ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 13, 2017 15:31 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่น) ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมรถยนต์

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เดือนพฤษภาคม ปี 2560 ขยายตัวเนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น สำหรับ HDD การส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมรถยนต์ เดือนพฤษภาคม ปี 2560 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เดือนพฤษภาคม ปี 2560 ขยายตัวจากไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากความต้องการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การแจ้งประกอบกิจการและการจำหน่ายทะเบียนโรงงาน เดือนพฤษภาคม 2560 มีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการจำนวน 364 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2560 ร้อยละ 31.9 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 186.8 และมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 131.0 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรม ผลิต ประกอบ เครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวกึ่งนำ จำนวนเงินทุน 14,380.62 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 ร้อยละ 14.5 สำหรับโรงงานที่จำหน่ายทะเบียนโรงงานมีจำนวน 103 ราย มากกว่าเดือนเมษายน 2560 ร้อยละ 94.3 และมากกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 49.3

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเดือนพฤษภาคม 2560 การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ มีมูลค่า 1,538.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องจักรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ เครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ และเครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ ที่ขยายตัว

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 7,169.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 21.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าเคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายตัว

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเดือนพฤษภาคม 2560 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 11,068.0 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาร้อยละ 10.5 ที่ปริมาณ 10,015.1 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง แต่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 0.4 ที่ปริมาณ 11,111.6 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงหากพิจารณาแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า กิจการขนาดเล็กและกลางมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาแต่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ส่วนกิจการขนาดใหญ่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาและจากช่วงเดียวกันของปี 2559

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนพฤษภาคม 2560 เปรียบเทียบกับประเทศสำคัญในเอเชีย

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 1.4 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลด้านบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เช่น การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น

ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันขยายตัวร้อยละ 2.0

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้คงที่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนพฤษภาคม 2560 ยังไม่มีการเผยแพร่ โดยในเดือนเมษายน 2560 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 6.7 และ 6.4 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2560

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2560 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 364 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2560 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 276 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 31.9 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 36,286 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2560 ซึ่งมีการลงทุน 12,653 ล้านบาท ร้อยละ 186.8 และมีการจ้างงานจำนวน 12,575 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2560 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 5,444 คน ร้อยละ 131.0

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 318 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 14.5 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีการลงทุน 14,653 ล้านบาท ร้อยละ 147.6 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,858 คน ร้อยละ 60.0

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2560 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน จำนวน 28 โรงงาน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 20 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2560 คือ อุตสาหกรรม ผลิต ประกอบ เครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวกึ่งนำ จำนวนเงินทุน 14,380.62 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์ จำนวนเงินทุน 2,954.28 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2560 คือ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบ เครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวกึ่งนำ จำนวนคนงาน 3,611 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการเลื่อย ไส ซอย เซาะร่อง หรือการแปรรูปไม้ จำนวนคนงาน 886 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2560 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 103 ราย มากกว่าเดือนเมษายน 2560 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 53 ราย คิดเป็นร้อยละ 94.3 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 10,021.2 ล้านบาท มากกว่าเดือนเมษายน 2560 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 708.2 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 2,595 คน มากกว่าเดือนเมษายน 2560 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 702 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 69 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 49.3 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2559 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 8,237 ล้านบาท มีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2559 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 1,452 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2560 คือ อุตสาหกรรมโรงงานทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งในอาคารจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ จำนวน 10 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการสี ฝัด หรือขัดข้าว จำนวน 7 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2560 คือ อุตสาหกรรมการทำน้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาว เงินทุน 8,100 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน เงินทุน 352.9 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2560 คือ อุตสาหกรรมการทำน้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาว จำนวนคนงาน 550 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมโรงงานหมัก ชำแหละ อบ ปนหรือบด ฟอก ขัดและแต่งสำเร็จ หนังสัตว์จำนวนคนงาน 266 คน
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิต และมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกที่ความต้องการบริโภคขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น

1. การผลิต

ภาวการณ์ผลิตกลุ่มสินค้าอาหารเดือนพฤษภาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.4 แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ สับปะรดกระป๋อง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง และแป้งมันสำปะหลัง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 74.6 21.6 และ 20.9 ตามลำดับ เนื่องจากวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศคือ น้ำมันปาล์ม ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารสัตว์ (ไก่) การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.1 11.9 และ 3.8 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศเดือนพฤษภาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.0 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเดือนพฤษภาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.9 ในกลุ่มสินค้าที่สำคัญ เช่น น้ำตาล ไก่แช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าว ข้าวโพดหวานกระป๋องและปลาทูน่ากระป๋อง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 46.5 42.9 16.8 14.2 11.6 และ 6.0 ตามลำดับ เนื่องจากการเพิ่มคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้า ทำให้ระดับราคาปรับเพิ่มขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
"การผลิตกลุ่มสิ่งทอหดตัวเล็กน้อยตามสัดส่วนการผลิตที่รองรับความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ ในส่วนการส่งออกสิ่งทอยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 "

1.การผลิต

  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนการผลิตกลุ่มเส้นใยสิ่งทอในภาพรวมหดตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.5 โดยลดลงในส่วนการผลิตเส้นใย และเส้นด้ายที่รองรับความต้องการในประเทศที่ลดลง ในขณะที่การผลิตผ้าผืนเพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเคหะสิ่งทออื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.1 ตามความต้องการใช้ภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกที่ขยายตัว
  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เพื่อรองรับการจำหน่ายในประเทศ และ การส่งออก โดยเป็นการผลิตเสื้อผ้าประเภทชุดนักศึกษาเพื่อจำหน่ายในประเทศ และผลิตเสื้อผ้าบุรุษและสตรีเพื่อการส่งออก

2.การจำหน่าย

  • การจำหน่ายในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนผลิตภัณฑ์กลุ่มเส้นใยสิ่งทอในภาพรวมลดลง ร้อยละ 4.0 เนื่องจากเส้นใยสิ่งทอส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก สำหรับผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัว ร้อยละ 7.7 และ 16.0 ตามลำดับ โดยสินค้าที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็นสินค้าในกลุ่ม ผ้าทอ เสื้อผ้าประเภทชุดนักศึกษา เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนในช่วงเดือนกรกฎาคม
  • การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัว ร้อยละ 4.1 9.9 และ 3.0 ตามลำดับ โดยสินค้าเส้นใยประดิษฐ์ในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ขยายตัว ร้อยละ 10.4 ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สำหรับผ้าผืน ขยายตัวในกลุ่มผ้าผืนที่ทำจากฝ้าย และผ้าผืนที่ทำจากเส้นใยประดิษฐ์ โดยตลาดหลักที่ขยายตัว ได้แก่ เวียดนาม และ เมียนมา เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในตลาดดังกล่าวขยายตัว ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัวจากการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กใน เดือนพฤษภาคม 2560 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 120.76 มีอัตราการเปลี่ยนแปลง ลดลงร้อยละ 17.15 โดยเป็นการลดลงเดือนแรก หลังจากที่เพิ่มขึ้น 9 เดือน ติดต่อกันในก่อนหน้านี้ (สิงหาคม 2559-เมษายน 2560) เนื่องจากผู้จำหน่ายในประเทศชะลอคำสั่งซื้อจากโรงงาน ส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศลดปริมาณการผลิตลง การบริโภคในประเทศมีปริมาณ 1.29 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 34.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลง 5 เดือนติดต่อกัน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560-พฤษภาคม 2560 การนำเข้ามีปริมาณ 0.99 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 22.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกมีปริมาณ 0.15 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 โดยเป็นการเพิ่มขึ้น 6 เดือนติดต่อกัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559-พฤษภาคม 2560 โดยสามารถแบ่งตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ ดังนี้

  • ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีค่า 123.05 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.12 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.23 โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งมอบให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่จากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การบริโภคเหล็กทรงแบนในประเทศ ประมาณ 898,919 ตัน ลดลง ร้อยละ 21.5 โดยเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ลดลงร้อยละ 65.7 รองลงมาคือเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลงร้อยละ 21.9 สำหรับการนำเข้า มีปริมาณ 757,145 ตัน ลดลงร้อยละ 22.4 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน (Alloy steel) ลดลงร้อยละ 89.4 และการส่งออกมีปริมาณ 53,085 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.6 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น (Alloy steel) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8,304.9
  • ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีค่า 115.55 ลดลงร้อยละ 35.20 โดยเหล็กเส้นกลม ลดลงร้อยละ 47.43 เนื่องจากในปีนี้มีฝนตกชุก และตกเร็วกว่าปีก่อน ทำให้การก่อสร้างทำได้ล่าช้ากว่าปกติ รองลงมาคือ เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 37.09 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การบริโภคเหล็กทรงยาวในประเทศ ประมาณ 395,963 ตัน ลดลงร้อยละ 52.0 โดยเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลดลงร้อยละ 66.0 สำหรับการนำเข้า มีปริมาณ 228,163 ตัน ลดลงร้อยละ 21.2 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (Alloy steel) ลดลง ร้อยละ 99.6 การส่งออก มีปริมาณ 96,243 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.5 โดยท่อไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้นร้อยละ 357

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนมิถุนายน 2560 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนี้ เหล็กแท่งเล็ก (Billet) เพิ่มขึ้นจาก 73.17 เป็น 93.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.81 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 75.53 เป็น 87.36 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.66 เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 80.23 เป็น 92.44 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.22 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 80.00 เป็น 89.87 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.34 และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 85.04 เป็น 92.64 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.94

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2560 ขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกยังคงชะลอตัว

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 169,495 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีการผลิต 168,394 คัน ร้อยละ 0.65 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 66,425 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีการจำหน่าย 66,035 คัน ร้อยละ 0.59 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 90,092 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีการส่งออก 99,547คัน ร้อยละ 9.50 โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2560 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ

1. การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 191,176 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีการผลิต 146,767 คัน ร้อยละ 30.26 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

2. การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 188,881 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีการจำหน่าย 165,644 คัน ร้อยละ 14.03 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด101-125 ซีซี ขนาด 126-150 ซีซี และขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 151 ซีซี

3. การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 24,525 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีการส่งออก 26,290 คัน ร้อยละ 6.71 โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศเนเธอร์แลนด์ญี่ปุ่นและเบลเยียม

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภาพรวมของเดือนพฤษภาคม 2560 ชะลอตัวลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนภาคก่อสร้างประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝน สำหรับการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) เดือนพฤษภาคม 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ร้อยละ 17.4 และ 16.1 ตามลำดับเนื่องจากเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่มากนักประกอบกับการเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้วจึงทำให้การก่อสร้างหรือการซ่อมแซมบ้านเรือนชะลอตัวลง

2. การส่งออก

การส่งออกรวมของปูนซีเมนต์ในเดือนพฤษภาคม 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.03 จากตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ กัมพูชา บังคลาเทศ และเมียนมา ตามลำดับ รวมมูลค่า 33.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 60.8 ของมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ทั้งหมดของไทย

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนพฤษภาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.00 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 1.85 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตเครื่องปรับอากาศ พัดลม และกระติกน้ำร้อน ปรับตัวลดลง ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.88 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากการผลิต Semiconductor, IC และ HDD ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤษภาคม 2560 มีดัชนีผลผลิต อยู่ที่ระดับ 125.68 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 141.35 ลดลงร้อยละ 1.85 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลง คือ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต พัดลม ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน และสายไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 6.48, 2.70, 21.09, 5.73, 19.06, 26.78 และ 6.27 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการผลิตเครื่องปรับอากาศบางรายลดปริมาณการผลิตลง ส่งผลให้การจำหน่ายในประเทศลดลงและส่งออกไปตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 115.91 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.88 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมาจาก Semiconductor, Monolithic IC, Other IC และ HDD เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.21, 1.43, 12.92 และ 14.69 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น สำหรับ HDD มีการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤษภาคม 2560 มีมูลค่า5,153.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.60 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 2,079.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.98 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.63, 35.20, 23.01, 13.85 และ 5.21 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 420.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.24 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน ลดลงร้อยละ 19.31, 6.25, 2.66 และ 2.37 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ รองลงมาคือ กล้องถ่ายบันทึกภาพและส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออก 153.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75.66 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน จีน และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 99.61, 96.29, 86.46, 72.66 และ 60.99 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,073.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.44 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.40, 16.90, 15.23, 14.38 และ 2.59 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,148.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.04 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.73, 7.26, 5.66, 5.45 และ 1.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ รองลงมา คือ วงจรรวม (IC) มีมูลค่าส่งออก 696.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.88 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน อาเซียน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.24, 32.49, 27.88, 17.79 และ 7.81 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ