สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2560 (เมษายน - มิถุนายน) พ.ศ. 2560 (อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 5, 2017 14:22 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2

0 2202 4383

อุตสาหกรรมการผลิตยาในภาพรวมยังขยายตัวได้โดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศในภาพรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนสำหรับการส่งออกมีการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเป็นการขยายตัวของตลาดเวียดนามเป็นหลัก

การผลิต

การผลิตยาในไตรมาสที่ 2ปี 2560 มีปริมาณรวม 10,468.22ตันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัวลงร้อยละ 6.97 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ2.94 ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตยาของไทยยังขยายตัวได้ โดยมีปริมาณการผลิตยาน้ำ ยาฉีด และยาครีม เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่บางรายสามารถกลับมาผลิตยาบางชนิดได้ตามเดิมจึงมีการเร่งผลิตทั้งเพื่อจำหน่ายและเก็บสต็อก

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 มีปริมาณ 10,078.72 ตัน หดตัวลงจากไตรมาส ก่อน ร้อยละ 6.77 ในขณะที่ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.24 ในภาพรวมการจำหน่ายยาในประเทศชะลอตัวลง โดยมีปริมาณการจำหน่ายยาน้ำ ยาแคปซูล และยาผง ลดลงเนื่องจากผู้ผลิตยาน้ำรายใหญ่บางรายมีคำสั่งซื้อลดลงและผู้ผลิตยาผงอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการผลิตในโรงงานในส่วนของการจำหน่ายยาแคปซูลลดลงจากการรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้ยาปฏิชีวนะของกระทรวงสาธารณสุข

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 มีมูลค่า 87.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.68และร้อยละ 9.61 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ยังคงเป็นเวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ตามลำดับ มีมูลค่าการส่งออกรวม 57.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 66.00 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมดของไทย

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 มีมูลค่า 373.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯหดตัวลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.05 และร้อยละ 8.90 ตามลำดับเนื่องจากตลาดยาในประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรกในไตรมาสนี้คือเยอรมนีสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอินเดีย ตามลำดับ รวมมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 158.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 42.33 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตยารักษาและป้องกันโรคในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวจากการผลิตยาน้ำ ยาฉีด และยาครีม เพิ่มขึ้น สำหรับปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนยังขยายตัวได้เช่นกันโดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนของการจำหน่ายยาเม็ด ยาฉีด และยาครีม

ในส่วนของการส่งออกยาในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเวียดนามซึ่งเป็นตลาดส่งออกยาที่สำคัญที่สุดของไทยในไตรมาสนี้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยาจากไทยเพิ่มขึ้นโดยตลาดส่งออกหลักของไทยยังคงเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้ง 8 แห่ง (ยกเว้นบรูไน) รวมมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 65.64ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 75.34 ของมูลค่าการส่งออกยาทั้งหมดของไทยสำหรับมูลค่าการนำเข้ายาในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหดตัวลงตามแนวโน้มการชะลอตัวของตลาดยาในประเทศ

แนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยารักษาและป้องกันโรคในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 คาดว่าจะยังขยายตัวได้โดยคาดว่าตลาดยาทั้งในและต่างประเทศจะขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 เนื่องจากช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงที่โรงพยาบาลของรัฐซึ่งเป็นตลาดยาขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศเร่งสั่งซื้อยาเพื่อให้ทันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 โดยเฉพาะในตลาดเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา เนื่องจากสินค้ายาของไทยได้รับความนิยมสูงในประเทศสมาชิกอาเซียนโดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยซึ่งยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศของตนไม่มากนักทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศเป็นหลัก

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ