สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 9, 2018 14:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2561 นี้ ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เดือนมิถุนายน 2560 ขยายตัวร้อยละ 0.97) โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ประจำเดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 เป็นผลจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเดือนมิถุนายนมีมูลค่า 2,487 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังสูงสุดในรอบ 40 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมสูงสุดในรอบ 42 เดือน ทำให้ไตรมาสที่ 2/2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 3.6 ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 3.9 ( 6 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 0.5) มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 69.04 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกประจำเดือนมิถุนายน 2561 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำตาลทราย เครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติกและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนมิถุนายน ได้แก่

รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวร้อยละ 11.59 (จำนวนคัน) จากรถปิคอัพ เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1,800 ซีซี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ยอดจำหน่ายในประเทศขยายตัวร้อยละ 22.88 (จำนวนคัน) ส่วนการส่งออกขยายตัวร้อยละ 5.81 (จำนวนคัน)

น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 78.9 (จำนวนตัน) จากการปิดหีบการผลิตช้ากว่าปีก่อน (ปีก่อนปิดหีบ 4 พ.ค.60 ปีนี้ปิดหีบ 5 มิ.ย.61) ซึ่งเป็นผลจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 12.97 จากการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.82 จากการทำกิจกรรมกระตุ้นตลาดของผู้ผลิตโดยการเพิ่มจุดขายด้านฟังก์ชั่นและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อสินค้าใหม่ทดแทนของเก่า ส่วนการส่งออกขยายตัวร้อยละ 15.52 จากกลุ่มลูกค้า CLMV โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซียที่มีความต้องการสินค้าจากไทย

เม็ดพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 8.03 จากสินค้า PP และ LLDPE เป็นหลักเนื่องจากปีก่อนมีจำนวนวันหยุด ซ่อมบำรุงมากกว่าปีนี้

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อดัชนี ได้แก่

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 6.0 ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก โดยเฉพาะ IC ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet ส่วน HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage และในตลาดมีการพัฒนา Semiconductor มากขึ้น เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์สมาร์ทต่าง ๆ เช่น นาฬิกา จอ LED และโฟโต้เซนเซอร์ที่ใช้ในกล้องถ่ายรูป

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางการผลิตยางรถยนต์ในประเทศขยายตัวร้อยละ 1.33 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.45 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ที่สูงขึ้น

อุตสาหกรรมสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ขยายตัว ร้อยละ 5.83 ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสมบัติพิเศษต่าง ๆ เช่น เส้นใยคอลาเจน เส้นใยอาระมิด เพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัว

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ เหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.2 จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋อง ส่วนเหล็ก ทรงยาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 โดยเหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ซึ่งเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ