สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1
อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 2ปี 2560ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 1.84 และดัชนีส่งสินค้าทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน(ตารางที่ 1 และ 2) การส่งออกและการนำเข้าลดลงร้อยละ 9.34 และ 5.00ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3 และ 4) ทั้งนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียน ยังคงมีความเปราะบาง ส่งผลต่อปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก แต่หากคิดในด้านมูลค่าแล้ว มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ที่ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออก ส่วนครึ่งปีหลังของปี 2560 คาดว่าอุตสาหกรรมพลาสติกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกบวกกับแนวโน้มการอ่อนตัวของค่าเงินเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ความต่อเนื่องและความชัดเจนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐแต่ยังมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
การตลาดและการจำหน่าย
การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926)ไตรมาส 2 ปี 2560มีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 249,732.00 ตัน ลดลงร้อยละ 9.34 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และลดลงร้อยละ 10.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนกลุ่มสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (3916) กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (3918) กลุ่มผลิตภัณฑ์หลอดหรือท่อ (3917)และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประกอบของอาคาร (3925)
- กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926)มีปริมาณการส่งออก 9,661.09 ตัน ลดลงร้อยละ 65.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 65.60 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 39.56
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (3916) มีปริมาณการส่งออก 187.19 ตัน ลดลงร้อยละ 59.77 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 20.99 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ จีน และเมียนมาร์คิดเป็นร้อยละ 33.16 และ 29.37 ตามลำดับ
- กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (3918) มีปริมาณการส่งออก 8,243.28 ตัน ลดลงร้อยละ 31.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.18 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่เมียนมาร์อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ คิดเป็นร้อยละ 13.17 12.42 และ 10.90 ตามลำดับ
- กลุ่มผลิตภัณฑ์หลอดหรือท่อ (3917)มีปริมาณการส่งออก 6,764.71 ตัน ลดลงร้อยละ 28.49 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.59 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 11.75 11.37 8.90 และ 8.30 ตามลำดับ
- กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประกอบของอาคาร (3925)มีปริมาณการส่งออก 2,211.12ตัน ลดลงร้อยละ 10.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 6.26 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 37.49 และ 11.66 ตามลำดับ
การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926)ไตรมาส 2 ปี 2560มีปริมาณการนำเข้ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 167,068.55 ตัน ลดลงร้อยละ 5.00 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และลดลงร้อยละ 1.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนโดยกลุ่มสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการนำเข้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (3916) กลุ่มผลิตภัณฑ์หลอดหรือท่อ (3917) และกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่น ๆ ชนิดยึดติดในตัว (3919)
- กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) มีปริมาณการนำเข้า 11,864.87 ตัน ลดลงร้อยละ 62.02 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 58.45 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีนและญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 32.06 และ 28.78 ตามลำดับ
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (3916) มีปริมาณการนำเข้า 2,834.81 ตัน ลดลงร้อยละ 21.95 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.36 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน และสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 52.66 และ 12.05 ตามลำดับ
- กลุ่มผลิตภัณฑ์หลอดหรือท่อ (3917) มีปริมาณการนำเข้า 8,841.79 ตัน ลดลงร้อยละ 11.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 13.58 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ จีน และญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 30.86 และ 18.68 ตามลำดับ
- กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่น ๆ ชนิดยึดติดในตัว (3919) มีปริมาณการนำเข้า 14,260.33 ตัน ลดลงร้อยละ 7.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.71 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 26.25 23.61 และ 13.51 ตามลำดับ
ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในรูปแบบการบริหารนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (S-Curve) ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาและยกระดับการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนอุตสาหกรรมพลาสติกทั้งห่วงโซ่อุปทาน (SuppIy Chain) และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ คาดว่าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เพิ่มขึ้น และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น มาตรการทางภาษี รวมทั้งการบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาคบังคับกับผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารและเครื่องดื่มคาดว่าจะทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและการบริโภคพลาสติกภายในประเทศเพิ่มขึ้น
สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและแนวโน้ม
ภาวะอุตสาหกรรมพลาสติกครึ่งปีแรกของ ปี 2560พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมลดลงร้อยละ 2.21 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2ปี 2559เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงของประเทศคู่ค้าโดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่นลดลงร้อยละ 8.92 3.47 และ 2.99 ตามลำดับ ส่วนดัชนีส่งสินค้าของอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมลดลงร้อยละ 0.43 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2ปี 2559โดยลดลงจากการส่งสินค้าเกือบทุกประเภท ยกเว้นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำซึ่งสินค้าที่มีดัชนีการส่งสินค้าลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่นผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มพลาสติก ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก และผลิตภัณฑ์กระสอบพลาสติก ลดลงร้อยละ 3.101.520.24 และ 0.09 ตามลำดับ
การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกครึ่งปีแรกของ ปี 2560มีปริมาณการส่งออกเท่ากับ 529,247.37 ตัน ลดลงร้อยละ 4.11 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของ ปี 2559แต่หากคิดเป็นมูลค่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.97 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของ ปี 2559 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 2,038.203 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลต่อปริมาณการส่งออกครึ่งปีแรกของ ปี 2560ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (3916) กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (3918) กลุ่มผลิตภัณฑ์หลอดหรือท่อ (3917) และกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926)ลดลงร้อยละ 60.71 34.78 33.91 และ 31.55 ตามลำดับ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนปริมาณการส่งออกสำคัญครึ่งปีแรกของ ปี 2560ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม ฟอยล์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของอื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) คิดเป็นร้อยละ 39.12 34.88 และ 7.13 ตามลำดับ ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด
การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกครึ่งปีแรกของ ปี 2560มีปริมาณการนำเข้ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 336,965.36 ตันลดลงร้อยละ 1.67เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของ ปี 2559 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 2,059.306 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.86เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของ ปี 2559 โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลต่อปริมาณการนำเข้าครึ่งปีแรกของ ปี 2560ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926)กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (3916) และกลุ่มผลิตภัณฑ์หลอดหรือท่อ (3917) ลดลงร้อยละ 33.45 11.02 และ 10.57 ตามลำดับ และผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนปริมาณการนำเข้าสำคัญครึ่งปีแรกของ ปี 2560 ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (3918) กลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) และกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม ฟอยล์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) คิดเป็นร้อยละ 37.05 21.66 และ 10.86 ตามลำดับ ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
แนวโน้มครึ่งปีหลังของ ปี 2560คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสำคัญจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แนวโน้มการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนซึ่งส่งผลต่อการลงทุนภายในประเทศ และ คาดว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้นแต่ยังมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--