สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2560 (เมษายน - มิถุนายน) พ.ศ. 2560 (อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 1, 2017 14:44 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2

0-2202-4383

สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 2 ปี 2560 การผลิตกลุ่มสิ่งทอขยายตัวตามทิศทางการส่งออกไปยังตลาดหลักในอาเซียนประกอบกับผู้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์รายใหญ่เพิ่มกำลังการผลิตในส่วนเส้นใยสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อเจาะตลาดต่างประเทศ สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ภาพรวมขยายตัวจากความต้องการสินค้าในประเทศ ด้านการส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการส่งออกกลุ่มสิ่งทอไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกับทิศทางการนำเข้าที่ขยายตัวโดยเฉพาะการนำเข้าขนแกะจากออสเตรเลียซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

กลุ่มสิ่งทอ การผลิตในไตรมาส 2 ปี 2560 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ขยายตัวร้อยละ 0.56เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตาม ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดหลักในอาเซียนที่ขยายตัวประกอบกับผู้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์รายใหญ่เพิ่มกำลังการผลิตในส่วนเส้นใยสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เพื่อเจาะตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับลดลง ร้อยละ 3.44 ตามปริมาณความต้องการในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลง ร้อยละ 8.18 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาในส่วนการผลิตและการจำหน่ายเส้นด้ายในประเทศ พบว่า ลดลง ร้อยละ 4.98 และ 11.94 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับซึ่งเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อของตลาดหลัก เช่น เกาหลีใต้ ประกอบกับมีการใช้เส้นด้ายนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

สำหรับการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) มีการผลิตลดลง ร้อยละ 2.90และ 9.51เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับสอดคล้องกับการจำหน่ายในประเทศที่หดตัวร้อยละ8.59 และ 10.53 ตามลำดับ รวมถึงมีสินค้าคงคลังจากการนำเข้าผ้าผืนจำนวนมากในช่วงไตรมาสแรกของปี(ตารางที่ 1และ 2)

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 2 ปี 2560 พบว่า การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักในประเทศขยายตัว ร้อยละ 11.16 และ 9.05 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ จากความต้องการสินค้าในประเทศที่ขยายตัว ซึ่งพิจารณาได้จากดัชนีการส่งสินค้าที่ขยายตัว ร้อยละ 12.34 และ 8.12 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ รวมถึงเป็นการผลิตเพื่อรองรับการส่งออก สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง ร้อยละ1.51 และ 3.64เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาโดยเป็นผลมาจากการผลิตผ้าทอเครื่องแต่งกายชั้นในสตรีและเด็กหญิงที่ลดลงตามการส่งออก รวมถึงการจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอในประเทศที่ทรงตัว สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่ทรงตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลง ร้อยละ 4.31 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาในเครื่องแต่งกายชั้นนอกสตรีและเด็กหญิง

การประกอบกิจการโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 2 ปี 2560พบว่า มีโรงงานประกอบกิจการใหม่ จำนวน 12โรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานประกอบกิจการทอหรือการเตรียมเส้นด้ายยืนสำหรับการทอ7 โรงงาน หรือคิดเป็น ร้อยละ 58 นอกจากนี้เป็นโรงงานถักผ้า 2โรงงานเคหะสิ่งทอประเภทเต็นท์และผ้าใบ 1 โรงงาน และโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป 1 โรงงาน โดยโรงงานที่ประกอบกิจการใหม่ มีการจ้างแรงงานรวม 1,088คน สำหรับโรงงานที่ขอยกเลิกกิจการ มีจำนวน 14 โรงงาน เป็นโรงงานประกอบกิจการตัดหรือการเย็บเครื่องนุ่งห่มฯ กิจการทอหรือการเตรียมเส้นด้ายยืนสำหรับการทอ และการถักผ้า

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ไตรมาส 2 ปี 2560อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1,640.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.08 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน(ตารางที่ 3) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดหลักได้แก่อาเซียน และสหภาพยุโรป และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.51ในตลาดหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาสำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่

1. กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 1,044.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.07 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนในผลิตภัณฑ์ผ้าผืนเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าปักและผ้าลูกไม้ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าแบบฯ และสิ่งทออื่น ๆ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาหดตัวลงเล็กน้อยโดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 63.66ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญในไตรมาสนี้มีดังนี้

1) ผ้าผืนและด้ายมีมูลค่าการส่งออก 512.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยในส่วนของผ้าผืน มีมูลค่า326.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.18 จากการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนามเมียนมา และกัมพูชา ที่ยังต้องการสินค้าจากไทยรวมถึงผู้ประกอบการมีการปรับปรุงคุณภาพของผ้าผืนให้มีคุณภาพดีขึ้นและสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้นในส่วนด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 185.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 1.69 ซึ่งลดลงจากการส่งออกไปยังตลาดจีนโดยมีปัจจัยจากการที่จีนเข้าไปลงทุนในสิ่งทอต้นน้ำในเวียดนามอาจทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง

2) เคหะสิ่งทอมีมูลค่าการส่งออก 61.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.52 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดยมีการส่งออกลดลงในตลาด ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยจึงส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเคหะสิ่งทอของไทยชะลอตัวและหันไปสั่งซื้อสินค้าจากจีนอย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาการส่งออกขยายตัว ร้อยละ 8.38 ในตลาดรองได้แก่ อินเดีย และเยอรมนี เนื่องจากการบริโภคภายในของคู่ค้าดังกล่าวขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี

3) เส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 191.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.34 และ 5.17 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับโดยเฉพาะในตลาดคู่ค้า อาทิ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย

4) สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 180.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.16 และ0.60เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับโดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 596.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.76 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรงฯ และถุงมือผ้า โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 36.34 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ

1) เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 513.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.14 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากการส่งออกในตลาดคู่ค้าสำคัญได้แก่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 12.56 และ 12.94 ตามลำดับ ในสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้ายจากใยประดิษฐ์ ไหม วัตถุทออื่น ๆ เครื่องยกทรงฯ และเสื้อผ้าเด็กอ่อน แต่หากเปรียบเทียบกับ ไตรมาสที่ผ่านมามูลค่าเพิ่มขึ้นในตลาดสำคัญได้แก่สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ร้อยละ 6.34 และ 6.32 ตามลำดับ ในสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย และใยประดิษฐ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความชัดเจนของมาตรการการนำเข้าสินค้าของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับหลายประเทศในสหภาพยุโรปมีภาวะเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น

2) เครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบ มีมูลค่าการส่งออก 52.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 7.79และ 7.19เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม สินค้าดังกล่าวยังขยายตัวได้ในตลาดรอง เช่น สหภาพยุโรป และเอเชีย

การนำเข้า

ไตรมาส 2ปี 2560 มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 1,194.34ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.85 และ 5.84 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา(ตารางที่ 4)โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 82.34เป็นกลุ่มสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มสิ่งทอไตรมาส 2ปี 2560มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 983.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.82 และ 8.11เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มสิ่งทอคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 82.34ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ในไตรมาสนี้ดังนี้

1.1ด้ายและเส้นใยมีมูลค่าการนำเข้า 454.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.14 และ 12.23 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยมีผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ ได้แก่

1)เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่าการนำเข้า 205.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 28.14 และ 16.90 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยตลาดที่ขยายตัวมากที่สุด คือ ออสเตรเลีย จากการนำเข้าขนแกะซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ

2) ด้ายทอผ้าและด้ายเส้นเล็ก มีมูลค่าการนำเข้า 193.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.64และ 8.37เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ ซึ่งมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าเพื่อเก็บเป็นสต๊อกสำหรับโรงงานที่มีการแจ้งประกอบกิจการใหม่ในไตรมาสนี้ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 58โดยตลาดนำเข้าสำคัญได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม

1.2 ผ้าผืน มีมูลค่าการนำเข้า 417.81ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.15 และ 5.57 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ขยายตัว โดยตลาดนำเข้าผ้าผืนที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม

1.3 ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆมีมูลค่าการนำเข้า 111.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.22 และ 2.07 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับโดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่นและเวียดนาม

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 2ปี 2560มีมูลค่าการนำเข้า 210.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสัดส่วนการนำเข้าคิดเป็นร้อยละ 17.66ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.03 โดยผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ ได้แก่เสื้อผ้าสำเร็จรูปแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 3.62 ซึ่งเป็นการนำเข้าลดลงในกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้แก่ชุดสูท ผลิตภัณฑ์เสื้อเชิ้ต/เบลาส์ แจ็กแก็ตและเสื้อเบลเซอร์ และกางเกง กระโปรงและเครื่องแต่งตัว โดยมีตลาดนำเข้าหลักได้แก่ จีน กัมพูชาเวียดนามและบังคลาเทศ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ขยายเวลาบังคับใช้ออกไป 6 เดือนโดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560 พระราชกำหนดฉบับนี้มุ่งเน้นการคุ้มครอง อำนวยความสะดวกให้กับทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าว การเพิ่มโทษนายจ้างที่กระทำผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและมีสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือนายจ้างจึงจำเป็นต้องศึกษาหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงาน ตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว และเตรียมตัวดำเนินการให้ถูกต้องอย่างเคร่งครัด

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 2 ปี 2560 การผลิตกลุ่มสิ่งทอขยายตัวตามทิศทางการส่งออกไปยังตลาดหลักในอาเซียนที่ขยายตัวประกอบกับผู้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์รายใหญ่เพิ่มกำลังการผลิตในส่วนเส้นใยสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เพื่อเจาะตลาดต่างประเทศ สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่มภาพรวมขยายตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักที่ขยายตัวจากความต้องการสินค้าในประเทศ สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอลดลงโดยเป็นผลมาจากการผลิตผ้าทอเครื่องแต่งกายชั้นในสตรีและเด็กหญิง

ภาพรวมการส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการส่งออกกลุ่มสิ่งทอ ซึ่งมีสัดส่วน ร้อยละ 63.66 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดในผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าผืนเส้นใยประดิษฐ์ผ้าปักและผ้าลูกไม้ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าแบบฯ และสิ่งทออื่น ๆ ในส่วนสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มการส่งออกมีมูลค่าลดลง สำหรับการนำเข้า ขยายตัวทั้งในกลุ่มสิ่งทอ และกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม โดยตลาดที่ขยายตัวมากที่สุด คือ ออสเตรเลีย จากการนำเข้าขนแกะซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ

แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมไตรมาส 3 ปี 2560 คาดว่าภาพรวมการผลิต การจำหน่ายในประเทศในกลุ่มผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอจะชะลอตัว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดในประเทศ และตลาดอาเซียนที่ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย

การส่งออกกลุ่มเส้นใยสิ่งทอฯ และผ้าผืน คาดว่า จะขยายตัวได้ในกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น จีน และ ญี่ปุ่น ที่ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะชะลอตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามเครื่องนุ่งห่มของไทยยังสามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนได้ดี

การนำเข้าด้ายและเส้นใยฯ คาดว่า จะเพิ่มขึ้นในกลุ่มเส้นใยสำหรับการทอเนื่องจากเป็นการเตรียมวัตถุดิบสำหรับผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในช่วงปลายปีในส่วนผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะนำเข้าลดลงจากการที่ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนและส่งเสริมด้านการออกแบบเสื้อผ้าที่มีดีไซน์ตรงใจผู้บริโภคและมีแบบให้เลือกหลากหลายมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ