สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2560 (เมษายน - มิถุนายน) พ.ศ. 2560 (อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 5, 2017 15:52 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา2

022024391

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 56.82 ปัจจัยหลักจากการเข้าสู่ปลายฤดูกาลปิดหีบอ้อยของสินค้าน้ำตาล และปลายฤดูกาลออกผลผลิตของมันสำปะหลัง แต่เปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.34 เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น น้ำตาลทราย อาหารสัตว์ ธัญพืชและแป้ง ปศุสัตว์ และผักผลไม้ ส่วนมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.41 จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาสหภาพยุโรป และจีน รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ CLMV อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามปัจจัยบวกจากความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีจากความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้อาจมีการกักตุนสินค้าอาทิ อาหารกระป๋อง และอาหารแปรรูป ปัจจัยลบจากความเสี่ยงSoft Brexit อาจส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอาทิไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไปซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของ การส่งออกของไทย

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่2ปี 2560 ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.34 เนื่องจากการผลิตเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าสำคัญ คือ น้ำตาลทราย อาหารสัตว์ ธัญพืชและแป้ง ปศุสัตว์ และผักผลไม้ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 56.82(ตารางที่ 1) เนื่องจากสินค้าน้ำตาล และธัญพืชและแป้ง ส่วนภาพรวมการผลิตครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.12 สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญสรุปได้ดังนี้

กลุ่มน้ำตาลทราย ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.58เนื่องจากภัยแล้งในปี 2558 ทำให้มีการเลื่อนช่วงการเพาะปลูกออกไปส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบกระจุกตัวในช่วงปลายฤดูการหีบอ้อยมากกว่าปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 79.40ปัจจัยหลักจากการเข้าสู่ปลายฤดูกาลปิดหีบอ้อยของสินค้าน้ำตาลสำหรับภาพรวมการผลิตครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.07

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.35 เนื่องจากการขยายการผลิตไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่ปรุงสุกเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มการนำเข้าจากไทยมากขึ้นอีกทั้งคู่แข่งอย่างบราซิลประสบปัญหาด้านคุณภาพสินค้าทำให้ผู้นำเข้าระงับสินค้าแต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 0.98 เนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมามีความต้องการบริโภคไก่สดแช่เย็นแช่แข็งในประเทศสูงในช่วงเทศกาลตรุษจีน สำหรับภาพรวมการผลิตครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.54

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ช่วงไตรมาสที่ 2ปี 2560 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.61 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนตั้งแต่กลางปี 2559 มากกว่าปี 2558 ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 32.49 เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดมากที่สุดในไตรมาสที่ผ่านมาสำหรับภาพรวมการผลิตครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 2.04

กลุ่มแปรรูปประมง ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 3.33 และ 0.19 ตามลำดับจากการผลิตปลาทูน่ากระป๋องและปลาซาร์ดีนกระป๋องลดลง เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบทำให้ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนการนำเข้าปลาทูน่าที่ปรับตัวสูงขึ้นและจากการยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) แม้การผลิตกุ้งสดแช่แข็งจะมีเพิ่มขึ้นก็ตาม สำหรับการผลิตภาพรวมครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.08

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.20 เป็นผลจากกลุ่มสับปะรดกระป๋องเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ด้วยสับปะรดโรงงานมีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่ การเพาะปลูกโดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังมาปลูกสับปะรดแทน ด้วยระดับราคาขายสูงขึ้นจากเมื่อปีก่อน อีกทั้งไม่ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นปีที่ผ่านมาแต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 8.23 เนื่องจากผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อสับปะรดกระป๋องสำหรับภาพรวมการผลิตครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.95

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืชปริมาณการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 15.22 และ 24.67 ตามลำดับ เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น จากการให้ผลผลิตในปีแรกของการขยายพื้นที่ปลูกในภาคใต้และภาคกลางในปี 2556 อีกทั้งไม่ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นปีที่ผ่านมาสำหรับภาพรวมการผลิตครึ่งแรกของปี 2560ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.07 สำหรับผลิตภัณฑ์นมการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 4.88 และ 3.68ตามลำดับ ส่งผลต่อภาพรวมครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.61 นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 4.28 และ 0.14 ตามลำดับเพื่อรองรับการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้น (ไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร โคเนื้อ และกุ้ง)สำหรับภาพรวมการผลิตอาหารสัตว์ครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.23

หากพิจารณาข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร การประกอบกิจการในช่วง ไตรมาส ที่ 2 ปี 2560 พบว่ามีโรงงานปิดกิจการเพิ่มเป็นจำนวน12โรง แบ่งเป็น โรงสีข้าวกิจการผลิตน้ำตาลทรายแดง ผลิตน้ำตาลทรายขาว กิจการมันเส้น กิจการผลิตผลไม้แห้งบรรจุกระป๋องและน้าผลไม้ กิจการอาหารทะเลบรรทุกระป๋อง กิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว และกิจการผลิตลูกชิ้นจากเนื้อสัตว์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีการประกอบกิจการใหม่ จำนวน90โรง แบ่งเป็นประเภทกิจการผลิตมันเส้น กิจการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว กิจการผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป กิจการผลิตอาหารเสริม กิจการอาหารทะเลแช่แข็ง/กระป๋องกิจการเครื่องปรุงรส กิจการเครื่องดื่มจากผักและผลไม้กิจการผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งผลไม้อบแห้ง และกิจการผลิตอาหารสัตว์เป็นต้น โดยปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจำนวนทั้งสิ้น 8,651 โรง

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.23 การบริโภคภาพรวมในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยด้วยเศรษฐกิจในประเทศที่ยังมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเฉพาะจากการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น อาหารสัตว์ ธัญพืชและแป้ง น้ำมันพืช สินค้าประมง และสินค้าปศุสัตว์ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 10.96 (ตารางที่ 2) จากการจำหน่ายน้ำตาล และสินค้าปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม และสินค้าธัญพืชและแป้ง สำหรับภาพรวมการจำหน่ายในประเทศครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.06

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 7,266.60 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ12.41และ 11.64 ตามลำดับ(ตารางที่ 3)จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญสรุปได้ ดังนี้

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช ช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,341.50 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.28 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกข้าวไปยังประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นอย่าง จีน อิหร่าน และเบนิน แม้ระดับราคาปรับตัวลดลงก็ตาม รวมทั้งการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าว และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ2.02เนื่องจากระดับราคาและคำสั่งซื้อที่ปรับชะลอตัวลงของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสำหรับภาพรวมการส่งออกครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.35

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย ช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 932.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 30.95 และ 54.23 ตามลำดับ เนื่องจากระดับราคาน้ำตาลตลาดส่งออกที่อิงกับราคาตลาดโลกในฤดูกาลหีบอ้อยปี 2559/60 (พ.ย.59-ต.ค.60) ปรับตัวขึ้นกว่าร้อยละ 30 และราคาสูงสุดในรอบ 4 ปี แต่ปริมาณการส่งออกจะลดลงก็ตาม สำหรับการส่งออกภาพรวมครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.55

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 799.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ9.27 และ 5.95 ตามลำดับจากการเพิ่มคำสั่งซื้อไก่แปรรูปในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่าง ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้เนื่องจากปัญหาไข้หวัดนกที่ระบาดในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯและอีกหลายประเทศในทวีปยุโรปทำให้ผู้นำเพิ่มการนำเข้าจากไทยมากขึ้นอีกทั้งคู่แข่งอย่างบราซิลประสบปัญหาด้านคุณภาพสินค้าทำให้ผู้นำเข้าระงับการนำเข้าสินค้าเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมส่งออกไก่ไทยชัดเจนสำหรับการส่งออกภาพรวมครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.62

กลุ่มประมงช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,437.34 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 6.48 และ 11.69 ตามลำดับเนื่องจากความต้องการนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งจากประเทศคู่ค้าหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยบวกจากวัตถุดิบอุตสาหกรรมกุ้งเริ่มคลายตัวจากโรคตายด่วน (EarIy MortaIity Syndrome: EMS) ประกอบกับผลิตภัณฑ์กุ้งไทยมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของประเทศผู้นำเข้าอีกทั้งมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นในประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลียรวมถึงมูลค่าการส่งออกปลาซาร์ดีนกระป๋องเพิ่มขึ้นของประเทศผู้นำเข้าอย่าง แอฟริกาใต้สาธารณรัฐโดมินิกัน และออสเตรเลียสำหรับภาพรวมการส่งออกครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.46

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,305.26 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 16.0 และ 25.33ตามลำดับ จากการเพิ่มคำสั่งซื้อผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งที่มีอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทุเรียน มังคุด ลำไย และมะม่วง แม้มูลค่าการส่งออกสับปะรดกระป๋องและผลไม้กระป๋องปรับชะลอตัวลงก็ตามสำหรับภาพรวมการส่งออกครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 14.38

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 450.34 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 2.06 และ 4.38 ตามลำดับเนื่องจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทเนื้อสัตว์และของปรุงแต่งที่ทำจากเนื้อสัตว์หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสมนมและผลิตภัณฑ์นมและไอศกรีมสำหรับภาพรวมการส่งออกครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.19

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560มีมูลค่าการนำเข้ารวม 3,828.95 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 11.22และ 5.38 ตามลำดับ(ตารางที่ 4) โดยมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบสำคัญทุกกลุ่มเพิ่มขึ้น ได้แก่ มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันพืชและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมัน และกากพืชน้ำมัน เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปศุสัตว์และประมงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มระดับราคาปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งมากขึ้น แม้ปริมาณการนำเข้าจะปรับลดลง และมูลค่าการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมปรับตัวเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมนมและอุตสาหกรรมอาหารอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น สำหรับภาพรวมการส่งออกครึ่งแรกของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.90

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560ภาวะการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.34 และ 12.41 ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตน้ำตาลทราย อาหารสัตว์ ข้าว ธัญพืชและแป้ง ปศุสัตว์ ประมง และผักผลไม้ เพื่อรองรับความต้องการบริโภคทั้งภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ CLMV ส่งผลดีต่อการผลิตและการส่งออกของไตรมาสที่ 2 ปี 2560

แนวโน้ม

คาดการณ์การการผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 4.0 และ 5.3 ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตกลุ่มปศุสัตว์ ด้วยความต้องการบริโภคสินค้าไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะผู้นำเข้าอย่างญี่ปุ่นและยุโรปที่ความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงเกาหลีใต้และตลาดสิงคโปร์ได้เปิดนำเข้าไก่แช่เย็นแช่แข็งจากไทยเนื่องจากประเทศคู่ค้าหลายประเทศประสบปัญหาไข้หวัดนก และประเทศคู่แข่งประสบปัญหาด้านคุณภาพ กลุ่มข้าวธัญพืชและแป้ง โดยเฉพาะการส่งออกข้าวไทยคาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเพราะตลาดที่สำคัญในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลงขณะที่ตลาดตะวันออกกลาง ทั้งอิหร่านและอิรัก ได้กลับเข้ามาซื้อข้าวจากไทยมากขึ้น ประกอบกับสินค้ากลุ่มสินค้าน้ำตาลที่การผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปริมาณน้ำตาลทรายดิบเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนเป็นผลดีจากช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวสภาพอากาศเหมาะสม ทำให้ค่าเฉลี่ยความหวานสูงขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานผลิตน้ำตาล อีกทั้งระดับราคาน้ำตาลตลาดส่งออกที่อิงกับราคาตลาดโลกในฤดูกาลหีบอ้อยปี 2559/60 (พ.ย.59-ต.ค.60) นั้นปรับตัวขึ้นกว่าร้อยละ 30 สูงสุดในรอบ 4 ปี

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ