สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา2
022024391
ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปริมาณ การผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 144.89 ปัจจัยหลักเป็นผลจากการเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาลปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 1.36 เนื่องจากการผลิตเพื่อรองรับผลผลิตออกสู่ตลาดของสินค้าเกษตรที่สำคัญ และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.42 จากปริมาณสินค้าปศุสัตว์ อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม และน้ำตาล เป็นต้น เพื่อรองรับการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.21 จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่าง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จึงเพิ่มคำสั่งซื้อ แม้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงตามแผนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหาภาคธนาคารของสหภาพยุโรปที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออกของไทย
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารคาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.42 เนื่องจากการผลิตลดลง ในกลุ่มสินค้าสำคัญ คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม และน้ำตาล (ตารางที่ 1) แต่หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากร้อยละ 144.89 จากสินค้ากลุ่มน้ำตาล ธัญพืชและแป้ง ผักและผลไม้ และผลิตภัณฑ์นม สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญสรุปได้ดังนี้
กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.72 เนื่องจากการขยายการผลิตไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่ปรุงสุก เพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศ และต่างประเทศเพิ่มการนำเข้าจากไทยมากขึ้น อีกทั้งคู่แข่งอย่างบราซิลประสบปัญหาด้านคุณภาพสินค้าทำให้ผู้นำเข้าระงับสินค้า และจะส่งผลบวกทางอ้อมต่อราคาไก่ในประเทศให้ดีดตัวขึ้นอีกด้วยหากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 8.00 เนื่องจากความต้องการบริโภคในช่วงไตรมาส 4 สูงสุดในรอบปี ประกอบการผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อ เพื่อเคลียร์สต็อกสินค้าในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนแรกของปี
กลุ่มแปรรูปประมงช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 0.14 และ 8.71 ตามลำดับ จากการผลิตปลาซาร์ดีนกระป๋องลดลง เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบทำให้ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ผู้นำเข้า (แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และเมียนมา) จึงชะลอคำสั่งซื้อ ขณะที่การผลิตทูน่ากระป๋อง และกุ้งสดแช่แข็งจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 1.90 และ 8.59 ตามลำดับ เนื่องจาก การผลิตสับปะรดกระป๋อง ผักผลไม้อบแห้ง และกะทิเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสับปะรดอยู่ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดจึงเพิ่มปริมาณมากขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ผนวกกับการขยายพื้นที่การเพาะปลูกโดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง มาปลูกสับปะรดแทน ด้วยระดับราคาขายสูงขึ้นจากเมื่อปีก่อนทำให้วัตถุดิบสำหรับการผลิตสับปะรดกระป๋องเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว
กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้งช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปริมาณการผลิตปรับตัว ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.09 เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังลดลง จากราคามันสำปะหลังลดลงจากปีก่อนทำให้พื้นที่เพราะปลูกเดิมถูกปรับเปลี่ยนไป แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.44 เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อรองรับฤดูกาลเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นช่วงที่มันสำปะหลังออกสู่ตลาดมากที่สุด ส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมามาก
กลุ่มน้ำตาล ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.12 เนื่องจากภัยแล้งทำให้มีการเลื่อนช่วงการเพาะปลูกออกไป ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบกระจุกตัวในช่วงปลายฤดูการหีบอ้อยมากกว่าปีก่อนและเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากร้อยละ 528.14 เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อรองรับฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตอ้อยออกสู่ตลาดมากที่สุด
กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.50 เนื่องจากการผลิตน้ำมันปาล์มลดลง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.60 ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตน้ำมันปาล์ม จากระดับราคาที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มตลาดล่วงหน้าของมาเลเซีย และการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์นมการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 1.75 และ 8.11 ตามลำดับ ตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การผลิตอาหารสัตว์ช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.97 เพื่อรองรับการเพาะเลี้ยงสัตว์ ที่เพิ่มขึ้น (ไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร โคเนื้อ และกุ้ง) แต่หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 4.59 จากการปรับลดการเพราะเลี้ยงไก่เนื้อลดลง
หากพิจารณาข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร การประกอบกิจการในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 พบว่ามีโรงงานปิดกิจการจำนวน 39 โรง แบ่งเป็นประเภท โรงสีข้าว กิจการผลิตน้ำแข็ง กิจการผลิตปลาป่น และกิจการผลิตเครื่องดื่มผลไม้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีการประกอบกิจการใหม่ จำนวน 92 โรง แบ่งเป็นประเภท โรงสีข้าว กิจการผักผลไม้แช่แข็ง กิจการผลิตมันเส้น กิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง กิจการแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟ กิจการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มจากผักและผลไม้กิจการผลิตน้ำตาลทรายดิบ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และกิจการผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจำนวนทั้งสิ้น 8,573 โรง
การตลาดและการจำหน่าย
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 4.08 และ 29.94 ตามลำดับ (ตารางที่ 2) จากการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น ผักผลไม้ ประมงธัญพืชและแป้ง ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำตาล จากเศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวหลังผลกระทบจากบรรยากาศการบริโภค ที่ซบเซาและผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย ประกอบกับ รายได้ในภาคการผลิต ฟื้นตัวช่วยให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนปรับตัวเพี่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น
การค้าระหว่างประเทศ
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 6,508.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.21 (ตารางที่ 3) เนื่องจากการเพิ่มคำสั่งซื้อและราคาปรับเพิ่มขึ้นจากประเทศผู้นำเข้าในสินค้ากลุ่ม ผักผลไม้ ประมง อาหารอื่นๆ และปศุสัตว์ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 5.09 จากการส่งออกที่ลดลงในกลุ่มสินค้าประมง อาหารอื่นๆ และผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืช โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้
กลุ่มประมง ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,286.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.90 ด้วยมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังประเทศนำเข้าหลักเพิ่มขึ้นอาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เนื่องจากระดับราคาปลาทูน่ากระป๋องที่เพิ่มสูงขึ้นแม้ปริมาณส่งออกจะลดลงก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 18.37 จากอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง (กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง) อาหารทะเลกระป๋อง (ปลาทูน่ากระป๋องและปลาซาร์ดีนกระป๋อง) เนื่องจากความต้องการของประเทศนำเข้าลดลง
กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 754.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 เนื่องจากความต้องการไก่แช่เย็นแช่แข็งและไก่ปรุงสุกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะไก่ปรุงสุกที่ได้รับอานิสงค์จากปัญหาไข้หวัดนกที่ระบาดในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ทำให้ผู้นำเพิ่มการนำเข้าจากไทยมากขึ้น อีกทั้งคู่แข่งอย่างบราซิลประสบปัญหาด้านคุณภาพสินค้าทำให้ผู้นำเข้าระงับการนำเข้าสินค้า เป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมส่งออกไก่ไทยชัดเจน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 7.05 เนื่องจากความต้องการนำเข้าชะลอตัวลง
กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,041.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 12.45 และ 2.05 จากการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งอย่าง ลำไย มะม่วง และมังคุดไปยังประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนที่เพิ่มคำสั่งซื้อและระดับราคาเพิ่มขึ้น
กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,389.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 3.30 และ 5.68 เนื่องจากราคามันเส้นปรับชะลอตัวลง เนื่องจากนโยบายการลดการใช้แอลกอฮอล์ รวมทั้งโรงงานเอทานอลมีการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบจากมันเส้นมาใช้ข้าวโพดเนื่องจากต้นทุนด้านราคา
กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออกรวม 604.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.20 เนื่องจากปริมาณส่งออกลดลงมากในประเทศคู่ค้าอย่าง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และจีน แม้ระดับราคาน้ำตาลตลาดส่งออกที่อิงกับราคาตลาดโลกในฤดูกาลหีบอ้อยปี 2559/60 (พ.ย. 59-ต.ค. 60) ปรับตัวขึ้นกว่าร้อยละ 30 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.54 เนื่องจากเป็นช่วงออกผลผลิต
กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออกรวม 431.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.46 เนื่องจากการส่งออกสิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์นม หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และซุปและอาหารปรุงแต่งแต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 7.35 เป็นผลจากความต้องการปรับชะลอตัวลง
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้ารวม 3,633.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.31 (ตารางที่ 4) โดยมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบสำคัญทุกกลุ่มเพิ่มขึ้น ได้แก่ มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันพืชและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มการนำเข้ากากพืชน้ำมัน และเมล็ดพืชน้ำมัน เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงขึ้น มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มระดับราคาปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งมากขึ้น แม้ปริมาณการนำเข้าจะปรับลดลง และมูลค่าการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมปรับตัวเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมนมและอุตสาหกรรมอาหารอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น และเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.10 เนื่องจากการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม และกากพืชน้ำมัน
สรุปและแนวโน้ม
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 144.89 ปัจจัยหลักเป็นผลจากการเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาลปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 1.36 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.42 จากปริมาณสินค้า ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม และน้ำตาล เป็นต้น เนื่องจากการผลิตเพื่อรองรับผลผลิตออกสู่ตลาดของสินค้าเกษตรที่สำคัญ ประกอบกับความต้องการบริโภคในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.21 จากการประเทศคู่ค้าเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าประมง ปศุสัตว์ อาหารอื่นๆ และผักและผลไม้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวดลงร้อยละ 5.09 เนื่องจากการส่งออกสินค้าประมง อาหารอื่นๆ ปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืชลดลง
ประมาณการการผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาส 2 ปี 2560 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.5 เนื่องจากการผลิตสินค้าน้ำตาลที่ลดลงด้วยผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2559/60 ลดลงกว่าฤดูการผลิตปี 2558/59 และการผลิตแป้งมันสำปะหลังปรับตัวลดลงจากระดับราคาและคำสั่งซื้อของประเทศนำเข้าลดลง ขณะที่สินค้ากลุ่มสำคัญอื่นๆ เช่น ผักและผลไม้ ปศุสัตว์ และประมง การผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.3 เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น สินค้าผักและผลไม้ (สับปะรดกระป๋อง และข้าวโพดหวานกระป๋อง) สินค้าปศุสัตว์ (ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป) ที่เพิ่มคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้าทั้งญี่ปุ่นและยุโรปที่ความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้นรวมถึงเกาหลีใต้และตลาดสิงคโปร์ได้เปิดนำเข้าไก่แช่เย็นแช่แข็งจากไทยเนื่องจากประเทศคู่ค้าหลายประเทศประสบปัญหาไข้หวัดนก และประเทศคู่แข่งประสบปัญหาด้านคุณภาพ และสินค้าประมง (กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง และทูน่ากระป๋อง) ได้รับผลดีจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลดีจากสหรัฐฯ ที่ปรับระดับการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้นจาก Tier 3 เป็น Tier 2
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--