สศอ. เผย MPI เดือน ตุลาคม ขยายตัวร้อยละ 0.48 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 4, 2017 14:34 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนตุลาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 0.48 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน ส่งสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยโดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันพืช เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ แปรรูปผลไม้และผัก และเฟอร์นิเจอร์

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนตุลาคม ขยายตัวขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.48 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 10 เดือนแรกปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.38 ส่งสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึง ร้อยละ 14.7 รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 13.8 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันพืช เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ แปรรูปผลไม้และผัก และเฟอร์นิเจอร์

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.67 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากสินค้ายางแผ่นและยางแท่ง เนื่องจากปีก่อนภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ปริมาณน้ำยางจึงมีน้อยกว่า และปีนี้มีการขยายตลาดรวมถึงลูกค้าจีนยังคงมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง

น้ำมันพืช ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.71 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากสินค้าน้ำมันปาล์มดิบ เนื่องจากปีนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้ได้ผลผลิตปาล์มสูง ในขณะที่ปีก่อนภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลปาล์มได้ รวมถึงภาครัฐมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันโดยการปรับสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล จากน้ำมันบี 5 เป็นน้ำมันบี 7 ส่งผลให้ระดับการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 12,000 ตัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2560

เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.16 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากสินค้าเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก โดยปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 .48 ส่วนปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.01

แปรรูปผลไม้และผักขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.87 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากสินค้าสับปะรดกระป๋องเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีฝนตกต่อเนื่องตลอดปี ทำให้ได้ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ประกอบกับไตรมาส 3 ของปีก่อน พื้นที่เพาะปลูกบางแห่งประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ

เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.95 จากช่วงเดียวกันในปีก่อนจากสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยไม้เป็นหลัก โดยมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศเพื่อจำหน่ายในช่วงคริสมาสต์

สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน การผลิตเดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 22.44 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าคอนเดนซิ่งยูนิต แฟนคอยล์ยูนิต และคอมเพรสเซอร์ จากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ไม่สามารถทาตลาดได้ตามเป้า และจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ ลดลงร้อยละ 22.69 ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.43 จากการขยายตลาดไปยุโรปเพิ่มขึ้น

เครื่องประดับ การผลิตเดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 26.16 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าต่างหู รองมาคือ แหวน จี้ และเพชร ตามการชะลอตัวของตลาดโลกรวมถึงราคาทองคำที่ผันผวน ส่งผลให้ลูกค้าหลักมีความต้องการบริโภคสินค้าเครื่องประดับและเพชรลดลง

การปั่นเส้นใยสิ่งทอ การผลิตเดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 20.11 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนจากสินค้าเส้นด้ายและผ้าทอ เช่น ผ้าทอฝ้าย ผ้าทออื่นๆ และด้ายฝ้ายผสม เป็นหลัก โดยลดลงจากตลาดในประเทศและส่งออก ซึ่งตลาดในประเทศประสบปัญหาการนำเข้าสินค้าราคาถูกมาจำหน่ายมากขึ้น ส่วนการส่งออกประเทศคู่แข่งเช่น เวียดนาม จีนได้เข้าไปลงทุนในสิ่งทอต้นน้ำทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง และกลายมาเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญในตลาดส่งออกแทน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ