สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI ) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.66 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 เป็นผลมาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กำลังซื้อในประเทศก็มีทิศทางที่ดีเช่นเดียวกันส่งผลให้อุตสาหกรรม รถยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันพืช Hard Disk Drive และเม็ดพลาสติก มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามลำดับ
นางเพ็ญวิภา ไตรศิริพานิช ผู้อำนวยการกองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นผู้แทนในการแถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีการขยายตัวร้อยละ 4.66 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ได้แก่ รถยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันพืช Hard Disk Drive และเม็ดพลาสติก
รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเครื่องยนต์ แก๊สโซลีน เครื่องยนต์ดีเซล รถยนต์นั่งและรถปิคอัพเป็นหลัก
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล 95 และ 91 เป็นหลัก และจากการหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงกลั่นบางโรงในปีก่อน และจากความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการท่องเที่ยวที่เติบโตสูง ทำให้มีปริมาณขนส่งสินค้าและการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น
น้ำมันพืช ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันปาล์มดิบเนื่องจากช่วงต้นปี 2560 พื้นที่เพาะปลูกในภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วม ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลปาล์มได้ ประกอบกับพื้นที่ในการปลูกปาล์มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้น้ำมันปาล์มดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น
Hard Disk Drive ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.40 เนื่องจากผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อจากบริษัทแม่เพิ่มขึ้นจากการปิดฐานการลงทุนของประเทศจีนและสิงคโปร์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งาน Internet of Things (IoT) และการส่งผ่านข้อมูลที่รวดเร็ว ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.80 จาก พอลิโพไพลีน เรซิน (PP) และ พีวีซี เรซิน (PVC) เป็นหลัก จากการหยุดการซ่อมบำรุงของผู้ผลิตบางราย รวมถึงมีการขยายสายการผลิต พอลิโพไพลีน เรซิน (PP)เพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมรถยนต์ แนวโน้มขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 3.13 โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 0.26 ส่งออกร้อยละ 11.06
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ดัชนีการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 1.50 มาจากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 3.79
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีแนวโน้มขยายตัวในไตรมาส 2 ร้อยละ 4.39
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีแนวโน้มขยายตัวในไตรมาส 2 โดยผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอขยายตัวร้อยละ 1.54 ผ้าผืนขยายตัวร้อยละ 4.19 และเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 1.56
อุตสาหกรรมอาหาร มีแนวโน้มขยายตัวในไตรมาส 2 ร้อยละ 3.3 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารขยายตัวได้แก่ไก่และสัตว์ปีกแปรรูปและน้ำตาล
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม