สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2
0 2202 4387
ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่า 2,566.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 25.67 และ 31.18 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ จากราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,581.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 61.64 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม โดยมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำลดลง ร้อยละ 3.34 และ 21.73 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากการส่งออกลดลงในกลุ่มอัญมณีหลายรายการ เช่น เพชร พลอย ไข่มุกรวมถึงกลุ่มเครื่องประดับแท้ และเครื่องประดับเทียม
การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ในไตรมาส 2 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 1) พบว่า ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 19.93 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อลดลงส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่าย และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ลดลงเช่นกัน อยู่ที่ร้อยละ 11.71 และ 9.02 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง ร้อยละ 10.03 เนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาวในเดือนเมษายนและผู้ประกอบการเน้นการส่งออกสินค้าในสต๊อกเพื่อทดแทนการผลิตสินค้าใหม่บางรายการ อาทิ สร้อย สำหรับดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่าย และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกัน โดยลดลง ร้อยละ 5.10 และ 13.37 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว
ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องประดับเทียมชนิดต่าง ๆ ในไตรมาส 2 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) พบว่า ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 12.30 ขณะที่ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่าย และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ลดลงเช่นกัน อยู่ที่ร้อยละ 25.21 และ 7.42 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการบริโภคลดลง และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่าย ลดลง ร้อยละ 4.24 และ 15.44 ตามลำดับ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.03
ไตรมาส 2 ปี 2560 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการใหม่ จำนวน 3 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 150.95 ล้านบาท เป็นโรงงานผลิตเครื่องประดับอัญมณี 2 ราย และโรงงานเจียระไนเพชร พลอย หรืออัญมณี 1 ราย ขณะที่มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ขยายกิจการ จำนวน 1 โรงงาน เพื่อผลิตเครื่องประดับอัญมณี คิดเป็นเงินลงทุนรวม 5.8 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการขอยกเลิกการประกอบกิจการเจียระไนเพชร พลอย หรืออัญมณี 1 ราย
การตลาด
การค้าระหว่างประเทศ
ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 (ตารางที่ 3) การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,581.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.34 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการส่งออกลดลงของเพชรไข่มุก เครื่องประดับแท้ทาด้วยทองและโลหะมีค่าอื่น ๆ เครื่องประดับเทียม และอัญมณีสังเคราะห์ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลงเช่นกัน ร้อยละ 21.73 ขณะที่เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม พบว่า มีมูลค่า 2,566.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 25.67 และ 31.18 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา โดยผลิตภัณฑ์ส่งออกสำคัญ ๆ ได้แก่
1. อัญมณี ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 652.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.68 และ 22.69 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ซึ่งมีการส่งออกผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญ ดังนี้
1.1 เพชรไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 392.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 7.75 และ 10.24 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ จากมูลค่าการส่งออกในตลาดหลัก ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยียม อินเดีย อิสราเอล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ลดลง
1.2 พลอยไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 256.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.60 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง ร้อยละ 36.28 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 792.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.42 และ 22.26 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากการปรับขึ้นราคาวัตถุดิบ ส่งผลต่อผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าเครื่องประดับแท้ลดลง ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้
2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 370.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.06 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการบริโภคในตลาดสำคัญ อาทิ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และจีน ที่เพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าการส่งออก ลดลง ร้อยละ 20.69 จากการส่งออกไปตลาดหลักได้แก่สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ที่ลดลง
2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทองไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 387.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.16 และ 24.38 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี ก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ จากความผันผวนของราคาวัตถุดิบทองคำ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าลดลง
3. เครื่องประดับอัญมณีเทียมไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 78.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 19.11 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักและตลาดรองมีมูลค่าลดลงขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การส่งออกลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.03 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปยังลิกเตนสไตน์ ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 ขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าตลาดรองหลายแห่ง เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร จะมีความต้องการบริโภคลดลงก็ตาม
4. อัญมณีสังเคราะห์ ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 19.22 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 40.75 และ 19.71 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ
5. ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 984.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 45.79 และ 42.36 เมอเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตลาดหลัก มีมูลค่าลดลง
ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 (ตารางที่ 4) การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 927.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 43.99 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเพิ่มขึ้นของเพชร พลอย แพลทินัม และเครื่องประดับอัญมณีแท้ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 12.80 จากการนำเข้าลดลงในเกือบทุกรายการยกเว้นโลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าในภาพรวมมีทิศทางเดียวกัน คือ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 77.62 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง ร้อยละ 17.72 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ ๆ ได้แก่
1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ไตรมาส 2 ปี 2560 ภาพรวมการนำเข้ามีมูลค่า 2,734.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 81.82 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 17.16 โดยการนำเข้าประกอบด้วยวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่
1.1 เพชร ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 461.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 137.22 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาต่อหน่วยที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมีตลาดนำเข้าหลัก อาทิ อินเดีย ฮ่องกง เบลเยียม และอิสราเอล แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 4.54
1.2 พลอย ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 123.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 103.59 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาต่อหน่วยที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมีตลาดนำเข้าหลัก อาทิ ฮ่องกง เบลเยียม และตลาดรอง อาทิ อินเดีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงการ re-import ของไทย ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 35 ของมูลค่าการนำเข้าพลอยทั้งหมด แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 20.84
1.3 ทองคำ ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 1,965.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 99.60 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 19.85 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยในช่วงไตรมาสนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีความต้องการถือครองทองคำลดลง
1.4 เงินไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 101.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 17.99 และ 26.61 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ
1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 35.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 58.98 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 71.58
2. เครื่องประดับอัญมณี ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 157.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.79 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากมูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับอัญมณีแท้ ที่ลดลง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 26.27 โดยมีผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ ได้แก่
2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 143.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.86 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากราคาต่อหน่วยที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 27.76 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนมากนัก
2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียมไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 14.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 43.64 และ 7.07 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ และ สมาคมช่างทองไทยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การเชื่อมโยงหน่วยบริการระหว่างศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (ThaiIand IndustriaI Design Center:Thai-IDC) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 เพื่อสนับสนุนงานด้านออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการและนักออกแบบในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามนโยบายรัฐบาล 4.0 ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้เทียบเท่าในระดับสากล
สรุปและแนวโน้ม
ไตรมาส 2 ปี 2560 ภาคการผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน และผลิตภัณฑ์เครื่องประดับเทียมชนิดต่าง ๆ ปรับตัวลดลง ร้อยละ 10.03 และ 4.24 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาคการจำหน่าย ที่ปรับตัวลดลงเช่นกันร้อยละ 5.10 และ 15.44 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อลดลง
ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 3.34 และ 21.73 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ จากการส่งออกลดลง ทั้งในกลุ่มวัตถุดิบอัญมณีหลายรายการ และกลุ่มเครื่องประดับ โดยเฉพาะในตลาดหลัก อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกาและเมื่อพิจารณาการส่งออกในภาพรวม พบว่า มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป ลดลง ร้อยละ 25.67 และ 31.18 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ
ด้านการนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 43.99 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเพชร พลอย แพลทินัม และเครื่องประดับอัญมณีแท้ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 12.80 จากการนำเข้าลดลงในเกือบทุกรายการ ยกเว้นโลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าในภาพรวมมีทิศทางเดียวกัน คือ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 77.62 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง ร้อยละ 17.72 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาจากมูลค่าการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่ลดลงตามราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยในช่วงไตรมาสนี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีความต้องการถือครองทองคำลดลง
แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2560 คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งกลุ่มเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประดับเทียมชนิดต่าง ๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการผลิตเพื่อทดแทนสต๊อกสินค้าเดิมที่นำออกจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2560 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่าจะขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาอย่างไรก็ตามยังคงมีผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
ในส่วนของการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับไตรมาส 3 ปี 2560 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่าจะขยายตัวเช่นกัน ตามทิศทางการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น เพชร พลอย ไข่มุก เงิน สำหรับการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูป คาดว่า จะเพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--