สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 (อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 16:37 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.58 ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลายประเทศที่คาดการณ์ว่าจะเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องประดับเทียม เพื่อเป็นสินค้าทางเลือกในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือในช่วงที่ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม คาดว่า จะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.39 เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่าสูงถึง 7,036.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 84.83 เมื่อเปรียบเทียบกับ ปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีก่อน ทำให้มีการสั่งซื้อเพื่อเก็งกำไรและถือครองไว้ และหากไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่า จะขยับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.56โดยยังมีสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ

การผลิต

จากการพิจารณาตัวเลขประมาณการภาพรวม ปี 2559 คาดว่า การผลิตเครื่องเพชร พลอย และรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ในภาพรวม จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ร้อยละ 11.58เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (ตารางที่ 1) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าจะเริ่มฟื้นตัวในประเทศคู่ค้าหลายประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการของตลาด และมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งกลุ่มสินค้าเครื่องประดับแท้ และกลุ่มสินค้าเครื่องประดับเทียม

การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ
การส่งสินค้า

การจำหน่ายเครื่องเพชร พลอย และรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ภายในประเทศในภาพรวม ปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีการส่งสินค้า ร้อยละ 12.10 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (ตารางที่ 1)โดยเฉพาะเพชร สำหรับนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อตกแต่งและประกอบเป็นตัวเรือนรองลงมาได้แก่ เครื่องประดับเทียม ตามความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นสินค้าทางเลือกในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือในช่วงที่ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย

สินค้าคงคลัง

ขณะเดียวกันหากพิจารณาดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง คาดว่า จะลดลง ร้อยละ 15.57 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (ตารางที่ 1) แสดงให้เห็นว่า การจำหน่ายเครื่องเพชร พลอย และรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ภายในประเทศในภาพรวม ปี 2559 มีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการนำสต๊อกสินค้าออกมาจำหน่ายเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

จากตัวเลขประมาณการภาพรวม ปี 2559 (ตารางที่ 2) คาดว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) จะมีมูลค่า 7,299.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.56เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าที่มีผลทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัว ได้แก่พลอย ไข่มุก เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง เครื่องประดับอัญมณีเทียม และอัญมณีสังเคราะห์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.51 107.53 2.60 7.30 และ 1.42 ตามลำดับโดยคาดการณ์ว่าจะได้รับแรงหนุนจากความต้องการซื้อสินค้าในช่วงปลายปีสำหรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลัก อาทิ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ในภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแม้จะในอัตราที่ไม่รวดเร็วมากนัก แต่ผู้บริโภคต่างเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.39 เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่าสูงถึง7,036.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 84.83 จากปี 2558 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีก่อน ทำให้มีการสั่งซื้อเพื่อเก็งกำไรและถือครองไว้

ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญในแต่ละตลาด ดังนี้

  • ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ อาทิ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป เครื่องประดับอัญมณีเทียม และเครื่องประดับทำด้วยโลหะมีค่า
  • ตลาดฮ่องกง อาทิเพชร เครื่องประดับทำด้วยโลหะมีค่า และทองคำยังไม่ขึ้นรูป
  • ตลาดสหรัฐอเมริกา อาทิเครื่องประดับทำด้วยโลหะมีค่า เพชร และเครื่องประดับ อัญมณีเทียม
  • ตลาดสิงคโปร์ อาทิ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป และเครื่องประดับอัญมณีเทียม
การนำเข้า

จากตัวเลขประมาณการภาพรวม ปี 2559 (ตารางที่ 3) คาดว่า การนำเข้าอัญมณี และเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) จะมีมูลค่า2,836.13ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.45 จากปี 2558ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับอัญมณีเทียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 55.48 เนื่องจากมีความต้องการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย และกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน จากการออกแบบที่มีความสวยงามทัดเทียมกับเครื่องประดับอัญมณีแท้ แต่มีราคาไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตเครื่องประดับ เพิ่มขึ้น ได้แก่ พลอย อัญมณีสังเคราะห์ ไข่มุก รวมทั้งโลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.52 0.91 9.64 และ 141.13 ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยวัตถุดิบดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นประกอบกับเป็นการชดเชยสต๊อกวัตถุดิบที่ลดลงสำหรับมูลค่าการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม คาดว่า จะลดลง ร้อยละ 19.33 จากปี 2558ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 28.26เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน

แหล่งนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของไทย ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย โดยมีวัตถุดิบนำเข้าสำคัญในแต่ละตลาด ดังนี้

  • ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ อาทิ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป เงิน เพชร พลอย
  • ตลาดฮ่องกง อาทิ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป เพชร พลอย อัญมณีสังเคราะห์ เงิน
  • ตลาดออสเตรเลีย อาทิ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป เพชร ไข่มุก
  • ตลาดญี่ปุ่น อาทิ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป
  • ตลาดอินเดียอาทิเพชร พลอย
นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 14 มีนาคม 2559 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2559 โดยกลุ่มอัญมณี จัดเป็น 1 ใน 5 สาขาอุตสาหกรรม ที่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จำนวน 4 สาขาอาชีพประกอบด้วย ช่างเจียระไนพลอย ช่างหล่อเครื่องประดับ ช่างตกแต่งเครื่องประดับ และช่างอัญมณีบนเครื่องประดับ ซึ่งกำหนดให้มีอัตราค่าจ้างเท่ากันทั้ง 4 สาขาอาชีพ แบ่งออกเป็น ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท และระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท ทั้งนี้ การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้การผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยมีคุณภาพสูงขึ้น และเกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย (win-win) กล่าวคือ ลูกจ้างและนายจ้างได้รับประโยชน์จากค่าแรงและผลกำไรที่เพิ่มขึ้น ส่วนผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รับประโยชน์จากคุณภาพของสินค้าที่สูงขึ้น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.58ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าจะเริ่มฟื้นตัวในประเทศคู่ค้าหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการของตลาด และมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นประกอบกับมีความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องประดับเทียม เพื่อเป็นสินค้าทางเลือกในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือในช่วงที่ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ปี 2559 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.56 จากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มอัญมณี อาทิ พลอย ไข่มุก และอัญมณีสังเคราะห์ รวมถึงกลุ่มเครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง และเครื่องประดับอัญมณีเทียม โดยคาดการณ์ว่าจะได้รับแรงหนุนจากความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีสำหรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลัก อาทิ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ในภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแม้จะในอัตราที่ไม่รวดเร็วมากนัก แต่ผู้บริโภคต่างเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมคาดว่า จะมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 30.39 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากจากปีที่ผ่านมา โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ปี 2559 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.45เนื่องจากมีความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะเครื่องประดับอัญมณีเทียม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ประกอบกับมีการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ตามปริมาณการผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นสำหรับการนำเข้า อัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมคาดว่าจะลดลง ร้อยละ 19.33จากปี 2558 ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 28.26 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น และกัมพูชา

แนวโน้ม

การผลิต ในปี 2560 คาดว่า การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเนื่องจากคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางดีขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น

การส่งออก (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ในปี 2560คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้การนำของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2560 ย่อมส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าเครื่องประดับของไทย เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 ของไทยไปสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะเครื่องประดับอัญมณีกลุ่ม High-end แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าขั้นกลางหรือสินค้ากึ่งวัตถุดิบ อาทิ พลอยสีเนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่มีวัตถุดิบคุณภาพสูงภายในประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยควรติดตามความชัดเจนของนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด อาทิ การปรับแก้ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และการยกเลิกข้อตกลงหุ้นส่วนเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) รวมทั้งควรเตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มภายใต้ความตกลงอื่น เช่น ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) และการสร้างความเข้มแข็งในตลาดส่งออกอื่น เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อาเซียนเป็นต้น

การนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ในปี 2559คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีการจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าเข้าสต๊อกชดเชยปีก่อนหน้าที่เน้นการส่งออกสินค้าจากสต๊อกทดแทน โดยการนำเข้าในภาพรวมคาดว่า จะขยายตัวตามทิศทางการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการปรับตัวของราคาทองคำในตลาดโลกในทิศทางที่ลดลง ภายหลังการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนายทรัมป์ฯ อย่างไรก็ตาม อาจต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ ของนายทรัมป์ฯ อีกครั้ง เพื่อประเมินผลกระทบในระยะยาวต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ