สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2560 (เมษายน - มิถุนายน) พ.ศ. 2560 (อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 5, 2017 14:58 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา2

0 2202 4385

การฟอกและการตกแต่งหนังฟอกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปเช่น เบาะรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 มีการผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54.78 เป็นผลจากการขยายตัวของความต้องการในภาคอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ขยายการลงทุนเพิ่มเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตรองเท้าเพื่อการส่งออก

การผลิต

ไตรมาส 2ปี 2560 ดัชนีอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง (ตารางที่ 1-3)จำแนกได้ ดังนี้

1. การฟอกและการตกแต่งหนังฟอกดัชนีผลผลิตไตรมาส 2 ปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.78และ 35.04 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับซึ่งเป็นผลจากการที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่เพิ่มเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตเพื่อการส่งออก สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.33 และ 32.74เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับทำให้สินค้าคงเหลือในสต๊อกลดลงและส่งผลต่อดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ0.61 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

2.การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลากดัชนีผลผลิตไตรมาส 2 ปี 2560ลดลง ร้อยละ 18.55 และ26.69 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการเน้นการส่งสินค้าในสต๊อกทดแทนการผลิตทำให้ระดับสินค้าคงคลังลดลง และส่งผลต่อดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 1.77 และ 18.99 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ อย่างไรก็ตามดัชนีการส่งสินค้าเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 และ 6.92 ตามลำดับ

3. การผลิตรองเท้าดัชนีผลผลิตไตรมาส 2 ปี 2560ลดลงร้อยละ 7.32 และ 10.93 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่าน ตามลำดับ จากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีการส่งสินค้าลดลงร้อยละ 3.52 และ 3.70 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับทำให้ระดับสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.89 และ 1.43 ตามลำดับ

ไตรมาส 2ปี 2560 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการใหม่สะสมจำนวน 10 แห่ง แบ่งเป็น โรงงานฟอกหนังสัตว์ จำนวน 2 แห่ง โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์จาก หนังสัตว์ ขนสัตว์ เขาสัตว์ กระดูกสัตว์ หนังเทียม จำนวน 2 แห่งและโรงงานผลิตรองเท้าหรือชิ้นส่วนของรองเท้า จำนวน 6 แห่งสำหรับโรงงานที่จำหน่ายทะเบียนโรงงาน (ยกเลิกกิจการ) มีจำนวน 1 แห่งคือ โรงงานผลิตหนังสำเร็จรูป และผลิตโซฟาหนังสำเร็จรูป

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ไตรมาส 2 ปี 2560อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 397.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ตารางที่ 4)เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 6.17 อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.42 ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดไตรมาส 2 ปี 2560มีมูลค่าการส่งออก161.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 12.62 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.79 และ 18.71 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก ถุงมือหนัง และเครื่องแต่งกายและเข็มขัด ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.46 2.79 และ35.52 ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดลดลงร้อยละ 4.85 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ถุงมือหนัง เครื่องแต่งกายและเข็มขัด และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 2.57 20.29 55.33 และ 7.27 ตามลำดับ สำหรับหนังโคกระบือฟอกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ36.94โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ได้แก่ เวียดนาม จีนและฮ่องกง มีสัดส่วนร้อยละ 24.4214.69 และ 11.42 ตามลำดับ

2. เครื่องใช้สำหรับเดินทางไตรมาส2 ปี 2560มีมูลค่าการส่งออก 71.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.56 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออก เครื่องเดินทางอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.99 อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์กระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือ และกระเป๋าใส่เศษสตางค์ ปรับตัวลดลง ร้อยละ 1.81 12.25 และ 9.05 ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทางปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.16 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.63 11.43และ 9.99 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือลดลงร้อยละ 8.68 โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วนร้อยละ 29.22 10.79และ 8.56 ตามลำดับ

3. รองเท้าและชิ้นส่วนไตรมาส 2 ปี 2560มีมูลค่าการส่งออก 164.69ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ1.91 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง และรองเท้าอื่น ๆ ลดลง ร้อยละ1.30 0.11และ 6.31 ตามลำดับสำหรับรองเท้ากีฬา และส่วนประกอบรองเท้าขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.49 และ 1.91 ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.57 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รองเท้ากีฬา รองเท้าแตะรองเท้าหนัง และส่วนประกอบของรองเท้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.94 3.58 36.05และ14.11 ตามลำดับ สำหรับรองเท้าอื่น ๆปรับตัวลดลงร้อยละ 5.18 โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก และเมียนมา มีสัดส่วนร้อยละ 13.55 8.07 และ 7.41 ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 2 ปี 2560อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 439.20ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ตารางที่ 5) เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.00และ 8.05ตามลำดับ ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังดิบและหนังฟอกไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 234.78ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.95 และ 12.09ตามลำดับเป็นไปในทิศทางเดียวกับการผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอกที่เพิ่มสูงขึ้น จากการเพิ่มปริมาณ สต๊อกวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง และตอบสนองต่อการขยายตัวของปริมาณความต้องการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศโดยแหล่งนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่สำคัญได้แก่สหรัฐอเมริกา เดนมาร์กและอาร์เจนตินามีสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 18.97 12.94 และ 12.92 ตามลำดับ

2. กระเป๋าไตรมาส 2 ปี 2560มีมูลค่าการนำเข้า 103.70ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 3.23แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.84โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน อิตาลี และฝรั่งเศส มีสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 48.34 20.89 และ 14.03ตามลำดับ

3. รองเท้าไตรมาส 2 ปี 2560มีมูลค่าการนำเข้า 100.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.74และ 6.91 ตามลำดับ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 40.0324.94 และ 9.11 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. นโยบายการส่งเสริม SMEs ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลที่ออกมาช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs โดยมีแนวทางในการปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เน้นปัจจัยการผลิตเดิม (Factor Driven Growth) ประเภทที่ดิน แรงงาน และทุน ไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่การสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มเป็นปัจจัยขับเคลื่อน หรือการพัฒนาทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยกระดับให้ SMEs ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (DigitaI Economy) และตั้งเป้าหมายในปี 2558 เพิ่มสัดส่วนรายได้ของ SMEs ทั้งระบบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในปี 2559 หรือคิดเป็นมูลค่า 300,000 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ส่วนใหญ่เป็น SMEs จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะได้รับการส่งเสริม

2. นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 จำนวน 5-10 บาทใน 69 จังหวัด โดยพิจารณาแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ไม่ปรับค่าจ้าง มี 8 จังหวัด คือ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา 2) กลุ่มที่ปรับขึ้นค่าจ้าง 5 บาท มี 49 จังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรีนครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย3) กลุ่มที่ปรับขึ้นค่าจ้าง 8 บาท มี 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และพระนครศรีอยุธยา และ 4) กลุ่มที่ปรับขึ้นค่าจ้าง 10 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไปทั้งนี้อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีการขึ้นค่าจ้าง 10 บาทต่อวันดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2560 อาจจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 2 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอก ที่ใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป เช่น เบาะรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.78เป็นผลจากการที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่เพิ่มเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตเพื่อการส่งออก สำหรับการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และการผลิตรองเท้าลดลงร้อยละ 18.55 และ 7.32 ตามลำดับ จากการที่ผู้ประกอบการเน้นการส่งสินค้าในสต๊อกทดแทนการผลิตทำให้ระดับสินค้าคงคลังลดลง ประกอบกับมีการชะลอตัวของอุปสงค์และคำสั่งซื้อจากทั้งภายในและต่างประเทศ

การส่งออก ไตรมาส 2 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด และรองเท้าและชิ้นส่วนลดลงร้อยละ 12.62 และ 1.91 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกของไทยได้รับอิทธิพลจากกระแสการค้าโลกที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อและการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ประกอบกับขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่า และมีความได้เปรียบด้านต้นทุน

การนำเข้า ไตรมาส 2 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.95 เป็นไปในทิศทางเดียวกับการผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอกที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับสินค้ากลุ่มรองเท้ามีมูลค่าการนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.74 ขณะที่สินค้ากลุ่มกระเป๋ามีการนำเข้าลดลงร้อยละ 3.23 เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าตามภาวะเศษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

แนวโน้ม

การผลิตหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกไตรมาส 3 ปี 2560เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนคาดว่า จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มรองเท้าที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากปัจจัยที่กระตุ้นการผลิต เช่น การขยายตัวเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยว การผลิตรองเท้านักเรียนเพื่อสต๊อกสินค้าไว้รองรับช่วงเปิดเทอม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การผลิตรองเท้ากลับมาดีขึ้นในขณะที่ผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางอาจมีแนวโน้มการผลิตที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

การส่งออก คาดว่า ทุกผลิตภัณฑ์ทั้งหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดเครื่องใช้สำหรับเดินทางและรองเท้าและชิ้นส่วนจะปรับตัวได้ส่วนหนึ่งจากการที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่เพิ่มการลงทุนขยายการผลิตเพื่อการส่งออก อาจเป็นการกระตุ้นตลาด อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากความต้องการในตลาดคู่ค้าที่สำคัญลดลงและทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทย

การนำเข้า คาดว่า วัตถุดิบหนังดิบและหนังฟอกจะมีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการของภาคการผลิต สำหรับสินค้ากลุ่มกระเป๋าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากทิศทางการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมโดยเฉพาะกระเป๋าถือและกระเป๋าอื่น ๆ จากประเทศอิตาลี และฝรั่งเศส ที่มีแนวโน้มขยายตัว อย่างไรก็ตามสินค้ากลุ่มรองเท้าคาดว่าจะมีการนำเข้าลดลงเนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าตามภาวะเศรษฐกิจภายในที่ชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลให้การนำเข้าสินค้าในกลุ่มเวียดนาม และอิตาลี อาจมีมูลค่าลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ