สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2560 (มกราคม - มีนาคม) พ.ศ. 2560 (เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 1, 2017 15:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 โดยปัจจัยที่ทำให้ชะลอตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 คือ การลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงต่อเนื่องทั้งด้านการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนที่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าจากระดับราคาสินค้าโดยรวมที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปีและรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยโดยรวมโดยการใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทนและบริการสุทธิขยายตัวสำหรับการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนชะลอตัวลงและใช้จ่ายสินค้าคงทนหดตัวโดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทยานยนต์และเครื่องเรือนด้านอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวจากการส่งออกสินค้าที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกบริการชะลอตัว

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมในต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับ lnternet of Things (loT) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยางจากการเร่งนำเข้าของประเทศจีน และผลิตภัณฑ์เหล็กตามความต้องการภายในประเทศการผลิตอุตสาหกรรมเบาหดตัวเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มลดลงตามความต้องการในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ในส่วนของอุตสาหกรรมวัตถุดิบขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเป็นผลจากอุตสาหกรรมการพิมพ์ และโรงกลั่นน้ำมันที่ขยายตัวสูง รวมถึงอุตสากรรมเหล็กและเหล็กกล้าที่ปรับตัวดีตามความต้องการในการก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ขยายตัว

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ขยายตัวจากปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 2560 พบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ดัชนีการส่งสินค้าอัตราการใช้กำลังการผลิตและการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 มูลค่าการส่งออกในภาพรวม (ม.ค. - มี.ค. 60) ขยายตัวร้อยละ 9.2 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production lndex : MPl) (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 115.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (109.6) ร้อยละ 5.5 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (115.5) ร้อยละ 0.1

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตเครื่องปรับอากาศ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ และการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ได้แก่การผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐานการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ การผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค และการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment lndex) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 110.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (104.8) ร้อยละ 5.4 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (110.8) ร้อยละ 0.4

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตเครื่องปรับอากาศ การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ การผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม และการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ได้แก่การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ การผลิตเครื่องประดับเพชรพลอยและรูปพรรณ การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ และการผลิตน้ำตาล เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods lnventory lndex) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 105.6 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (106.7) ร้อยละ 1.1 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (107.9) ร้อยละ 2.1

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่ การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ การผลิตเครื่องปรับอากาศ การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม การผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้า และการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษและกระดาษแข็ง เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ได้แก่ การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษและกระดาษแข็ง การผลิตยางนอกและยางใน และการผลิตรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 62.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 59.5) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (ร้อยละ 63.2)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับประกอบยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ การผลิตเครื่องปรับอากาศ และการผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ได้แก่ การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับประกอบยานยนต์ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม การผลิตเครื่องประดับเพชรพลอยและรูปพรรณ และการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยมีค่า 75.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (73.0) และจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (74.6) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ดัชนีทั้ง 3 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้จากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2559 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเป็นรายเดือน จะเห็นว่า ดัชนีในเดือนมีนาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการและปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ค่าดัชนีที่ปรับตัวขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจลดลง โดยปัจจัยบวกมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับสินค้าเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวสูงขึ้นทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมันและอ้อย ทำให้เกษตกรบางกลุ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้นส่งผลดีต่อการใช้จ่ายให้สูงขึ้น รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2560 เพิ่มเป็น 3.4% จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ที่ 3.2% พร้อมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% การปรับตัวของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวลดลงและการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรบางรายการยังทรงตัวในระดับต่ำโดยเฉพาะข้าวส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่าและความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 มีค่า 64.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (61.9) และไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (63.5) และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่สูงมากนักเนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 มีค่า 70.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (67.5) และไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (69.6) แต่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวการณ์จ้างงานโดยรวม โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำจะไม่ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 มีค่า 92.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (89.6) และไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (90.6) และอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคเห็นว่ารายได้ในอนาคตของตนมีโอกาสจะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้า

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 มีค่าเท่ากับ 50.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา(49.7) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (49.4) โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ดัชนีโดยรวมมีค่าสูงกว่า 50 แสดงว่า ผ ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผู้ส่งออกในกลุ่มธุรกิจกระดาษและการพิมพ์ การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตยานยนต์ ตามทิศทางการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการแร่งผลิตเพื่อให้สอดรับกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นก่อนวันหยุดยาวช่วงเทศกาลทำให้ผลประกอบการและการจ้างงานปรับดีขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 87.0 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (87.5) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (86.02) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดีอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นเป็นรายเดือน จะเห็นว่าดัชนีในเดือนมีนาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากปรับลดติดต่อกัน 2 เดือน ปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ การส่งออกที่มีทิศทางการขยายตัวจากการที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว เห็นได้จากคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ปิโตรเครมีและเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ รวมทั้งผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกราคาน้ำมัน และสถานการณ์การเมืองในประเทศลดลงอย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐได้แก่ 1) ขอให้ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในภูมิภาค 2) ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) เพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิต 3) สนับสนุนการขยายฐานส่งออกสินค้า SMEs และให้ความรู้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงช่องทางการตลาดในต่างประเทศ 4) เสนอให้ภาครัฐเร่งศึกษาผลกระทบจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และ5) แก้ไขปัญหาผังเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ
          ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic lndex : LEl) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 156.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ร้อยละ 0.94 ที่ระดับ 155.4 ตามการขยายตัวของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล         การส่งออก ณ ราคาคงที่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง ณ ราคาคงที่ และ ดัชนีส่วนกลับราคาน้ำมัน

สำหรับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 มีค่าเฉลี่ย 155.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.21 จากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 155.4

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic lndex : CEl) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมีนาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 129.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ร้อยละ 0.52 ที่ระดับ 128.7 ตามการขยายตัวของการนำเข้า ณ ราคาคงที่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

สำหรับดัชนีพ้องเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 มีค่าเฉลี่ย 128.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 128.3

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 5) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 มีค่าเท่ากับ 116.77 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 121.46 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ที่ระดับ 113.45 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าในทุกกิจการยกเว้นกิจการเฉพาะอย่าง ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ปริมาณการจำหน่ายเบียร์ การนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ พบว่า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 123.97 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 124.65 และไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ที่ระดับ 126.26

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559

ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์และการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2559

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ พบว่าไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 100.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 100.5 และไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ที่ระดับ 99.4 การที่ราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เป็ด ไก่ สำเร็จรูป ปลาและสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์น้ำตาล เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป รวมทั้งกลุ่มอาหารสดและพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 มีค่าเท่ากับ 103.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 101.7 และไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ที่ระดับ 100.0 โดยดัชนีในทุกหมวดผลผลิตได้แก่ผลผลิตเกษตรกรรมผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปี 2559

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2560 (ข้อมูลเดือนมีนาคม2560) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.32 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 37.46 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 97.76 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.495 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.29)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่หนึ่งของปี 2560 มีจำนวน 6.198 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 16.55 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปี 2559 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องประกอบกับเริ่มมีสัญญานบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญรวมทั้งราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นสำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 นี้อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้า โดยมีมูลค่า 4,052.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนร้อยละ 1.75 และช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 9.44 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นที่เริ่มส่งผลให้การส่งออกและการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าทั้งสิ้น 108,860.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 56,456.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 52,403.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 นี้อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้า โดยมีมูลค่า 4,052.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าเปรียบเทียบรายเดือน ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 พบว่ามูลค่าการส่งออก เดือนมีนาคม มีอัตราขยายตัวสูงสุดร้อยละ 9.2 คิดเป็นมูลค่า 20,887.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาเดือนมกราคมมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 8.8 คิดเป็นมูลค่า 17, 099.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ มูลค่าการส่งออกหดตัว ร้อยละ 2.8 มูลค่า 18,469.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับมูลค่าการนำเข้าพบว่าเดือนกุมภาพันธ์ มีอัตราการขยายตัวสูงสุดร้อยละ 20.4 คิดเป็นมูลค่า 16,859.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาเดือนมีนาคมมีอัตราการขยายตัว

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทยการลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีมูลค่ารวม 84,771.7 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนมกราคมมีมูลค่า 32,691.62 ล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 52,080.09 ล้านบาท เมื่อพิจารณาข้อมูลการลงทุนภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 พบว่ามูลค่าการลงทุนรวมสุทธิ 30,680.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 33,799.33 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมของภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2560 มีมูลค่าสุทธิ 15,062.28 ล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีมูลค่าสุทธิ 15,617.68 ล้านบาท

ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ปี 2560 การลงทุนในกิจกรรมทางการเงินและการประกันภัยเป็นสาขาที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิมากที่สุด เป็นเงินลงทุน 33,030.6 ล้านบาท รองลงมาเป็นกิจกรรมการผลิตหรือภาคอุตสาหกรรม เป็นเงินลงุทน 30,680.0 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ามีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 9,684.3 ล้านบาท รองลงมาคือสาขาการการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วงมีมูลค่า 8,870.5 ล้านบาท การผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น มีมูลค่า 5,173.8 ล้านบาท การผลิตอาหาร มีมูลค่า 2,787.1 ล้านบาท การผลิตถ่านโค้กและปิโตรเลียม มีมูลค่า 2,099.0 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ได้แก่ประเทศสิงคโปร์มีเงินลงทุนสุทธิ 35,763.3 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่นและประเทศสหรัฐอเมริกาโดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 34,304.6 ล้านบาท และ 13,301.4 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOl) พบว่าในช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม - กุมภาพันธ์) ของไตรมาสที่ 1 ปี 2560 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOl มีจำนวนทั้งสิ้น 202 โครงการมีมูลค่าเงินลงทุนในกิจการต่าง ๆ ทั้งสิ้น 55,280 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 67 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 19,850 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ จำนวน 47 โครงการ เป็นเงินลงทุน 14,030 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 88 โครงการ เป็นเงินลงทุน 21,390 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุน 26,830 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีเงินลงทุน 16,180 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร มีเงินลงทุน 4,880 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ปี 2560 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือเนเธอร์แลน โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 6 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 13,305 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศญี่ปุ่น มีจำนวน 29 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 5,121 ล้านบาท ประเทศมาเลเซียมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 3 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1,484 ล้านบาท และประเทศสิงคโปร์ มีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1,325 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ