สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 (อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 16:25 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตยาในปี 2559คาดว่าจะหดตัวลงเล็กน้อยโดยเป็นการลดลงของยาเม็ด ยาฉีด ยาแคปซูล และยาผง ในขณะที่การจำหน่ายยาในประเทศคาดว่าจะขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวของตลาด โดยเฉพาะในส่วนของยาน้ำซึ่งเป็นยาชนิดที่มีปริมาณการผลิตมากที่สุด สำหรับการส่งออกยาคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะในตลาดเวียดนามซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้ายาจากไทยสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนในปีนี้

การผลิต

การผลิตยาในปี 2559คาดว่าจะมีปริมาณ 37,251.78ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.38โดยเฉพาะในส่วนของยาเม็ด ยาฉีด และยาผง ซึ่งการผลิตยาเม็ดและยาฉีดลดลงเนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่บางรายย้ายสถานที่ตั้งโรงงานจึงต้องหยุดเดินเครื่องจักรไประยะหนึ่ง แต่ก็สามารถกลับมาผลิตยาได้บางชนิดในช่วงไตรมาสที่ 2 ทำให้ปริมาณการผลิตในภาพรวมลดลงไม่มากนักสำหรับการผลิตยาผงลดลงเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่บางรายหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตและรอระบายสต็อกก่อนที่จะผลิตสินค้าล็อตใหม่

การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในประเทศปี 2559คาดว่าจะมีปริมาณ 38,461.94ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 11.14โดยเฉพาะในส่วนของยาน้ำเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายมียาน้ำชนิดใหม่ออกสู่ตลาดทดแทนยาน้ำชนิดเดิมที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจำกัดปริมาณการจำหน่าย ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดี และผู้ประกอบการบางรายมียอดสั่งซื้อยาน้ำบางชนิดซึ่งเป็นสินค้าที่มีผลิตอยู่เดิมเพิ่มขึ้นมาก

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

การส่งออกยาในปี 2559คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 326.28ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 6.01เนื่องจากประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน (ยกเว้นบรูไน) ซึ่งเป็นตลาดหลักในสินค้ายาของไทยและครองสัดส่วนในตลาดส่งออกของไทยถึงร้อยละ75 มียอดการสั่งซื้อในภาพรวมเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกของไทย คือ เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และลาว ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกนอกอาเซียนที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น และฮ่องกง โดยระยะหลังญี่ปุ่นเริ่มมีปัญหาการขาดทุนในระบบประกันสุขภาพที่รุนแรง จึงหันมาส่งเสริมการใช้ยาชื่อสามัญแทนยาต้นแบบมากขึ้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านยาของภาครัฐ โดยเข้ามาตั้งโรงงานผลิตยาชื่อสามัญในไทยและส่งกลับไปจำหน่ายยังประเทศของตน ในส่วนของฮ่องกงจำเป็นต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตยาของฮ่องกงมีขนาดเล็กมาก ประกอบกับฮ่องกงมีความเชื่อมั่นในสินค้ายาของไทยว่ามีคุณภาพดีและราคาสมเหตุผล จึงมีการนำเข้าสินค้ายาจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การนำเข้า

การนำเข้ายาในปี 2559คาดว่าจะมีมูลค่า 1,525.10ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.68เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายสวัสดิการข้าราชการที่เข้มงวด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ทำให้มีการบริโภคยานำเข้าราคาแพงลดลง ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศของไทยในแต่ละปีค่อนข้างสูง เนื่องจากยาหลายชนิดที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ยังไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และยาบางชนิดถึงแม้ไทยจะสามารถผลิตได้เองในประเทศ แต่ก็มีต้นทุนการผลิตที่สูงมาก จึงมีการนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรกในปีนี้ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี และสหราชอาณาจักร ตามลำดับมีมูลค่าการนำเข้ารวมกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศทั้งหมดของไทย

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาปรับระดับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตยา จาก B1 (ยกเว้นอากรเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์อื่นที่มิใช่ภาษี) เป็น A3 (ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี) สำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป และA2 (ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี) สำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2560โดยการปรับระดับส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวเป็นผลการดำเนินงานภายใต้คลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจรของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อช่วยลดภาระในการลงทุนปรับปรุงโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP PIC/Sซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถลงทุนในการวิจัยและพัฒนายาใหม่ได้มากขึ้น

2. กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ตามนโยบายแห่งชาติด้านยาและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564โดยมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศ คือ โครงการบูรณาการมาตรการเพื่อการเข้าถึงยา ควบคุมค่าใช้จ่าย สร้างเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านยา ซึ่งมีแผนการดำเนินงานสรุปได้ ดังนี้

1)จัดทำแผนพัฒนาสู่ตลาดของบัญชียามุ่งเป้า

2)พัฒนากลไกด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้เอื้อต่อการเข้าถึงและผลิตยา

3)กำหนดช่องทางพิเศษสำหรับรับขึ้นทะเบียนตำรับยาในบัญชียามุ่งเป้า

4)ส่งเสริมการผลิต การตลาดและการวิจัยพัฒนายาในประเทศเช่น การจัดทำโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำควบคู่ไปกับการประกันการจัดซื้อยาของภาครัฐในปริมาณที่มากพอให้ผู้ลงทุนดำเนินกิจการได้ในราคาที่เหมาะสมฯลฯ

5)ปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตยาในประเทศ ปี 2559คาดว่าจะมีปริมาณลดลงจากปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตบางรายย้ายสถานที่ตั้งโรงงานจึงต้องหยุดเดินเครื่องจักรไประยะหนึ่ง และผู้ผลิตบางรายหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงระบบการผลิต ในขณะที่การจำหน่ายยาในประเทศคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายมียาน้ำชนิดใหม่ออกสู่ตลาดทดแทนยาน้ำชนิดเดิมที่ถูกจำกัดปริมาณการจำหน่าย ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดี และผู้ประกอบการบางรายมียอดสั่งซื้อยาน้ำบางชนิดซึ่งเป็นสินค้าที่มีผลิตอยู่เดิมเพิ่มขึ้นมาก

การส่งออกยา ปี 2559คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในอาเซียนสั่งซื้อยาจากไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเวียดนามที่คาดว่าจะมีมูลค่าการนำเข้ายาจากไทยมากถึง 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศปี 2560คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่บางรายน่าจะสามารถกลับมาผลิตยาได้เต็มกำลังการผลิต หลังจากที่ย้ายสถานที่ ตั้งโรงงานเมื่อปีที่ผ่านมาทำให้ต้องรอขออนุญาตผลิตยาแต่ละชนิดใหม่ทั้งหมด

สำหรับมูลค่าการส่งออกยาปี 2560คาดว่าจะขยายตัวได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาของไทยเป็นไปตามมาตรฐาน GMP PIC/S ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ ในส่วนของการนำเข้ายา ปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีความต้องการใช้ยาเฉพาะทางซึ่งยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศในปริมาณมาก

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ