สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2560 (เมษายน - มิถุนายน) พ.ศ. 2560 (เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 30, 2017 15:59 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจไทย

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยปัจจัยที่ทำให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 คือ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของภาคเกษตร ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตพืชผลสำคัญหลายชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน รวมถึงราคาสินค้าเกษตรโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขณะที่ภาคนอกเกษตรชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการชะลอตัวของสาขาอุตสาหกรรม และก่อสร้าง สำหรับภาคบริการโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ด้านอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวสูงขึ้นรวมทั้งการขยายตัวของการใช้จ่ายครัวเรือนตามการขยายตัวของการใช้จ่ายบริโภคสินค้าคงทน และรายจ่ายภาคบริการ สำหรับภาคต่างประเทศ การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกสินค้าและบริการตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักและการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.2 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ที่หดตัวร้อยละ 0.2 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมชะลอตัวจากไตรมาสที่ 4 ปี 2559 เนื่องจากการลดลงของการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ และการหดตัวต่อเนื่องของกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่หดตัวตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ลดลง อย่างไรก็ตามอุตสากรรมเพื่อการส่งออกหลายรายการมีการปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น อุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.3-3.8 จากปี 2559 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 พบว่าตัวชี้วัดที่มีการปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ได้แก่ ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ตัวชี้วัดที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีการส่งสินค้า และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2559 มูลค่าการส่งออกในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 7.8 (ม.ค.-มิ.ย.60) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์ และส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 109.0 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (115.9) ร้อยละ 5.9 และลดลงไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (109.1) ร้อยละ 0.1

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ และการผลิตยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ได้แก่ การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตเครื่องประดับและเพชรพลอย การผลิตยานยนต์ การผลิตเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน และการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 0.2 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีขยายตัว ได้แก่ การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ การผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า และการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 105.3 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (110.6) ร้อยละ 4.8 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (107.0) ร้อยละ 1.6

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่ การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ การผลิตเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และการผลิตสุรากลั่น เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ได้แก่ การผลิตเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด การผลิตเครื่องประดับและเพชรพลอย การผลิตยานยนต์ และการผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 0.9 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลง ได้แก่ การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ การผลิตเครื่องประดับและเพชรพลอย การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ และการผลิตเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 106.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (105.7) ร้อยละ 0.5 และจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (103.0) ร้อยละ 3.0

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่ การผลิตเครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน การผลิตน้ำมันพืช และการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ได้แก่ การผลิตเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตน้ำมันพืช การผลิตผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 0.4 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน การผลิตน้ำมันพืช และการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 59.0 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 62.6) แต่ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (ร้อยละ 58.9)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ การผลิตยานยนต์ และการผลิตสตาร์ชและผลิตภัณฑ์จากสตาร์ช เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ได้แก่ การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ การผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ และการผลิตน้ำมันพืช เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ การผลิตเครื่องประดับและเพชรพลอย การผลิตผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ และการผลิตเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเฉลี่ยรวมมีค่า 75.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (75.7) และไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (72.3) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนีได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ทั้ง 3 ดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2559

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่การส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้นการปรับตัวลดลงของระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก ประกอบกับเกษตรกรยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคไม่ฟื้นตัวมากนักนอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการดำเนินนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจของไทย

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 มีค่า 64.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (64.2) และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่สูงมากนักเนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังมีการฟื้นตัวไม่ชัดเจน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 มีค่า 70.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสผ่านมา (70.3) และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงาน โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำจะยังไม่ดีมากนักตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ดัชนีความเชื่อมั่นในผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 มีค่า 92.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (92.6) และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงผู้บริโภคเห็นว่ารายได้ในอนาคตมีโอกาศปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าจะมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกสถานการณ์ด้านราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้า

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 มีค่าเท่ากับ 50.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (50.8) และไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (50.0) โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ดัชนีโดยรวมมีค่าสูงกว่า 50 แสดงว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการส่งออก เช่น กลุ่มการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามภาวะการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง สำหรับดัชนีที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ การจ้างงานของบริษัท และต้นทุนการผลิต

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ดัชนีโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อ การลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัท และการผลิตของบริษัท

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 85.5 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (87.0) และจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 (85.6) การที่ค่าดัชนียังอยู่ระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่าภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นเป็นรายเดือน จะเห็นว่าดัชนีในเดือนมิถุนายน 2560 ยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.5 ในเดือนพฤษภาคม 2560 และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 โดยค่าดัชนีที่ปรับลดลงเป็นผลมาจากการลดลงขององค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2560 ลดลงคือ จากความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศจากการระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้การดำเนินกิจการของภาคธุรกิจชะลอตัวลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้เกรงว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และให้ความรู้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงช่องทางการตลาดในต่างประเทศเสนอให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน แก้ไขปัญหาผังเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) สนับสนุนให้การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐใช้สินค้าของผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น และเสนอให้ภาครัฐออกกฎหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสามารถปฏิบัติได้มีการพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2560 อยู่ที่ระดับ 160.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2560 ร้อยละ 1.17 ที่ระดับ 159.0 ตามการขยายตัวของเงินทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง ณ ราคาคงที่ และ ดัชนีส่วนกลับราคาน้ำมัน

สำหรับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 มีค่าเฉลี่ย 159.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.76 จากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 156.3

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน 2560 อยู่ที่ระดับ 129.4 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม 2560 ร้อยละ 0.13 ที่ระดับ 129.5 ตามการขยายตัวของการนำเข้า ณ ราคาคงที่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

สำหรับดัชนีพ้องเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 มีค่าเฉลี่ย 129.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.37 จากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 128.8

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 5) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 มีค่าเท่ากับ 120.12 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 116.33 และไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ที่ระดับ 117.64 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าในทุกกิจการ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ การนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ณ ราคาคงที่ปริมาณการจำหน่ายเบียร์ การนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ พบว่า ไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 124.04 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 124.34 และไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ที่ระดับ 124.27

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศและปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2559

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559

ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส ที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2559

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ พบว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 100.60 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 100.62 แต่เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ที่ระดับ 100.50 การที่ราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปลาและสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป รวมทั้งกลุ่มอาหารสดและพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 มีค่าเท่ากับ 102.2 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 103.2 แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่ระดับ 102.1 โดยดัชนีในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมปรับตัวลดลงจากที่ไตรมาสที่ผ่านมาและช่วงเดียวกันของปี 2559 ส่วนผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นช่วงเดียวกันของปี 2559

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สองของปี 2560 (ข้อมูลเดือนมิถุนายน2560) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.82 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 38.31 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.68 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.414 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.07)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่สองของปี 2560 มีจำนวน 5.965 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 15.57 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปี 2559 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องประกอบกับเริ่มมีสัญญานบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญรวมทั้งราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นสำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 2 นี้อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้า โดยมีมูลค่า 2,917.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนร้อยละ 2.21 และช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 13.08 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นที่เริ่มส่งผลให้การส่งออกและการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าทั้งสิ้น 111,261.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 57,090.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 54,172.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯสำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 2 นี้อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้า โดยมีมูลค่า 2,917.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าเปรียบเทียบรายเดือน ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 พบว่ามูลค่าการส่งออกเดือนพฤษภาคม มีอัตราขยายตัวสูงสุดร้อยละ 13.2 คิดเป็นมูลค่า 19,944.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาเดือนมิถุนายน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 11.8 คิดเป็นมูลค่า 20,281.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเดือนเมษายน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 8.5 คิดเป็นมูลค่า 16,864.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับมูลค่าการนำเข้าพบว่าเดือนพฤษภาคม มีอัตราการขยายตัวสูงสุดร้อยละ 18.2 คิดเป็นมูลค่า 19,000.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาเดือน

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทยการลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมมีมูลค่ารวม 53,862.2 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนเมษายนมีมูลค่า 17,926.66 ล้านบาท และเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 35,935.54 ล้านบาท เมื่อพิจารณาข้อมูลการลงทุนภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนของในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 พบว่ามูลค่าการลงทุนรวมสุทธิ 8,439.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 166 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการลดการลงทุนมากกว่าการลงทุนเพิ่ม มูลค่า 18,403.38 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมของภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน มีการลดการลงทุนมากกว่าการลงทุนเพิ่มมูลค่า 1,219.45 ล้านบาท และเดือนพฤษภาคม มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 9,712.67 ล้านบาท

ในช่วง 2 เดือนของไตรมาสที่ 2 ปี 2560 การลงทุนในกิจกรรมทางการเงินและการประกันภัยเป็นสาขาที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิมากที่สุด เป็นเงินลงทุน 16,654.6 ล้านบาท รองลงมาเป็นกิจกรรมการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยนต์ เป็นเงินลงทุน 9,906.4 ล้านบาท กิจกรรมการผลิตหรือภาคอุตสาหกรรม เป็นเงินลงทนสุทธิ 8,493.2 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการเคมีภัณฑ์มีมูลค่าการลงทุน 6,258.1 ล้านบาท รองลงมาคือสาขาการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น มีมูลค่า 5,426.4 ล้านบาท การผลิตยางและพลาสติก มีมูลค่า 5,144.5 ล้านบาท การผลิตถ่านโค้กและปิโตรเลียม มีมูลค่า 5,056.7 ล้านบาท และการผลิตกระดาษ มีมูลค่า 1,325.7 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในช่วง 2 เดือนของไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ได้แก่ประเทศสิงคโปร์มีเงินลงทุนสุทธิ 25,654.9 ล้านบาท รองลงมาคือกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศเยรมันนีโดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 25,115.1 ล้านบาท และ 10,474.5 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) (เนื่องจากข้อมูลอยู่ระหว่างการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอ : ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2560)โดยพบว่าในช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม - กุมภาพันธ์) ของไตรมาสที่ 1 ปี 2560 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 202 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนในกิจการต่าง ๆ ทั้งสิ้น 55,280 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 67 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 19,850 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ จำนวน 47 โครงการ เป็นเงินลงทุน 14,030 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 88 โครงการ เป็นเงินลงทุน 21,390 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุน 26,830 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีเงินลงทุน 16,180 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร มีเงินลงทุน 4,880 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ปี 2560 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือเนเธอร์แลน โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 6 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 13,305 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศญี่ปุ่น มีจำนวน 29 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 5,121 ล้านบาท ประเทศมาเลเซียมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 3 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1,484 ล้านบาท และประเทศสิงคโปร์ มีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1,325 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ