สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI ) ประจำเดือนเมษายน ปี 2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาและขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12
นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ประจำเดือนเมษายน 2561 มีการขยายตัวร้อยละ 4.0 และขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 ทำให้ 4 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 4.1 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกประจำเดือนเมษายน 2561 ได้แก่ น้ำตาลทราย รถยนต์และเครื่องยนต์ เม็ดพลาสติก Hard Disk Drive และน้ำมันปิโตรเลียม
น้ำตาลทราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปีก่อน ฝนตกชุกกระทบต่อการตัดอ้อยล่าช้ากว่าปกติ ผลผลิตจึงมากระจุกตัวอยู่ช่วงท้ายฤดูหีบอ้อย ส่งผลให้มีการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ
รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.31 จากเครื่องยนต์แก๊สโซลีน เครื่องยนต์ดีเซล รถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1,800 cc และรถปิคอัพ
เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.41 จากสินค้า PP , PVC , PE และ LLDPE เป็นหลัก จากการขยายกำลังการผลิตของบางบริษัทที่รองรับการส่งออกและความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศ เช่น บรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
Hard Disk Drive ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.78 เนื่องจากผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและภาพรวมอุตสาหกรรมยังเติบโต
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็นหลัก
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.03 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลัก ได้แก่ HDD, Monolithic IC, Semiconductor และ PCBA ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก โดย IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet ส่วน HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage
อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศ การลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 46.8 เพื่อรองรับผลผลิตสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ น้ำตาลทรายดิบ แป้งมันสำปะหลัง น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋องและไก่แช่เย็นและแช่แข็ง ประกอบกับภาพรวมการบริโภคในประเทศขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม