สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 (อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 16:27 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยปี 2559ในภาพรวมหดตัวลง โดยเฉพาะในส่วนของยางนอกและยางในรถบรรทุกและรถโดยสารเนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตยางล้อมีความก้าวหน้ามากขึ้นทำให้มีการผลิตยางล้อชนิดที่ไม่ใช้ยางในซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่าเพิ่มขึ้น ในขณะที่การจำหน่ายยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศมีการขยายตัวที่ดีในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในส่วนของยางหล่อดอกและถุงมือยาง สำหรับการส่งออกยางพารารวมถึงผลิตภัณฑ์ยางโดยเฉพาะในส่วนของยางคอมพาวด์หดตัวตามการซื้อที่ลดลงของจีน

การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นปี2559คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 0.67เมื่อเทียบกับปีก่อนสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญทั้งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ(ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ยางในรถบรรทุก/รถโดยสารและยางหล่อดอก)และถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในส่วนของยางนอกและยางในรถบรรทุกและรถโดยสาร ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่าจะลดลงร้อยละ 2.38และ19.26 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ทำให้ผู้บริโภคหันไปหล่อดอกยางมากกว่าที่จะซื้อยางใหม่ซึ่งมีราคาสูง สอดคล้องกับตัวเลขการผลิตยางหล่อดอกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.81 ประกอบกับเทคโนโลยีการผลิตยางล้อมีความก้าวหน้ามากขึ้นทำให้ปัจจุบันมีการผลิตยางล้อชนิดที่ไม่ใช้ยางในซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่าเพิ่มขึ้นปริมาณการผลิตยางในรถบรรทุกและรถโดยสารจึงหดตัวลงค่อนข้างมาก

การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 16.01เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญในประเทศทั้งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ(ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ยางในรถบรรทุกและรถโดยสาร และยางหล่อดอก) และถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ดีเกือบทุกผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะในส่วนของยางหล่อดอกเนื่องจากผู้บริโภคนิยมนำยางเก่ามาหล่อดอก/ซื้อยางหล่อดอกซึ่งมีราคาถูกกว่ามากขึ้นและถุงมือยาง/ถุงมือตรวจขยายตัวตามความจำเป็นทางการแพทย์และกระแสความตื่นตัวด้านสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคเอง

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย (ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ)ในปี2559คาดว่าจะมีมูลค่ารวม4,165.23ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 17.62เนื่องจากตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะจีนสั่งซื้อยางพาราจากไทยลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยในปีนี้ยังคงเป็นจีน ตามด้วยมาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง(ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ)ในปี 2559คาดว่าจะมีมูลค่ารวม6,503.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.07โดยเฉพาะในส่วนของยางคอมพาวด์คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกลดลงจากปีก่อน389.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือปรับลดลงร้อยละ54.78ซึ่งเป็นผลมาจากการที่จีนปรับปรุงมาตรฐานการผลิตยางคอมพาวด์ใหม่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมาทำให้ภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยหดตัวลงอย่างมาก จาก 8,006.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2557 เหลือ 6,851.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558 และคาดว่าจะลดลงอีกอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งนอกจากยางคอมพาวด์แล้ว การส่งออกถุงมือยางก็มีแนวโน้มจะลดลงเช่นกัน เนื่องจากไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่ามาเลเซียค่อนข้างมาก ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

การนำเข้า

การนำเข้ายางและเศษยางในปี 2559คาดว่าจะมีมูลค่ารวม900.41ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.34 ในขณะที่ในส่วนของการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ (ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ)คาดว่าจะมีมูลค่ารวม1,140.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.49โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญที่สุดของไทยในปีนี้ คือ ญี่ปุ่น รองลงมา คือ จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน ตามลำดับ

ราคาสินค้า

ราคาเฉลี่ยของยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 50.67 บาทต่อกิโลกรัม และ 52.87 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีราคาเฉลี่ยที่ 49 บาทต่อกิโลกรัม และ 51.44 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยเริ่มมีความต้องการใช้ยางมากขึ้น ประกอบกับฝนที่ตกหนักจนก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงกลางปี ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมาตรการยกระดับเกษตรกรชาวสวนยางและส่งเสริมการพัฒนายางต้นน้ำผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ หลายโครงการตลอดปี 2559 เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โครงการมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางฯลฯ

2. โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างดำเนินออกแบบการใช้พื้นที่ สนามทดสอบ R117 และอาคารสำนักงาน/ห้องทดสอบ ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาสแรกของปี 2560 และจะก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อ R117 แล้วเสร็จในปี 2560 พร้อมเปิดใช้บริการในต้นปี 2561 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยรวมถึงดึงดูดนักลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วน ยานยนต์ และยางล้อ จากนานาประเทศทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมของการผลิตในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในปี 2559 คาดว่าจะหดตัวลงเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังชะลอตัว และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตของผลิตภัณฑ์ยางล้อซึ่งทำให้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางบางชนิดลดลง ในขณะที่การจำหน่ายยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีโดยเฉพาะในส่วนของยางหล่อดอก เนื่องจากผู้บริโภคนิยมนำยางเก่ามาหล่อดอกหรือซื้อยางหล่อดอกซึ่งมีราคาถูกกว่ามากขึ้น

การส่งออกยางพาราคาดว่าจะหดตัวลง เนื่องจากตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะจีนสั่งซื้อยางพาราจากไทยลดลงค่อนข้างมากสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางคาดว่าจะปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยเป็นการหดตัวของถุงมือยางเนื่องจากไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับมาเลเซียได้ และยางคอมพาวด์ เนื่องจากการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตยางคอมพาวด์ของจีนเมื่อช่วงกลางปี 2558 ที่ผ่านมา

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในปี 2560 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากสต็อกยางที่ลดลงมากของจีนจะทำให้จีนต้องนำเข้ายางพาราจากไทยมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และในส่วนของผลิตภัณฑ์กลุ่มยางล้อคาดว่าจะขยายตัวได้ตามแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ