ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 26, 2016 14:57 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวร้อยละ 0.5 ขยายตัว โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆที่มิใช่ยางรถยนต์ เครื่องประดับ และอาหารทะเลกระป๋องแช่แข็ง

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวได้ดี เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น โดยการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด

อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวดี เนื่องจากปลาแช่แข็ง เป็นหลัก รองลงมาเป็นปลาหมึกแช่แข็ง จากการขยายตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตรายหนึ่งและเร่งผลิตเมื่อมีวัตถุดิบเข้าในช่วงนี้

การแจ้งประกอบกิจการและการจำหน่ายทะเบียนโรงงาน เดือนธันวาคม 2559 มีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการจำนวน 430 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2559 ร้อยละ 27.2 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 168.1 และมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.3 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน จำนวนเงินทุน 13,744.35 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการเพิ่มชึ้นจากเดือนธันวาคม 2558 ร้อยละ 20.8 สำหรับโรงงานที่จำหน่ายทะเบียนโรงงานมีจำนวน 99 ราย มากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2559 ร้อยละ 4.2 แต่น้อยกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.0

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเดือนธันวาคม 2559 การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ มีมูลค่า 1,438.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ4.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลัง และส่วนประกอบ ฐานหุ่น แบบหล่อ เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการแปรรูปยาง และเครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 5,914.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเดือนธันวาคม 2559 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 9,850 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงจากเดือนที่ผ่านมาร้อยละ 5.3 ที่ปริมาณ 10,400.7 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 1.6 ที่ปริมาณ 9,695.3 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง รวมปริมาณการใช้ไฟฟ้าในปี 2559 ทั้งหมดเท่ากับ 123,989.8 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 4.1 ที่ปริมาณ 119,082.1 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า กิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมาและจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ส่วนกิจการขนาดใหญ่ มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI)เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 0.5 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลด้านบวกต่อดัชนี เช่น เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องประดับเพชรพลอย และอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันขยายตัวร้อยละ 7.5 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 4.4

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนธันวาคม2559 ยังไม่มีการเผยแพร่ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2559 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 6.5 ขณะที่อินโดนีเซีย หดตัวร้อยละ 2.3

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2559

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 430 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 338 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 27.2 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 55,503 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งมีการลงทุน 20,699 ล้านบาท ร้อยละ 168.1 และมีการจ้างงานจำนวน 13,775 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,166 คน ร้อยละ 50.3

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมากกว่าเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 356 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 20.8 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีการลงทุน 34,502 ล้านบาท ร้อยละ 60.9 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,419 คน ร้อยละ 85.7

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนธันวาคม 2559 คือ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 58 โรงงาน รองลงมา คืออุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิบซัม จำนวน 37 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนธันวาคม 2559 คือ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน จำนวนเงินทุน 13,744.35 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนเงินทุน 12,346.85 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนธันวาคม 2559 คือ อุตสาหกรรมการฆ่าสัตว์ จำนวนคนงาน 3,147 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรม การเลื่อย ไส ซอย เซาะร่อง หรือการแปรรูปไม้ จำนวนคนงาน 1,030 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 99 ราย มากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 95 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.2 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,771 ล้านบาท มากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,577 ล้านบาท แต่มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 3,290 คน น้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,803 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 110 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 10.0 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนธันวาคม 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,371 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนธันวาคม 2558 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,895 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนธันวาคม 2559 คือ อุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ จำนวน 10 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน จำนวน 8 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนธันวาคม 2559 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีปั๊มหรือกระแทก เงินทุน 488 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เงินทุน 297 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนธันวาคม 2559 คือ อุตสาหกรรมการตัดหรือการเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ จำนวนคนงาน 1,061 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการตัด เจียระไน หรือขัดเพชร พลอย หรืออัญมณี จำนวนคนงาน 810 คน
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการบริโภคในประเทศปรับตัวลดลง จากเศรษฐกิจในประเทศที่มีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และผลกระทบจากอุทกภัยในภาคใต้ ส่วนมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดส่งออกยังมีอย่างต่อเนื่อง และระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญเดือนธันวาคม 2559 ปรับตัวลดลง จากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.3 แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก เช่น กุ้งแช่แข็ง และทูน่ากระป๋องปรับตัวลดลงร้อยละ 13.4 และ 5.2 ตามลำดับจากวัตถุดิบขาดแคลนประกอบกับวัตถุดิบปลาทูน่าที่มีราคาสูงขึ้นผู้ประกอบการจึงลดสัดส่วนในการผลิตทูน่ากระป๋องไปเป็นการผลิตอาหารสัตว์กระป๋องแทน (อาหารสัตว์เลี้ยงแพงกว่าอาหารสำหรับคน)

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์มปรับตัวลดลงร้อยละ 16.5 วัตถุดิบลดลงจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมภาคใต้ และสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลืองการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 11.3 เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในปรับตัวลดลง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศเดือนธันวาคม 2559 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ1.4 จากเศรษฐกิจในประเทศที่มีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่กระจายตัว อีกทั้งผลกระทบจากอุทกภัยในภาคใต้ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2559

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเดือนธันวาคม2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.9 ในกลุ่มสินค้า ที่สำคัญ เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ไก่แปรรูปบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ข้าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 13.0 12.2 5.2 1.5 และ 0.2 ตามลำดับ แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีความผันผวน แต่สถานการณ์การส่งออกของไทยยังอยู่ระดับดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม มีบางสินค้าที่ปรับตัวลดลง เช่น ข้าวโพดหวานกระป๋อง และปลาทูน่ากระป๋อง ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.4 และ 2.8 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.2จากราคาส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30

3. แนวโน้ม

การผลิต และการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนมกราคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย จากปัจจัยบวกของการผลิตสินค้าสำคัญเพิ่มขึ้นเช่น กลุ่มประมง (กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง) ที่ได้รับผลดีจากการแก้ปัญหาโรคตายด่วน และประเทศคู่แข่งประสบปัญหาผลผลิตลดลง สินค้ากลุ่มข้าวและธัญพืชมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกมันเส้นไปตลาดจีนมีโอกาสเพิ่มขึ้นด้วยปริมาณสต๊อกข้าวโพดต่ำกว่าปีก่อน อีกทั้งรัฐบาลจีนไม่มีมาตรการอุดหนุนการรับซื้อข้าวโพดเช่นปีก่อน ประกอบกับกลุ่มปศุสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกสินค้าไก่ (ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูป) ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 จากการระบาดของไข้หวัดนกในหลายประเทศผู้นำเข้าหลักอย่าง ญี่ปุ่น และยุโรป รวมถึงประเทศเกาหลีใต้ แม้จะมีปัจจัยลบจากการส่งออกสินค้ากลุ่มน้ำตาลที่ผลผลิตลดลง ผลกระทบจากภัยแล้ง

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
"การผลิตกลุ่มสิ่งทอเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน จากความต้องการใช้ภายในประเทศที่ขยายตัวสูงขึ้น ในส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวนมาก ส่งผลให้การผลิตในภาพรวมหดตัว"
1.การผลิต
  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนการผลิตกลุ่มเส้นใยสิ่งทอในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.9 ทั้งผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์และเส้นด้ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.6 และ 0.5 ตามลำดับ จากความต้องการใช้ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนการผลิตผ้าผืนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.7 เพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้
  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 3.3 โดยเฉพาะในส่วนเสื้อผ้าทอลดลง ร้อยละ 7.3 จากความต้องการเสื้อผ้าชุดดำเริ่มอิ่มตัวนอกจากนี้ มีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน กัมพูชา เวียดนาม และอิตาลี จำนวนมากส่งผลให้การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในภาพรวมหดตัว
2.การจำหน่าย
  • ปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนกลุ่มเส้นใยสิ่งทอในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.4 ส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายให้กับโรงทอผ้าเพื่อผลิตผ้าผืน ซึ่งตลาดมีความต้องการลดลง ร้อยละ 3.0 ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ร้อยละ10.4 ทั้งในส่วนเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอ ร้อยละ 11.3 และ 10.1 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์ส่งเสริมการขายของแบรนด์สินค้าต่างๆ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ จูงใจให้ประชาชนจับจ่ายสินค้าสำหรับเป็นของฝากและของที่ระลึกในช่วงเทศกาลปลายปี
  • การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์ มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 1.7 ในตลาดคู่ค้าหลัก ได้แก่ ตุรกี เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา ในส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.0 ในตลาดเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา สำหรับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 9.9 จากคำสั่งซื้อในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนส่งผลให้นำเข้าจากไทยลดลง
3. แนวโน้ม

ภาพรวมการผลิต การจำหน่ายในประเทศกลุ่มเส้นใยสิ่งทอคาดว่า จะขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดภายใน ในส่วนผ้าผืน คาดว่าการผลิตจะลดลง แต่การส่งออกจะขยายตัวได้ในตลาดอาเซียนที่ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า ในส่วนภาพรวมการส่งออกเส้นใย ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปคาดว่า จะขยายตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ยังคงชะลอตัวอย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์สิ่งทอของไทยยังได้รับการยอมรับทั้งในเรื่องของคุณภาพและความตรงต่อเวลาในการส่งมอบสินค้า จึงยังมีโอกาสที่จะขยายตัว และสามารถแข่งขันได้ในตลาดเพื่อนบ้าน

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนธันวาคม 2559 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 133.12 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.89 สำหรับการบริโภคในประเทศมีปริมาณ 1.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งตามผลิตภัณฑ์ ดังนี้

  • ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.12 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.24 เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.93 เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.14 เนื่องจากเหตุผลทางด้านปัจจัยราคา กล่าวคือ เมื่อช่วงต้นปี 2559 ราคาเหล็กในตลาดโลกมีการปรับตัวที่ลดลง โดยในช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม 2559 เป็นช่วงที่ราคาต่ำสุด แต่ในช่วงกลาง-ปลายปี 2559 ราคาวัตถุดิบ เช่น สินแร่เหล็ก, ถ่านหิน มีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้ผลิตผลิตมากขึ้น แต่เหล็กเคลือบดีบุก ลดลงร้อยละ 6.75 เนื่องจากผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคากับเหล็กที่นำเข้าจากประเทศจีน เกาหลีใต้และไต้หวันได้ และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การบริโภคเหล็กทรงแบนในประเทศ ประมาณ 1,037,036 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.5 โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.6 เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.3
  • ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.40 โดยเหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.21 เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.30 เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.21 โดยเป็นการผลิตเพื่อรองรับกับโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น การก่อสร้างถนน การพัฒนาท่าเรือ คาดว่าในปี 2560 จะมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ที่จะส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กเส้นเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับในส่วนของโครงการภาคเอกชนยังคงทรงตัวอยู่ เนื่องจากภาวะ over supply ในตลาดคอนโดมิเนียมในช่วงปีนี้ ทำให้ความต้องการใช้เหล็กเส้นในส่วนของโครงการภาคเอกชนที่ลดลง และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การบริโภคเหล็กทรงยาวในประเทศ ประมาณ 591,425 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.2 สำหรับการนำเข้า มีปริมาณ 265,796 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.8 การส่งออก มีปริมาณ 69,385 ตัน ลดลง ร้อยละ 13.1
2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนธันวาคม 2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น จาก 54.97 เป็น 102.05 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 85.65 เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้น จาก 50.46 เป็น 93.66 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 85.61 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 58.87 เป็น 101.40 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 72.24 เหล็กแท่งเล็ก Billet เพิ่มขึ้นจาก 59.29 เป็น 92.94 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 56.75 และเหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 60.21 เป็น 88.29 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.64 ซึ่งสาเหตุที่ราคาเหล็กเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้น เพราะราคาวัตถุดิบ เช่น ถ่านหิน ได้มีการปรับตัวสูงขึ้น

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนมกราคม 2560 คาดการณ์ว่าการผลิตจะเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าดัชนีผลผลิต จะขยายตัว 9.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากธุรกิจก่อสร้างที่มีแนวโน้มดีขึ้น จากโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากความต้องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังจากประสบภัยทางธรรมชาติในหลายพื้นที่ ประกอบกับ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ เช่น การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน การจดจำนอง การสนับสนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2559 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยเป็นการลดลงของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากในช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคในประเทศเร่งการซื้อรถยนต์ สำหรับตลาดส่งออกเป็นการชะลอตัวของประเทศคู่ค้า

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 135,792 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีการผลิต 152,692 คัน ร้อยละ 11.07 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตันและอนุพันธ์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 86,858 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีการจำหน่าย 101,464 คัน ร้อยละ 14.40 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 86,120 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีการส่งออก 86,650 คัน ร้อยละ 0.61โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศแถบตะวันออกกลาง

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2560 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2559 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมกราคม 2560 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 48 และส่งออกร้อยละ 52

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม2559 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 140,147 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีการผลิต 144,736 คัน ร้อยละ 3.17 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 124,667 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีการจำหน่าย 122,720 คัน ร้อยละ 1.59

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 34,466 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีการส่งออก 32,683 คัน ร้อยละ 5.46 โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศเนเธอร์แลนด์สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2560 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2559 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2560 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 87 และส่งออกร้อยละ 13

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภาพรวมยังขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของภาคก่อสร้าง สำหรับมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงจากการปรับลดปริมาณการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงของเมียนมาและกัมพูชา"
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนธันวาคม 2559 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.28 และร้อยละ 2.70 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยหากพิจารณาจากกราฟจะเห็นว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนนี้มีการขยายตัวที่ดี โดยปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนนี้เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของภาคก่อสร้างในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างๆ อย่างเต็มที่ รวมถึงการเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 สาย โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และช่วงฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย ฯลฯ

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกรวมของปูนซีเมนต์ในเดือนธันวาคม 2559 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หดตัวลงร้อยละ 24.41 เนื่องจากเมียนมาซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าปูนซีเมนต์ที่สำคัญที่สุดของไทยปรับลดการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ โดยตลาดส่งออกปูนซีเมนต์ที่สำคัญ 3 อันดับแรกของไทยในเดือนนี้ยังคงเป็นบังคลาเทศ กัมพูชา และเมียนมา ตามลำดับ รวมมูลค่า 30.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 67.34 ของมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ทั้งหมดของไทย

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากช่วงไตรมาสแรกของปีเป็นฤดูการก่อสร้างของไทยประกอบกับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐหลายโครงการมีแนวโน้มจะทยอยเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างอย่างเต็มที่ตั้งแต่ช่วงต้นปีทำให้มีแนวโน้มความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศสูงขึ้น

สำหรับมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะทรงตัวหรือปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเมียนมามีแนวโน้มปรับลดปริมาณการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศของเมียนมา ทำให้เมียนมาต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยน้อยลงมาก โดยมีอัตราการพึ่งพาปูนซีเมนต์จากไทยในปัจจุบันเพียงร้อยละ 30 ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งหมดในประเทศ

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนธันวาคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.16 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.29 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.75 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต Semiconductor, Monolithic IC, Other IC และ HDD ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือน ธันวาคม 2559 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 102.74 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.16 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 91.41 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.29 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ สายไฟฟ้า และโทรทัศน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.50, 5.68, 6.59, 16.33 และ 10.25 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยในส่วนของเครื่องปรับอากาศมีการจำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อาเซียน และสหรัฐอเมริกา ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.13, 12.35 และ 6.09 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสำหรับเครื่องซักผ้าที่มีผู้ผลิตบางรายขยายกำลังการผลิตและเริ่มผลิตตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2559 ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีการขยายตัวอย่างมาก

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 109.80 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.75 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ Semiconductor, Other IC, Monolithic IC และ HDD เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.26, 16.62, 8.05 และ 10.25 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น โดยการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด และ HDD ส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น

2. การส่งออก
          มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์        เดือนธันวาคม 2559 มีมูลค่า 4,555.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.61 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,913.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.02 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียน และสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.75, 19.45, 14.03, 11.04 และ 5.15 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยสินค้าหลักที่มีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่า 298.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.54 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อาเซียน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.13, 12.35 และ 6.09 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ตามลำดับ รองลงมาคือ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม มีมูลค่าส่งออก 284.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.63 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.98, 48.86, 28.61, 24.41 และ 5.48 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,642.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.29 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 12.24 และ 4.14 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,383.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.81 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ลดลงร้อยละ 17.66, 14.29 และ 1.08 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับรองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 708.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.99, 18.86, 15.34, 5.05 และ 2.27 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

คาดการณ์ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมกราคม 2560 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 114.20 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.16 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 119.30 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.67 กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เตาไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว สายไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง โดยในส่วนของเครื่องปรับอากาศมีการจำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดหลักซึ่งมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 111.01 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.42 โดยมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ Semiconductor, Other IC, Monolithic IC และ HDD เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น และ HDD ส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ