศ แต่ในผลิตภัณฑ์การทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) มีการส่งสินค้าลดลง ร้อยละ 1.26 สอดคล้องกับการผลิตที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากตลาดเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าหลักผ้าผืนและด้ายจากไทย

กลุ่มเครื่องนุ่งห่มปี 2559เมื่อพิจารณาจากดัชนีการส่งสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คาดว่า ดัชนีการส่งสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักลดลง ร้อยละ 4.71 ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของ คู่ค้า อย่างไรก็ตาม การส่งสินค้าเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.42 เป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้เสื้อผ้าสีดำเพื่อไว้อาลัยของประชาชนทุกภาคส่วนซึ่งในหลายองค์กรยังไว้อาลัยต่อเนื่อง

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปี 2559คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 6,434.31ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.91เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน(ตารางที่ 3) เป็นผลจากการส่งออกลดลงในกลุ่มสิ่งทอ ร้อยละ 3.90และกลุ่มเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 9.09โดยลดลงในตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อาเซียน และสหภาพยุโรป สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญได้แก่

1. กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 4,026.39ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.90เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนในผลิตภัณฑ์ผ้าผืนและด้าย ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าปักและผ้าลูกไม้ผ้าคลุมไหล่และผ้าพันคอ และสิ่งทออื่น ๆ จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ผู้นำเข้าลดการนำเข้า โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.58 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1) ผ้าผืนและด้ายคาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก2,035.28ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.24เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนส่วนหนึ่งเป็นผลจากเวียดนามและจีน ลดการนำเข้า เนื่องจากเวียดนามมีการพัฒนาการผลิตในส่วนอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น ปั่นด้าย เพิ่มขึ้น จากการเข้าไปลงทุนของจีน และไต้หวัน ในส่วนของผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 1,295.65ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.34 สำหรับด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก739.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.07ซึ่งมูลค่าการส่งออกผ้าผืนและด้ายคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.55ของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสิ่งทอโดยมีประเทศเวียดนาม จีน เมียนมา ญี่ปุ่นและบังคลาเทศเป็นตลาดส่งออกสำคัญ

2) เคหะสิ่งทอ คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก259.04ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ4.71เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากมีการส่งออกลดลงในตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และเมียนมาโดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย และอินเดีย

3) เส้นใยประดิษฐ์คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก693.00ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.45เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนโดยส่วนใหญ่เส้นใยประดิษฐ์ที่ผลิตได้จะใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องภายในประเทศอาทิ เคหะสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่งผลให้การส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลัก เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ลดลง โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน ตุรกี และเวียดนาม

4)สิ่งทออื่นๆคาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 663.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนโดยตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซียจีน เวียดนามและอินเดีย

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 2,407.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 9.09เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนโดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 37.42ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ

1) เสื้อผ้าสำเร็จรูปคาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 2,095.42ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.54เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย ใยประดิษฐ์ไหม ขนสัตว์ และเสื้อผ้าเด็กอ่อนตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและจากการถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เมื่อปีที่ผ่านมา ประกอบกับผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปบางส่วนได้ขยายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น

2) เครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบ คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 202.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 12.62เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาด คู่ค้าสำคัญ ได้แก่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ผรั่งเศส และสหราชอาณาจักร

การนำเข้า

ปี 2559คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มประมาณ 4,452.67ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.12 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (ตารางที่ 4) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 81.00จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มสิ่งทอคาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) ประมาณ 3,617.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 2.70 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นด้ายและผ้าผืน โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 81.24 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1)เส้นใยที่ใช้ในการทอ คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้า 626.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ15.40 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาออสเตรเลียบราซิล และจีน

2)ด้ายทอผ้าและเส้นด้ายคาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้า 700.05ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.40 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนซึ่งส่วนที่นำเข้าจะมีราคาถูกกว่าที่ผลิตได้ในประเทศโดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม และอินโดนีเซีย

3)ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ คาดว่าจะมีมูลค่าการนำเข้า 437.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ1.34 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนโดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีนญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกาไต้หวัน และสิงคโปร์

4)ผ้าผืน คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้า 1,659.54ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.13 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเนื่องจากความต้องการใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่น ๆ เพิ่มขึ้นโดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีนไต้หวัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า เสื้อผ้าสำเร็จรูปจะมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 835.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.48 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา บังคลาเทศและอิตาลี โดยสัดส่วนการนำเข้าในกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 18.76 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

  • คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบ คลัสเตอร์ ของ BOI ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในหลาย ๆ คลัสเตอร์ที่จะได้รับสิทธิพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการลงทุน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคและดำเนินการ ดังนี้

1) การส่งเสริมฟอกย้อมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ สกท. ได้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ส.1/2559ลงวันที่ 11เมษายน 2559 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน ตามประกาศคณะกรรมการฯ ที่ 2/2557 ให้การส่งเสริมกิจการฟอกย้อมฯ ในทิศทางเดียวกับ อก. โดยให้สิทธิและประโยชน์ตามกลุ่ม A3 (กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศโดยมีฐานการผลิตอยู่บ้างเล็กน้อย)

2) การส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจแฟชั่น และส่งเสริมสถาบันแฟชั่นระดับโลกมาตั้งสาขาและเปิดสอนระดับปริญญาในไทยอก. โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินการจัดตั้ง Thailand Industry Design Center : TIDC เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาการออกแบบและเผยแพร่ความรู้ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงานด้านการออกแบบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่นตลอด Supply Chain และได้ริเริ่มจัดกิจกรรมประชุมนานาชาติด้านการออกแบบแฟชั่น International Fashion Co-Design โดยเชิญ นักออกแบบแฟชั่นจากสถาบันชื่อดังในต่างประเทศ และนักออกแบบอิสระจากมาเลเซียและไทย ตลอดจนผู้ผลิต ผู้ค้าปลีกค้าส่งสินค้าแฟชั่น มาร่วมให้แนวทางการพัฒนาแบรนด์ไทยไปสู่ตลาดโลก

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

กลุ่มสิ่งทอการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ และการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอปี 2559เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.47 และ2.06 ตามลำดับ ส่งผลให้การส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.95 และ6.79 ตามลำดับโดยมีสาเหตุมาจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายใน อาทิ เคหะสิ่งทอ และผ้าผืน ขยายตัว

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถัก และเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ ลดลง ร้อยละ 4.73 และ 18.70 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนในส่วนการส่งสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักลดลง ร้อยละ 4.71ตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้ายังชะลอตัวแต่เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.42 ซึ่งเป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคเสื้อผ้าชุดดำ เพื่อสวมใส่ถวายความอาลัยของพสกนิกรทั่วประเทศ ซึ่งในหลายองค์กรยังไว้อาลัยต่อเนื่อง และหลายโรงงานต้องเร่งการผลิต เพื่อให้ทันตามความต้องการของลูกค้า สำหรับการส่งออกปรับตัวลดลงในประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียนตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในตลาดคู่ค้าหลัก และการขยายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศอาเซียนของผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูป

แนวโน้ม

ภาพรวมการผลิต การจำหน่ายในประเทศของกลุ่มเส้นใยสิ่งทอปี 2560 คาดว่า จะขยายตัวได้จากความต้องการของตลาดในอาเซียนยังมีความต้องการนำเข้าจากไทย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำสำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะเสื้อผ้าชุดดำ ยังมีความต้องการของผู้บริโภคในประเทศเกือบทุกภาคส่วน ซึ่งในหลายองค์กรยังไว้อาลัยต่อเนื่อง และหลายโรงงานต้องเร่งการผลิต เพื่อให้ทันตามความต้องการของลูกค้า ในส่วนภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะขยายตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจภายในตลาดคู่ค้าหลัก ๆ ยังชะลอตัวต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ