สศอ. เผยผลการศึกษาเปิดเสรีอุตสาหกรรมการบริการ ภาครัฐควรส่งเสริม 4 ปัจจัย เพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจให้กับ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ร่วมกับ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินโครงการศึกษากลยุทธ์การสร้างความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมบริการไทย ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศใน 5 อุตสาหกรรมการผลิตเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน, อาหารแปรูป, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่ม พบว่า เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจและสนับสนุนการเปิดเสรีอุตสาหกรรมการบริการใน 5 อุตสาหกรรมการผลิตเป้าหมายดังกล่าว ภาครัฐควรอำนวยความสะดวกใน 4 ปัจจัย คือ
1. สนับสนุนการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตและบริการในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน 2.การปรับปรุงกฎหมาย ที่จำกัดการลงทุนและทำธุรกิจโดยชาวต่างชาติให้ทันสมัยมากขึ้น และปรับปรุงกฎระเบียบที่ทำให้การให้บริการที่ส่งเสริมการผลิตและส่งออกที่ติดขัดให้ดีขึ้น 3.ส่งเสริมการเจรจาเปิดเสรีการบริการเชิงรุก ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในบริบทการเจรจาการค้าเสรีให้มากขึ้น โดยเปิดเสรีบริการให้ครอบคลุมทุกภาคบริการที่จำเป็น และดำเนินการภายในเพื่อรองรับการเจรจา 4.ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาการผลิตและบริการให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการให้สูงขึ้น ทั้งนี้รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลการบริการให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นายศิริรุจ กล่าวต่อว่า การเปิดเสรีการบริการจะมีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาธุรกิจบริการโดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญของภาคการผลิต ซึ่งการแข่งขันที่มากขึ้นจะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและต้นทุนที่ถูกลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยายนต์และชิ้นส่วนยายนต์ อาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย จะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีบริการมากขึ้น เช่น บริการด้านโลจิสติกส์ การจัดจำหน่ายปลีกและส่ง
"การเปิดเสรีภาคบริการ จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการ มีโอกาสระดมทุน จากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น และอาจนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาศักยภาพด้านการบริการ และจะนำไปสู่การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องเตรียมพร้อมและพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถรองรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงขึ้น"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขัน แต่ก็ต้องระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการครอบงำตลาดจากผู้ประกอบการรายใหญ่ จนกระทั่งมีบทบาทหรืออิทธิพลเหนือผู้ให้บริการในประเทศ เพราะจะทำให้ผู้ให้บริการในประเทศเดิมต้องออกจากตลาดไป และถูกทดแทนโดยนักลงทุนต่างชาติ หรือบริษัทต่างชาติรายใหญ่ในที่สุด เพราะจะส่งผลให้ทางเลือกในการบริการลดลง
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--