ในไตรมาส 1 ปี 2560 เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัว เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และเกาหลีใต้แต่ยังคงมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปและนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอัตราอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นการว่างงานของสหภาพยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่องแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ปี 2560 อยู่ที่ 52.9 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ 30.7 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน (ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2560) อยู่ที่ 47.3 USD/Barrel ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯที่ลดลงและผู้ผลิตน้ำมันทั้งในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกยังคงปรับลดกำลังการผลิต
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส ที่ 4 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 โดยปัจจัยที่ทำให้ชะลอตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 คือ การลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงต่อเนื่องทั้งด้านการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนที่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าจากระดับราคาสินค้าโดยรวมที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปีและรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยโดยรวมโดยการใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทนและบริการสุทธิขยายตัวสำหรับการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนชะลอตัวลงและใช้จ่ายสินค้าคงทนหดตัวโดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทยานยนต์และเครื่องเรือน ด้านอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวจากการส่งออกสินค้าที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกบริการชะลอตัว
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมในต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับ lnternet of Things (loT) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยางจากการเร่งนำเข้าของประเทศจีน และผลิตภัณฑ์เหล็กตามความต้องการภายในประเทศ การผลิตอุตสาหกรรมเบาหดตัวเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มลดลงตามความต้องการในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ในส่วนของอุตสาหกรรมวัตถุดิบขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเป็นผลจากอุตสาหกรรมการพิมพ์ และโรงกลั่นน้ำมันที่ขยายตัวสูง รวมถึงอุตสากรรมเหล็กและเหล็กกล้าที่ปรับตัวดีตามความต้องการในการก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ขยายตัว
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ขยายตัวจากปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0
สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนร้อยละ 1.75 และช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 9.44 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นที่เริ่มส่งผลให้การส่งออกและการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าทั้งสิ้น 108,860.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 56,456.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 52,403.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯสำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 นี้อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้า โดยมีมูลค่า 4,052.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทยการลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีมูลค่ารวม 84,771.7 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนมกราคมมีมูลค่า 32,691.62 ล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 52,080.09 ล้านบาท เมื่อพิจารณาข้อมูลการลงทุนภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 พบว่ามูลค่าการลงทุนรวมสุทธิ 30,680.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 33,799.33 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมของภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2560 มีมูลค่าสุทธิ 15,062.28 ล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีมูลค่าสุทธิ 15,617.68 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOl) พบว่าในช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม - กุมภาพันธ์) ของไตรมาสที่ 1 ปี 2560 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOl มีจำนวนทั้งสิ้น 202 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนในกิจการต่าง ๆ ทั้งสิ้น 55,280 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 67 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 19,850 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ จำนวน 47 โครงการ เป็นเงินลงทุน 14,030 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 88 โครงการ เป็นเงินลงทุน 21,390 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุน 26,830 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีเงินลงทุน 16,180 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร มีเงินลงทุน 4,880 ล้านบาท
สำหรับแหล่งทุนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ปี 2560 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือเนเธอร์แลน โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 6 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 13,305 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศญี่ปุ่น มีจำนวน 29 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 5,121 ล้านบาท ประเทศมาเลเซียมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 3 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1,484 ล้านบาท และประเทศสิงคโปร์ มีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1,325 ล้านบาท
ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา
เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีประมาณ 1,692,032 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) ลดลงร้อยละ 5.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้คือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 9.65 เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังตั้งแต่ช่วงต้นปี ยังอยู่ในปริมาณที่สูง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.13 รองลงมาคือ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.50 โดยเหล็กแผ่นเคลือบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.51 (เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.91 เนื่องจากเหตุผลทางด้านเทคนิค คือ เมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ผลิตหลักได้หยุดการผลิตบางส่วนเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร จึงทำให้ฐานในการคำนวณต่ำ) เหล็กแผ่นรีดเย็นเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.88 และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การผลิตโดยรวม ลดลง ร้อยละ 22.24 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดคือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 30.21
สถานการณ์การบริโภคเหล็กในไตรมาส 2 ปี 2560 คาดการณ์ว่าจะลดลง ร้อยละ 15.58 โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาเหล็กในตลาดโลกและราคาในประเทศเริ่มมีทิศทางที่ลดลงขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศยังคงทรงตัวอยู่จากอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงทรงตัวอยู่ทั้งทางด้านโครงการภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ความต้องการใช้ในประเทศลดลง
ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 (ม.ค.-มี.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 485,555 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 506,874 คัน ลดลงร้อยละ 4.21 โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 199,979 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 9,186 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.34 และ 34.24 ตามลำดับ ส่วนการผลิตรถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 276,390คัน ลดลงร้อยละ11.40
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาโดยข้อมูลจากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 500,000 คันโดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2560 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 124.67 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ Semiconductor, Monolithic lC, Other lC และ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.95, 12.92, 26.37 และ 14.89 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก lC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น และส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วน HDD ผู้ผลิตบางรายขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 2.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกตู้เย็นไปตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง โดยเฉพาะจีน ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 56.17 เมื่อเทียบช่วงเดียวของปีก่อน และการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปยังสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลง
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2560 คาดว่า การผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแยกเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.39 เนื่องจากเครื่องปรับอากาศและเครื่องซักผ้าสามารถขยายตัวได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลัก สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก lC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นและ HDD มีผู้ผลิตบางรายขยายกำลังการผลิตและส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้น
เคมีภัณฑ์อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาส 1 ของปี 2560 มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกและประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งประเทศจีน และกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นตลาดสำคัญของไทยสำหรับไตรมาส 2 ของปี 2560 คาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะยังคงปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยตลาดภายนอกประเทศที่ยังคงขยายตัวและปัจจัยจากนโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐและการขยายการลงทุนของภาคเอกชนที่จะมาสนับสนุนให้เกิดการขยายปริมาณการใช้การใช้เคมีภัณฑ์
แนวโน้มไตรมาสที่ 2 ปี 2560 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะยังคงปรับตัวดีขึ้น และมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องทั้งนี้มาจากปัจจัยจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกรวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุน ซึ่งส่งผลต่อดีการขยายการลงทุนของภาคเอกชน ที่จะมาสนับสนุนให้เกิดการขยายปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์
พลาสติก ภาวะอุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 1 ปี 2560 พบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมลดลงร้อยละ 3.80 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงของประเทศคู่ค้า โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก และผลิตภัณฑ์กระสอบพลาสติก ส่วนดัชนีส่งสินค้าของอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมลดลงร้อยละ 2.08 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 โดยลดลงจากการส่งสินค้าเกือบทุกประเภท ยกเว้นผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่น ซึ่งสินค้าที่มีดัชนีการส่งสินค้าลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหารครัว และห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์กระสอบพลาสติก ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก และผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มพลาสติก
แนวโน้มไตรมาสที่ 2 ปี 2560 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสำคัญจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นแนวโน้มการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนซึ่งส่งผลต่อการลงทุนภายในประเทศและ คาดว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 47.47 และ 86.60 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 โดยปัจจัยสำคัญเกิดจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากของระดับราคาน้ำมันดิบ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาค และภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น
แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2560 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 คาดว่าในปี 2560 มูลค่าการส่งออกและมูลค่าการนำเข้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2559 ตามการขยายตัวของ GDP และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตาม คือ การปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบ ภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคและภาวะเศรษฐกิจโลกรวมถึงภาวะความมั่นคงทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตในตะวันออกกลาง
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ สถานการณ์การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลงจากการส่งออกเยื่อกระดาษไปยังโรงงานผลิตกระดาษของไทยในฝรั่งเศสลดลง สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ที่ขยายตัวในตลาดเอเชีย ส่วนสิ่งพิมพ์ ส่งออกลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มสิ่งพิมพ์ประเภทโบรชัวทางการค้าด้านการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เพิ่มขึ้นจากนำเข้าเยื่อใยยาวมาสต๊อกในคลังสินค้า เพื่อรองรับการบริโภคภายในที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 ในส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์มูลค่าลดลง เนื่องจากการผลิตในประเทศสามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอ
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2560คาดว่า การผลิตกระดาษในภาพรวมจะขยายตัว จากการผลิตกระดาษลูกฟูก กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษแข็ง ซึ่งอาจขยายตัวตามการกระตุ้นการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคภายใน สำหรับเยื่อกระดาษ อาจปรับตัวลดลงตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง ในส่วนกระดาษคราฟท์อยู่ในภาวะทรงตัว
เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2560 ในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่มีมากในช่วงฤดูกาลขายโดยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตกระเบื้องปูพื้นบุผนัง มีปริมาณ 37.76 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.79 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.67 และ 1.13 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในภาพรวมยังไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง โดยพบว่าทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนังและเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 9.97 และ 2.72 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ไม่มากนักทำให้การเปิดตัวโครงการใหม่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวอีกทั้งกำลังการซื้อของผู้บริโภคยังคงลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2560 คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจาก เป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างลดลง นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูงส่งผลให้การผลิตและจำหน่ายเซรามิกมีแนวโน้มลดลง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดอาเซียน ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2560 มีแนวโน้มลดลงซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดในประเทศ
ปูนซีเมนต์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ดและปูนซีเมนต์จำนวน 12.14 ล้านตัน และ 11.26 ล้านตัน ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการผลิตปูนเม็ดและปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.18 และร้อยละ10.93 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.57 ในขณะที่ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ลดลง ร้อยละ 4.17 ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศยังขยายตัวได้โดยเฉพาะในส่วนของปูนเม็ดที่การส่งออกไปยังบังคลาเทศมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีสำหรับปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ลดลงตามสภาวะการชะลอตัวของตลาดในประเทศและการหดตัวของตลาดเมียนมาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้าปูนซีเมนต์ของไทย
การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวตามการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้นในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเนื่องจากเมียนมาซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังคงมีแนวโน้มปรับลดการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลุ่มสิ่งทอ ภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 1 ปี 2560 การผลิตกลุ่มสิ่งทอลดลงตามความต้องการของตลาดในประเทศ ส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยเฉพาะเสื้อผ้าชุดดำอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากตลาดเข้าสู่จุดอิ่มตัว สอดคล้องกับการจำหน่ายในประเทศที่ยังชะลอตัวต่อเนื่องในผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ แต่ผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักยังขยายตัวได้ สำหรับภาพรวมการส่งออกกลุ่มสิ่งทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.52 ในสินค้าผ้าผืน ด้ายใยประดิษฐ์ เส้นใยประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน ส่วนเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังมีทิศทางลดลง ในตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เนื่องจากตลาดคู่ค้าหลักยังฟื้นตัวไม่ดีนักประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ขยายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศอาเซียน (CLMV) อย่างไรก็ตาม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยยังได้รับการยอมรับทั้งในเรื่องของคุณภาพและความตรงต่อเวลาในการส่งมอบสินค้าซึ่งจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกเดือนมีนาคมมีทิศทางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
ภาพรวมการผลิต การจำหน่ายในประเทศกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ คาดว่า จะขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดหลักในอาเซียนที่ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปอาจอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากตลาดเข้าสู่จุดอิ่มตัว ส่วนการส่งออกกลุ่มเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืนคาดว่าจะขยายตัวได้โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนสำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะมีทิศทางชะลอตัว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าหลัก ๆ อาทิ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ยังขยายตัวได้ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยยังได้รับการยอมรับทั้งในเรื่องของคุณภาพและความตรงต่อเวลาในการส่งมอบสินค้าจึงยังมีโอกาสที่จะขยายตัวรวมทั้งยังสามารถแข่งขันได้ในตลาดเพื่อนบ้าน
ไม้และเครื่องเรือน การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนไม้ไตรมาส 1 ปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับการส่งออก และภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปสำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาส 1 ปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดยขยายตัวจากกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น และกลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ในตลาดที่สำคัญ เช่น จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ปรับตัวเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออก เนื่องจากเป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์
การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนไม้ไตรมาส 2 ปี 2560 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในภาพรวมเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ส่งผลให้โครงการอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าการเกษตรมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีต่อเนื่องไปยังตลาดไม้และเครื่องเรือน สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาส 2 ปี 2560 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความต้องการสินค้าในตลาดผู้นำเข้าหลักที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากปัจจัยต่างๆที่อาจทำให้การส่งออกไม่ขยายตัว เช่น ความไม่ชัดเจนจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในสหภาพยุโรป และความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลก ในส่วนของการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 2 ปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวในทิศทางเดียวกับการส่งออก
ยา การผลิตยาในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีปริมาณรวม 11,247.23 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 8.45 และร้อยละ 21.50 ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตยาของไทยขยายตัวได้ดีโดยมีปริมาณการผลิตยาทุกชนิดเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่บางรายสามารถกลับมาผลิตยาได้ดังเดิมหลังจากที่มีการย้ายสถานที่ตั้งโรงงานในช่วงปีที่ผ่านมาจึงมีการเร่งผลิตทั้งเพื่อจำหน่ายและเก็บสต็อก ประกอบกับผู้ผลิตรายใหญ่บางรายมีคำสั่งซื้อยาจากโรงพยาบาลของรัฐมากขึ้น
ปริมาณการผลิตยารักษาและป้องกันโรคในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 เนื่องจากตลาดยาทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเมียนมา กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เนื่องจากสินค้ายาของไทยเป็นที่ยอมรับในคุณภาพและมาตรฐาน ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากจากประเทศในเขตภูมิภาคอาเซียนถึงแม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ยาที่นำเข้าจากอินเดียและจีนก็ตาม
ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลงเล็กน้อยในส่วนของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางล้อมีปริมาณการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ และยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ลดลง ในขณะที่มีปริมาณการผลิตยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานและยางหล่อดอกเพิ่มขึ้น สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มความต้องการใช้ของทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในส่วนของการจำหน่ายในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศลดลงในขณะที่มีปริมาณการจำหน่ายยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางในรถบรรทุก/รถโดยสารและยางหล่อดอกเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ
การผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนคาดว่าจะขยายตัวตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศสำหรับการผลิตและจำหน่ายยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ในประเทศคาดว่าจะหดตัวลงจากแนวโน้มความต้องการใช้ในประเทศที่ลดลงในขณะที่การผลิตยางหล่อดอกน่าจะยังมีการขยายตัวที่ดีในส่วนของการผลิตและจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้ตามความจำเป็นของภาคอุตสาหกรรมและการใช้ในทางการแพทย์
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 1 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอก ที่ใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป เช่น เบาะรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.97 เป็นผลจากการจำหน่ายภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น สำหรับการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และการผลิตรองเท้า ลดลง ร้อยละ 4.41 และ 4.31 ตามลำดับ จากการชะลอตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อ หลังจากสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปี 2559
ปี 2560 คาดว่า การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง จะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากฐาน ปี 2559 อยู่ในระดับต่า โดยมีปัจจัยที่จะกระตุ้นการผลิต จากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยว และการลงทุนจากภาครัฐที่จะส่งผลเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศโดยรวม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การผลิตใน ปี 2560 กลับมาดีขึ้น สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง คาดว่า จะปรับตัวในทิศทางที่ขยายตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น ราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้ารองเท้าและเครื่องหนังในตลาดที่มีการแข่งขันด้านราคาสูงนอกจากนี้เศรษฐกิจโลกค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สำหรับการนำเข้า คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการบริโภคสินค้าหรูเพื่อแสดงฐานะทางสังคมมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นนอกจากนี้ในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบ เช่น หนังดิบ หนังฟอก จะเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ วัสดุอุปกรณ์ประกอบ (Accessories) และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ภาคการผลิตปรับตัวลดลง ร้อยละ 13.72 เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นการส่งออกสินค้าในสต็อกทดแทนการผลิตสินค้าใหม่ ส่วนภาคการจำหน่ายลดลงเช่นกัน ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยปี ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 2,021.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.98 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.19 จากการส่งออกเพิ่มขึ้น เกือบทุกรายการ ยกเว้นเครื่องประดับทำด้วยโลหะมีค่าอื่น และเครื่องประดับอัญมณีเทียม แต่หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลง ร้อยละ 21.03 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 43.81 ตามทิศทางการปรับตัวของราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลก
การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2560 คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการกลับมาเน้นการผลิตสินค้าทดแทนสต็อกสินค้าเดิมที่นำออกจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2560 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยปัจจัยหลักที่ชะลอการส่งออกอาจมาจากสภาพเศรษฐกิจของหลายประเทศในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวไม่ดีนักประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในต่างประเทศอาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มลดการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย
อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 144.89 ปัจจัยหลักเป็นผลจากการเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 1.36 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.42 จากปริมาณสินค้าปศุสัตว์ อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม และน้ำตาล เป็นต้น เนื่องจากการผลิตเพื่อรองรับผลผลิตออกสู่ตลาดของสินค้าเกษตรที่สำคัญ ประกอบกับความต้องการบริโภคในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นส่วนมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.21 จากการประเทศคู่ค้าเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าประมง ปศุสัตว์ อาหารอื่นๆ และผักและผลไม้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวดลงร้อยละ 5.09 เนื่องจากการส่งออกสินค้าประมง อาหารอื่นๆ ปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืชลดลง
ประมาณการการผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาส 2 ปี 2560 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.5 เนื่องจากการผลิตสินค้าน้ำตาลที่ลดลงด้วยผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2559/60 ลดลงกว่าฤดูการผลิตปี 2558/59 และการผลิตแป้งมันสำปะหลังปรับตัวลดลงจากระดับราคาและคำสั่งซื้อของประเทศนำเข้าลดลง ขณะที่สินค้ากลุ่มสำคัญอื่นๆ เช่น ผักและผลไม้ ปศุสัตว์ และประมง การผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.3 เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น สินค้าผักและผลไม้ (สับปะรดกระป๋อง และข้าวโพดหวานกระป๋อง) สินค้าปศุสัตว์ (ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป) ที่เพิ่มคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้าทั้งญี่ปุ่นและยุโรปที่ความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้นรวมถึงเกาหลีใต้และตลาดสิงคโปร์ได้เปิดนำเข้าไก่แช่เย็นแช่แข็งจากไทยเนื่องจากประเทศคู่ค้าหลายประเทศประสบปัญหาไข้หวัดนก และประเทศคู่แข่งประสบปัญหาด้านคุณภาพ และสินค้าประมง (กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง และทูน่ากระป๋อง) ได้รับผลดีจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลดีจากสหรัฐฯ ที่ปรับระดับการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้นจาก Tier 3 เป็น Tier 2 ก
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--