สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนธันวาคมปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.35 ภาพรวมทั้งปีขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 1.58 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ น้ำมันพืช น้ำมันปิโตรเลียม
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนธันวาคม 2560 มีการขยายตัวร้อยละ 2.35 โดยภาพรวมทั้งปีขยายตัวจากปีก่อน ร้อยละ 1.58 เช่นเดียวกันกับการส่งออกประจำเดือนธันวาคม 2560 ที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 11.0 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกประจำเดือนธันวาคม 2560 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ น้ำมันพืช น้ำมันปิโตรเลียม
ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยางแผ่นเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีน้ำยางออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก (ปีก่อนมีปัญหาน้ำท่วมบางพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้) ประกอบกับราคายางตกต่ำทำให้จีนเร่งนำเข้ายางแผ่นจากไทย
รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถปิคอัพและรถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1800 cc. เป็นหลัก กำลังซื้อที่เริ่มมีมากขึ้นรวมถึงกำลังซื้อของลูกค้าในกลุ่มรถยนต์คันแรกที่ปลดล็อคแล้ว และผู้ผลิตกระตุ้นตลาดด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์ในประเทศขยายตัวร้อยละ 28.55 ส่วนปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.21
เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากเครื่องยนต์แก๊สโซลีน และเครื่องยนต์ดีเซล ตามการผลิตรถยนต์ในประเทศที่ขยายตัวเพื่อรองรับงาน Motor Expo (30 พ.ย.60-11 ธ.ค.60) โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณการจำหน่ายในประเทศ ซึ่งยังคงเป็นที่นิยมต่อเนื่องจากการปรับโฉมใหม่ และปริมาณการส่งออก จากลูกค้าในกลุ่มประเทศ AEC และประเทศออสเตรเลีย
น้ำมันพืช ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากน้ำมันปาล์มดิบเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้ผลผลิตปาล์มมีจำนวนมากกว่าปกติส่งผลให้การผลิตและสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ต้องเร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบโดยส่งไปที่อินเดียและจีน เป็นหลัก
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 เป็นหลัก ตามความต้องการของตลาดที่มากขึ้น รองลงมาคือแนฟทา ที่ผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของโรงกลั่น (ผลิตใช้เองในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี)
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.7 เนื่องจากความต้องการสินค้าไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็น แช่แข็งเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมรถยนต์ แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2561 คาดว่า จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 500,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.97
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ เครื่องซักผ้า และสายไฟฟ้า จากการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกเพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และ IC ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดการณ์ว่าเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหลัก จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอจะขยายตัวร้อยละ 0.87 ผ้าผืนขยายตัวร้อยละ 5.12 และเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 6.28 ตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใย และผ้าผืน ไปยังตลาด CLMV
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--