รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2/2561 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3/2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 11, 2018 15:09 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

บทสรุปผู้บริหาร

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 2/2561

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2/2561 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 3.54 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1/2561 ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 MPI ขยายตัว ร้อยละ 3.85 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ที่ MPI ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.46 โดย อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 2/2561 อาทิ ยานยนต์ เนื่องจากภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นจากเครื่องยนต์ดีเซล เครื่องยนต์เบนซิน และรถปิกอัพ เป็นหลัก จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจภายในประเทศและประเทศคู่ค้า น้ำตาล เนื่องจากผลผลิตอ้อยที่มากขึ้นในปีนี้จึงเปิดหีบการผลิตได้เร็วและปิดหีบการผลิตช้า อีกทั้งโรงงานส่วนใหญ่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยทำให้สามารถรองรับผลผลิตได้สูงขึ้น Hard Disk Drive ที่ได้รับยอดผลิตเพิ่มขึ้นจากบริษัทแม่ รวมถึงการเติบโตของการใช้ข้อมูลดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่ออุตสาหกรรม เม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น เนื่องจากภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นในสินค้า PP (Polypropylene) และ LLDPE (Linear Low Density Polyethylene) เป็นหลัก ซึ่งทั้งสองชนิดเป็นวัสดุสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากคำสั่งซื้อในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ปัจจัยการเติบโตของตลาดอิเล็กทรอนิกส์ยังช่วยให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวได้ต่อเนื่องด้วย

แนวโน้มไตรมาสที่ 3/2561

เหล็กและเหล็กกล้า คาดว่าดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เนื่องจากคาดว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างจากโครงการภาครัฐที่จะมีการเร่งดำเนินการ ประกอบกับการที่ไทยได้รับยกเว้นการใช้มาตรการปกป้องจากสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้ไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น แม้จะมีข้อยกเว้นห้ามส่งออกเกินร้อยละ 3 (กรณีประเทศกำลังพัฒนา) ก็ตาม นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าติดตามเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ระยะต่อไป ที่อาจส่งผลต่อผู้ผลิตเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการส่งออก

เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 คาดว่า การผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทยอยฟื้นตัวทำให้มีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับคาดว่าผู้ผลิตและผู้ค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีกลยุทธ์การตลาดช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นและเปิดตัวสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ

อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 คาดว่า จะมีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และ IC ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก

ยานยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 530,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 45-50 และการผลิตเพื่อส่งออกประมาณร้อยละ 50-55 และจะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 500,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

พลาสติก ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 คาดว่ามีปริมาณการส่งออกกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 294,722 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.78 และปริมาณนำเข้ากลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 220,560 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.92 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่า และปัญหาสงครามการค้า รวมถึงปัจจัยเกี่ยวเนื่องจากกระแสการลดใช้พลาสติกทั่วโลกด้วย

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ แนวโน้มไตรมาสที่ 3 ปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามทิศทางการตลาดของผู้มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน ประกอบกับความต้องการของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อการบรรจุ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น สำหรับกลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์จะชะลอตัวต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก

เซรามิก การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศช่วงไตรมาส 3 ของปี 2561 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจไทย ประกอบกับการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน โดยการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ คาดว่า จะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องในทุกตลาดหลัก สำหรับมูลค่าการนำเข้ากระเบื้องปูพื้น บุผนัง คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงของการนำเข้าจากประเทศจีน

ปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นร้อยละ 3.70 และ 4.22 ตามลำดับ เนื่องจากความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่าง ๆ ประกอบกับในภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนเริ่มมีแผนการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ๆ หลายโครงการ ส่วนมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น ร้อยละ 19.30 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภาพรวมการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะขยายตัวตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใย และผ้าผืน ไปยังตลาดเวียดนาม และบังคลาเทศ ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตเส้นใยสมบัติพิเศษหลายชนิด เป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

ไม้และเครื่องเรือนไม้ การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 คาดว่าจะยังคงชะลอตัว ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศและการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ตามแนวโน้มการปรับลดลงของคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ

ยา สำหรับการผลิตยาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.64 โดยเป็นการขยายตัวของการผลิตยาทุกชนิดยกเว้นในส่วนของยาน้ำ ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดยาในประเทศและตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะฮ่องกงและเมียนมา

ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์และถุงมือยางในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 1.66 และ 3.33 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นคาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 2.83 ตามแนวโน้มคำสั่งซื้อที่ปรับลดลงของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีน

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตรองเท้าและเครื่องหนังในไตรมาส 3 คาดว่าการฟอกและตกแต่งหนังฟอก จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มรองเท้าที่มีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรองเท้ากีฬาและรองเท้าผ้าใบจากเทรนด์แฟชั่นการแต่งกายที่ผู้คนทั่วไปหันมาใส่ใจในการออกกำลังกายมากขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางมีแนวโน้มการผลิตลดลง เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทดแทนการผลิตภายใน

อัญมณีและเครื่องประดับ ในไตรมาส 3 ปี 2561 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภคในหลายตลาด อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น

อาหาร การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 3 ปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากปัจจัยบวกอย่างเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2 รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มพื้นที่ปลูกและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย อาทิ ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และอ้อย ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ CLMV รวมทั้งการขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้น อาทิ อาเซียน แอฟริกา และตะวันออกกลาง แม้จะมีปัจจัยลบอย่างความผันผวนของค่าเงินบาท และราคาพลังงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น เนื้อไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง เช่นเดียวกับการบริโภคในประเทศที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น

ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2561

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 111.90 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (121.34) ร้อยละ 7.78 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (108.07) ร้อยละ 3.54

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาส ที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตยานยนต์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล และการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมครึ่งปีแรก 2561 อยู่ที่ระดับ 116.62 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (112.30) ร้อยละ 3.85

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 111.91 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (116.62) ร้อยละ 4.04 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (107.30) ร้อยละ 4.29

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาส ที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตสตาร์ชและผลิตภัณฑ์จากสตาร์ช และการผลิตมอร์เตอร์ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ควบคุมและจ่ายไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ได้แก่ การผลิตยานยนต์การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้าครึ่งปีแรก 2561 อยู่ที่ระดับ 114.26 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (110.29) ร้อยละ 3.60

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 105.89 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (110.94) ร้อยละ 4.55 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (107.39) ร้อยละ 1.40

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาส ที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป การผลิตยานยนต์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป การผลิตผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่น ๆ และการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังครึ่งปีแรก 2561 อยู่ที่ระดับ 108.42 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (107.05) ร้อยละ 1.28

อัตราการใช้กำลังการผลิต

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 66.65 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 72.46) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (ร้อยละ 64.48)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตยานยนต์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล และการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิตครึ่งปีแรก 2561 อยู่ที่ระดับ 69.56 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (67.04)

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 90.33 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (90.53) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (85.53) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 102.17 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (100.10)

ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้จ่ายด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในภาพรวมเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การผลิตและการส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจาก คำสั่งซื้อและยอดขายปรับตัวดีขึ้นและการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ต่อไป

การค้าต่างประเทศ
"มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากมูลค่าการส่งออกและนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามวัฏจักรขาขึ้นของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยดุลการค้าในไตรมาสที่ 2 เกินดุลการค้า 1,499.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ"

สถานการณ์การค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 124,465.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 62,982.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 61,483.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ส่งผลให้การค้าในไตรมาส 2 ปี 2561 ดุลการค้าเกินดุล 1,499.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 62,982.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า การส่งออกสินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าการส่งออก 5,909.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออก 49,884.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 2,628.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าการส่งออก 4,560.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 7,169.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 4,969.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8) อัญมณีและเครื่องประดับ (มูลค่าการส่งออก 3,073.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8) ผลิตภัณฑ์ยาง (มูลค่าการส่งออก 2,792.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1)และเม็ดพลาสติก (มูลค่าการส่งออก 2,712.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3)

ตลาดส่งออก

ด้านการส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีสัดส่วนการส่งออกคิดรวมเป็น ร้อยละ 69.2 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกไปยังตลาดหลักมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกตลาด โดยการส่งออกไปยังอาเซียน (9 ประเทศ) มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 26.3 รองลงมา คือ จีน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 และ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 61,483.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า การนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าการนำเข้า 10,656.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 สินค้าทุนมีมูลค่าการนำเข้า 15,794.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าการนำเข้า 24,393.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ8.2 สินค้าอุปโภคบริโภค มีมูลค่าการนำเข้า 6,829.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีมูลค่าการนำเข้า 3,647.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 และสินค้าหมวดอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าการนำเข้า 161.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.5

แหล่งนำเข้า

ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 แหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 68.1 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า แหล่งนำเข้าสำคัญของไทยมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 20.7 รองลงมา ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) และญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นที่ระดับ 18.2 และ 14.2 ตามลำดับ

เศรษฐกิจโลก ไตรมาสที่ 2 ปี 2561

ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้การส่งออกปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลก สอดคล้องกับภาคการผลิตในหลายประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานของประเทศต่าง ๆ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 1.50-1.75% เป็น 1.75-2.00% สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ด้านสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 69.9 ดอลล่าร์สหรัฐฯ /บาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 อยู่ที่ 47.9 ดอลล่าร์สหรัฐฯ /บาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบช่วงเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 74.2 ดอลล่าร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ซึ่งมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง ส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่านและเวเนซุเอลามีแนวโน้มลดลงหลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตาม เช่น ปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการค้าในต่างประเทศ มาตรการ กีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ดัชนีผลผลิตเหล็กไตรมาสที่ 2 ปี 2561 เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องและคำสั่งซื้อของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น แต่เหล็กทรงยาวมีดัชนีผลผลิตลดลง เนื่องจากงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศอยู่ในช่วงทรงตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตบางรายชะลอการผลิต

การผลิต ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีดัชนีผลผลิต 116.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.5 (%YoY) และลดลงจากไตรมาส ที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 7.5 (%QoQ)โดยเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 เนื่องจากมีการเร่งผลิตเพื่อทดแทนสินค้าคงคลัง รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 สำหรับเหล็กทรงยาวลดลงร้อยละ 1.2 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง คือ เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 11.9 รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดเย็น ลดลงร้อยละ 11.0

การจำหน่าย ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีปริมาณ 4,193,874 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.01 (%YoY) และลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 3.6 (%QoQ) โดยเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 18.2 ผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายลดลง คือ เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลดลงร้อยละ 31.1 สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ซึ่งมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น คือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (แบบ HDG และ EG) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากยอดการผลิตรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ส่งผลให้การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมและเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดบาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 และ 15.2 ตามลำดับ

การนำเข้าไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 2.40 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.5 (%YoY) โดยเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4 ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ ส่วนเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 และเหล็กลวด เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 101.4 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (แบบ HDG และ EG) และเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.8 และ 17.3 ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

คาดว่าดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เนื่องจากคาดว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างจากโครงการภาครัฐที่จะมีการเร่งดำเนินการ ประกอบกับการที่ไทยได้รับยกเว้นการใช้มาตรการปกป้องจากสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้ไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น แม้จะมีข้อยกเว้นห้ามส่งออกเกินร้อยละ 3 (กรณีประเทศกำลังพัฒนา) ก็ตาม นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าติดตามเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ระยะต่อไป ที่อาจส่งผลต่อผู้ผลิตเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการส่งออก

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยสินค้าที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า ตู้เย็น หม้อหุงข้าว คอมเพรสเซอร์ เครื่องซักผ้า สายไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กระติกน้ำร้อน พัดลม และเตาไมโครเวฟ ส่วนการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในตลาดสหภาพยุโรป จีน อาเซียน และญี่ปุ่น

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 4,039.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 2.2 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.2 (%YoY) โดยสินค้าหลักที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.1 เครื่องอุปกรณ์สำหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 121.7 ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 6.2 (%QoQ) และลดลงร้อยละ 3.8 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า ตู้เย็น หม้อหุงข้าว คอมเพรสเซอร์ เครื่องซักผ้า สายไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ ลดลงร้อยละ 14.8, 13.0, 10.3, 7.5, 1.1, 1.1 และ 0.3 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้ากระติกน้ำร้อน พัดลม และเตาไมโครเวฟ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.4, 16.2 และ 4.1 ตามลำดับ

การจำหน่ายในประเทศ ในไตรมาส 2/2561 สินค้าที่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ พัดลม คอมเพรสเซอร์ หม้อหุงข้าว ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า ลดลงร้อยละ 19.0, 18.0, 16.0, 8.2, 7.4, 4.5 และ 1.4 ตามลำดับ ยกเว้นกระติกน้ำร้อน และสายไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 และ 0.2 ตามลำดับ

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่าการส่งออก 6,033.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 4.6 (%QoQ) ในขณะที่จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.7 (%YoY) จากการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหภาพยุโรป จีน อาเซียน และญี่ปุ่น เนื่องจากสินค้าแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 และ เครื่องปรับอากาศมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.5 โดยเพิ่มจากในตลาดจีนถึงร้อยละ 63.5 ในขณะที่ตู้เย็นลดลงร้อยละ 7.2 กล้องถ่ายบันทึกภาพและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 5.2 และเครื่องซักผ้าลดลงร้อยละ 3.2 ลดลงในตลาดสหรัฐอเมริการ้อยละ 31.0 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้า ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

อุตสาหกรรมไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 คาดว่า การผลิตจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทยอยฟื้นตัวทำให้มีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับคาดว่าผู้ผลิตและผู้ค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีกลยุทธ์การตลาดช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นและเปิดตัวสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ ส่วนการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจตามตลาดหลักของไทย

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2ปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น6.4เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้ง Semiconductor, Monolithic IC, PCBA และ HDD เป็นผลจากการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น และมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น อาเซียน จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

การนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่าการนำเข้า 9,385.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 2.7 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.7 (%YoY) โดยสินค้าหลักที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากคือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.0 และวงจรรวม (IC) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 105.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 3.23 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 (%YoY) เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ Monolithic IC, HDD, PCBA, และ Semiconductor ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1, 17.8, 7.8 และ 6.4 ตามลำดับ โดย IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet ส่วน HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่าการส่งออก 9,426.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยจาก ไตรมาสที่แล้วร้อยละ 2.2 (%QoQ) ในขณะที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.6 (%YoY) จากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียน และสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8, 10.5, 10.1, 6.4 และ 6.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 วงจรรวม (IC) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เครื่องพิมพ์ เครื่องสำเนาและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.6 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปถึงร้อยละ 72.5 และ 44.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 คาดว่า จะมีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และ IC ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก

อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์

ปริมาณการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่ 2ปี 2561ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ประกอบกับตลาดในประเทศมีการขยายตัว เนื่องจากผู้บริโภคทยอยสิ้นสุดการถือครองรถยนต์ภายใต้โครงการรถยนต์คันแรก

การผลิตรถยนต์

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 516,879 คัน ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 5.60 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 11.06 (%YoY) โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง ร้อยละ 41 รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ ร้อยละ 57 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 2

การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 252,025 คัน เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 6.30 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 26.33 (%YoY) แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ร้อยละ 40 รถกระบะ 1 ตัน ร้อยละ 41 รถ PPV และ SUV ร้อยละ 14 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 5

การส่งออกรถยนต์

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 266,730 คัน ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 9.65 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.80 (%YoY) โดยแบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์นั่ง ร้อยละ 39 รถกระบะ 1 ตัน ร้อยละ 51 และรถ PPV ร้อยละ 10

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 2,455.09 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 0.88 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.44 (%YoY) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ใน ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 3,035.85 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 4.02 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.88 (%YoY) โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และ เยอรมนี

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

จากการคาดการณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประมาณการในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 530,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45-50 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 50-55

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์

ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ชะลอตัว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกขยายตัว

การผลิตรถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 503,819 คัน ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 7.25 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 2.72 (%YoY)

การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 469,605 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 0.97 (%QoQ) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 3.72 (%YoY)

การส่งออกรถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 196,475 คัน (เป็นการส่งออก CBU 85,272 คัน และ CKD 111,203 ชุด) ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 22.34 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.33 (%YoY)

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 174.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 11.43 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.08 (%YoY) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซียและบราซิล

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 134.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 14.65 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.15 (%YoY) โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

ประมาณการในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 500,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

มูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 2 ปี 2561ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ6.41 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.49 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2561 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.56 โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้มูลค่าการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ปุ๋ย และเครื่องสำอาง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน

การตลาดและการจำหน่าย

การส่งออกเคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 2,191 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 6.41 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.49 (%YoY) การส่งออกในไตรมาสที่ 2 แบ่งเป็นเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน 1,238 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.95 (%YoY) โดยผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด และเคมีภัณฑ์อินทรีย์ ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลายส่งออก 953 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.90 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปุ๋ย สารลดแรงตึงผิว และเครื่องสำอางตามลำดับ

การนำเข้าเคมีภัณฑ์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 4,393 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 8.63 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.56 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าในไตรมาสที่ 2 แบ่งเป็นเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน 2,677 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.62 (%YoY) และเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย 1,716 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.10 (%YoY) โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ และเครื่องสำอางตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 คาดการณ์ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ด้วยแรงขับเคลื่อนตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออก ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยในการขยายตัวของเคมีภัณฑ์

อุตสาหกรรมพลาสติก

อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีปริมาณการส่งออกและนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประเทศคู่ค้า ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และกลุ่ม CLMV มีความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิต จึงช่วยหนุนการส่งออกสินค้าที่มีราคาเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

ดัชนีผลผลิต-ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีผลผลิต ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ลดลงร้อยละ 4.94 (%QoQ) จากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 และลดลงร้อยละ 0.92 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดัชนีผลผลิตที่ลดลงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์กระสอบพลาสติก

ดัชนีการส่งสินค้า ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ลดลงร้อยละ 4.60 (%QoQ) จากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 และลดลงร้อยละ 2.92 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์กระสอบพลาสติก

ปริมาณการส่งออก ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีปริมาณ 287,588 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ0.56 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.91 (%YoY) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (3916) เครื่องประกอบอาคาร (3925) และเครื่องสุขภัณฑ์ (3922)

ปริมาณการนำเข้าไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีปริมาณ 209,954 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 5.54 (%QoQ) และ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.67 (%YoY) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ของอื่น ๆ ทำด้วยพลาสติก (3926) เครื่องประกอบอาคาร (3925) และใยยาวเดี่ยว (3916)

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 คาดว่ามีปริมาณการส่งออกกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 294,722 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.78 และปริมาณนำเข้ากลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 220,560 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.92 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่า และปัญหาสงครามการค้า รวมถึงปัจจัยเกี่ยวเนื่องจากกระแสการลดใช้พลาสติกทั่วโลกด้วย

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ราคาแนฟทาของตลาดเอเชีย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และมีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคเอเชีย และภาวะเศรษฐกิจโลก

การตลาดและการจำหน่าย

มูลค่าการส่งออก ไตรมาส 2 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 2,831.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 32.05 (%YoY) มูลค่าการนำเข้า ไตรมาส 2 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 1,139.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 1.77 (%YoY)

สาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกและนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้น เกิดจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ที่ส่งผลต่อราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี รวมถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน

ราคาสินค้า ราคาเฉลี่ยแนฟทา (Naphta) ของตลาดเอเชีย 20.46 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจากราคาเฉลี่ย 18.46 บาท/กิโลกรัม ตามการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ราคาเอทิลีนและโพรพิลีนของตลาดเอเชียไตรมาส 2 ปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 38.99 และ 32.02 บาท/กิโลกรัมตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 พบว่า ราคาเอทิลีน และโพรพิลีนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคา 34.49 และ 25.84 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ และราคาเม็ดพลาสติก PE และ PP ไตรมาส 2 ปี 2561 (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ของ LDPE, HDPE และ PP มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 39.98, 44.20 และ 41.22 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 พบว่าราคาเฉลี่ยของ LDPE ปรับตัวลดลงจากระดับราคา 43.70 บาท/กิโลกรัม ส่วน HDPE และ PP ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับราคา 39.15 และ 40.05 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 3 ปี 2561

ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 3 ปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 2,473.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 1,207.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.28 และ 15.12 ตามลำดับ ปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตาม คือ การปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคเอเชีย และภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาวะความมั่นคงทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตในภูมิภาคต่าง ๆ

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

การผลิตเยื่อและกระดาษในไตรมาสที่ 2 ปี 2561ดัชนีฯ เพิ่มขึ้นจากกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟต์ ซึ่งมีทิศทางเดียวกับการส่งออก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนและจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลักเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงความต้องการบริโภคในประเทศที่ขยายตัว ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2561

แนวโน้มไตรมาสที่ 3 ปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามทิศทางการตลาดของผู้มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน ประกอบกับความต้องการของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อการบรรจุ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น สำหรับกลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์จะชะลอตัวต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก

การผลิตเยื่อและกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ดัชนีฯ เพิ่มขึ้นจากกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟต์ ร้อยละ 8.19 3.41 และ 1.93 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีฯ เพิ่มขึ้นจากกลุ่มเดียวกันข้างต้น ร้อยละ 6.08 9.87 และ 4.88 ตามลำดับ ตามความต้องการบริโภคของบรรจุภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งขยายตัวทั้งตลาดในอาเซียน ที่เป็นตลาดส่งออกหลักและความต้องการเพื่อการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของตลาดในประเทศ ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์กระดาษมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 560.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.04 และ 13.15 ตามลำดับ จากการส่งออกเยื่อกระดาษชนิดเยื่อไม้เคมีละลายน้ำได้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 ไปยังประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน ในส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ส่งออกเพิ่มขึ้นไปเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับหนังสือและสิ่งพิมพ์ ส่งออกลดลงในกลุ่มหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม โบรชัว แผ่นปลิว รูปลอก รวมถึงหนังสือภาพ สมุดวาดเขียน หรือสมุดระบายสีสำหรับเด็ก

การนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 711.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.06 และ 8.51 ตามลำดับ จากการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษชนิดที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์ นำเข้าลดลง ร้อยละ 0.79 และ 2.18 ตามลำดับ จากความนิยมสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ ถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิทัล

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

การพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับนโยบาย Thailand 4.0 สำนักงานส่งเสริมการจัดงานประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ได้ร่วมการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ "CCE South East Asia-Thailand 2018" และงาน "ICE South East Asia 2018" ในเดือนกันยายน 2561 เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและในภูมิภาคได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการในการผลิตและส่งเสริมศักยภาพทางการตลาด มุ่งสู่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก 4.0 สอดรับกับนโยบาย Industry 4.0 ของประเทศ (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.ice-southeastasia.com)

อุตสาหกรรมเซรามิก

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายเซรามิกในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 หดตัว เนื่องจากมีเทศกาลหยุดยาวและเข้าสู่ฤดูฝน ประกอบกับมีการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐเอมริกาและจีน โดยเครื่องสุขภัณฑ์มีอัตราการขยายตัวสูงสุดซึ่งขยายตัวไปยังตลาดหลักทุกตลาด และลูกถ้วยไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออกสูงสุด โดยขยายตัวได้ดีในจีนและมาเลเซีย

การผลิต จำหน่าย และส่งออกเซรามิก

การผลิต ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 กระเบื้องบุพื้น บุผนัง มีปริมาณการผลิต 34.41 ล้านตารางเมตร ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 5.55 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.24 (%YoY) เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงจากสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณการผลิต 1. 82 ล้านชิ้น ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 3.40 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 4.41 จากการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากตลาดหลักต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การจำหน่าย ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 กระเบื้องบุพื้น บุผนัง มีปริมาณการจำหน่าย 40.91 ล้านตารางเมตร ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 7.90 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.59 (%YoY) ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์มีจำนวน 0.99 ล้านชิ้น ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 6.59 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.91

การส่งออก ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 การส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีมูลค่า 24.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 1.33 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 8.44 จากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงของ สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดหลัก ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์มีมูลค่า 52.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 0.72 แต่เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 22.74 โดยมียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดหลักทุกตลาด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน

แนวโน้มอุตสาหกรรมเซรามิก ไตรมาส 3 ของปี 2561

การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศช่วงไตรมาส 3 ของปี 2561 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจไทย ประกอบกับการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน โดยการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ คาดว่าจะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องในทุกตลาดหลัก สำหรับมูลค่าการนำเข้ากระเบื้องปูพื้น บุผนัง คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงของการนำเข้าจากประเทศจีน

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเซรามิก

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรม จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ให้คำปรึกษาแนะนำ แก้ไขปัญหาตามความต้องการของผู้ประกอบการ โดยแบ่งการให้บริการออกเป็น ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ศูนย์ออกแบบและจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ ศูนย์วิเคราะห์วิจัยวัสดุอุตสาหกรรม ศูนย์เครื่องจักรกลางและโรงงานต้นแบบ และศูนย์แสดงสินค้าเชื่อมโยงธุรกิจ โดยเฉพาะการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาพัฒนาเซรามิกให้ดีขึ้น พร้อมเชื่อมโยงผู้ประกอบการ ผู้ผลิต นวัตกรรม และงานวิจัยเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ ก้าวไปสู่การแข่งขันกับระดับโลก

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนมีการผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้นตามความคืบหน้าของการก่อสร้างสาธารณูปโภค การส่งออกหดตัวจากคำสั่งซื้อที่ลดลงของตลาดส่งออกหลักที่มีการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศแล้ว

การผลิตปูนซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในไตรมาสที่ 2ปี 2561 มีจำนวน 9.73 ล้านตัน ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 8.33 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับ ปีก่อน ร้อยละ 1.13 (%YoY) เพื่อรองรับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ตามความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 8.33 ล้านตัน ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 9.89 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 1.72 (%YoY))

การส่งออก - นำเข้าปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ใน ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่าจากการส่งออก 79.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15.15 (%QoQ) เมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 และลดลงร้อยละ 9.38 (%YoY) จากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนจากการปรับลดคำสั่งซื้อของบังคลาเทศ และเวียดนาม โดยลดลงร้อยละ 99.79 และ 80.90 ตามลำดับ ส่วนมูลค่าการนำเข้า 17.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 16.51 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 55.08 โดยเพิ่มขึ้นมากจากการนำเข้าปูนซีเมนต์ราคาถูกจาก สปป.ลาว ร้อยละ 64.87

แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ปริมาณการผลิต และการจำหน่าย เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นร้อยละ 3.70 และ 4.22 ตามลำดับ จากความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่างๆ ประกอบกับในภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนเริ่มมีแผนการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ๆ หลายโครงการส่วนมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น ร้อยละ 19.30 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและได้ปริมาณจากตลาดส่งออกนอกอาเซียนเพิ่มขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

ภาครัฐเร่งการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย- มีนบุรี) และเร่งเคลียร์พื้นที่ก่อสร้างและย้ายระบบสาธารณูปโภคเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเพิ่มโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการทางด่วน (พระราม 3-ดาวคะนอง) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 4 ของปี 2561 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ซึ่งคาดว่าจะออก TOR ได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 และเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี เป็นต้น

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 การผลิตเส้นใยประดิษฐ์ขยายตัวจากการพัฒนาและผลิตเส้นใยสมบัติพิเศษต่าง ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการส่งออกเส้นใยสิ่งทอของไทย ให้ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559

การผลิตและจำหน่ายในประเทศ

เส้นใยประดิษฐ์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.8 (YoY) โดยเป็นกลุ่มเส้นใยสมบัติพิเศษต่าง ๆ เช่น เส้นใยคอลาเจน เส้นใยคาร์บอน เส้นใยกันไฟ เส้นใย PLA เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น และผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายบุรุษ เพื่อรองรับการส่งออกไปยังต่างประเทศ สำหรับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ผ้าทอ) มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.1 จากการผลิตเสื้อผ้าจากเส้นใยประดิษฐ์ เพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

เส้นด้ายจากใยธรรมชาติ และผ้าผืน มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 20.6 และ 15.1 (YoY) ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงของผลิตภัณฑ์เส้นด้ายและผ้าทอที่ผลิตจากฝ้าย ซึ่งไทยมีการนำเข้าฝ้ายมาเป็นวัตถุดิบลดลง แต่เน้นการผลิตเส้นด้ายและผ้าผืนจากใยประดิษฐ์เพิ่มขึ้น

การส่งออก-นำเข้า

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภาพรวม มีมูลค่า 1,781.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.6 (YoY) หากพิจารณากลุ่มสิ่งทอ พบว่า ขยายตัว ร้อยละ 2.8 เป็นผลจากการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์สมบัติพิเศษ และผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์สมบัติพิเศษ ซึ่งไทยมีศักยภาพในการส่งออก ในตลาดสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ตุรกี เวียดนาม และบังคลาเทศ ในส่วนการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ถุงมือ ในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เบลเยียม และจีน ประกอบกับมีแบรนด์ต่างประเทศพิจารณาให้ไทยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มขยายตัว

การนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภาพรวม มีมูลค่า 1,335.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.8 (YoY) โดยเป็นการนำเข้าด้ายและเส้นใยคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกา ผ้าผืนจากจีน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และการนำเข้าเสื้อผ้าแบรนด์ดังระดับโลกและระดับภูมิภาค ในลักษณะการเปิดสาขาหรือร้านจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า รวมถึงการนำเข้าเสื้อผ้ายืดราคาถูกจากจีนเข้ามาจำหน่าย

คาดการณ์แนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2561

ภาพรวมการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใย และผ้าผืน ไปยังตลาดเวียดนาม และบังคลาเทศ ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตเส้นใยสมบัติพิเศษหลายชนิด เป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-curve ตามเป้าหมายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐกิจโลกมีทิศทางขยายตัว โดยเฉพาะประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น รวมถึงสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาสถานการณ์การเมืองภายในประเทศซึ่งอาจส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการบริโภคภาคครัวเรือน

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ที่ปรับลดลงในตลาด จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 1.53 ล้านชิ้น ลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 1.29 และ 13.56 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อของผู้ผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้รายใหญ่ลดลง

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 0.32 ล้านชิ้น ลดลงจากไตรมาสก่อนและ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเท่ากันที่ ร้อยละ 3.03 เป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 904.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสก่อนและ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.70 และ 4.65 ตามลำดับ แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนและชิ้นส่วน 234.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 6.24 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 4.26 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ 39.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.41 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับลดลงร้อยละ 9.73 และมูลค่าการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ 630.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับลดลงจาก ไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.23 และ 7.27 ตามลำดับ ในภาพรวมการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้มีการปรับลดลงโดยเฉพาะในตลาด จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม

แนวโน้มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 คาดว่าจะยังคงชะลอตัว ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศและการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ตามแนวโน้มการปรับลดลงของคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบในหลักการการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ (ทส.) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์และช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยกรมป่าไม้ได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ โดยให้พิจารณาให้มีระบบกำกับ ควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับ การรับรองไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

อุตสาหกรรมยา

ปริมาณการผลิตยาในประเทศ ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามคำสั่งซื้อที่ปรับลดลง ในขณะที่มีปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในส่วนของการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะฮ่องกง เมียนมา และฟิลิปปินส์

การผลิตยา ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 10,821.17 ตัน ลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.19 และ 3.28 ตามลำดับ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อลดลง ประกอบกับผู้ผลิต รายใหญ่ของไทยบางรายมีการปรับปรุงระบบการผลิต ทำให้มีปริมาณการผลิตยาหลายชนิดลดลง โดยเฉพาะในส่วนของยาน้ำ การจำหน่ายยา ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 10,727.82 ตัน ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 9.74 ในขณะที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.03 ในภาพรวมการจำหน่ายยาของผู้ผลิตในประเทศยังขยายตัวได้ แต่ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องในส่วนของการจำหน่ายยาน้ำ

การส่งออกยาไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 95.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.39 และ 9.99 ตามลำดับ จากการขยายตัวที่ดีของตลาดฮ่องกง เมียนมา ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และมาเลเซีย ในส่วนของการนำเข้ายามีมูลค่า 475.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.29 และ 27.37 ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้ายาจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และเปอร์โตริโก เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเยอรมนีซึ่งในไตรมาสนี้มีมูลค่าการนำเข้ายาเพิ่มขึ้นถึง 34.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 71.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมยา ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

สำหรับการผลิตยาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.64 โดยเป็นการขยายตัวของการผลิตยาทุกชนิดยกเว้นในส่วนของยาน้ำ ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดยาในประเทศและตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะฮ่องกงและเมียนมา

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยา

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอยู่ระหว่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มบทบัญญัติในการคุ้มครองประชาชนผู้ใช้ยาอย่างเพียงพอ และแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตและการควบคุมการผลิต การขาย รวมถึงการนำเข้ายา ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตยางรถยนต์และถุงมือยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่มีปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลงตามการชะลอตัวของตลาดส่งออก โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 3.00 แสนตัน 8.59 ล้านเส้น และ 4.37 พันล้านชิ้น ตามลำดับ ในส่วนของการผลิตยางรถยนต์และถุงมือยางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.77 และ 15.91 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.91 ตามการส่งออกที่ปรับลดลง

การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวน 40.95 พันตัน 5.74 ล้านเส้น และ 1,006.70 ล้านชิ้น ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.93 12.10 และ 60.21 ตามลำดับ ตาม การขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และความต้องการใช้ทางการแพทย์ที่สูงขึ้น

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 1,253.36 1,230.02 และ 284.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.96 และ 12.79 ตามลำดับ จากการขยายตัวของตลาด สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และมาเลเซีย ในสินค้ายางรถยนต์ และตลาดเนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และเบลเยี่ยม ในสินค้าถุงมือยาง ในขณะที่การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.46 จากการปรับลดคำสั่งซื้อลงของจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

การผลิตยางรถยนต์และถุงมือยางในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.66 และ 3.33 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นคาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 2.83 ตามแนวโน้มคำสั่งซื้อที่ปรับลดลงของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีน

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง

การยางแห่งประเทศไทยมีการดำเนินโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.raot.co.th

อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง

ไตรมาส 2 ปี 2561 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.75 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากทุกผลิตภัณฑ์ทั้งหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.66 9.62 และ 1.50 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชียอย่างต่อเนื่อง

การผลิต
  • การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.26 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิต เพื่อการส่งออก และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับกระเป๋าเดินทาง* มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.25
  • รองเท้า มีดัชนีผลผลิตลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.73 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
การส่งออก-นำเข้า
  • การส่งออกมีมูลค่ารวม 440.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.75 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.66 9.62 และ 1.50 ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีเวียดนาม จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นตลาดส่งออกสำคัญ
  • การนำเข้ามีมูลค่ารวม 507.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.48 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าวัตถุดิบหนังดิบและหนังฟอก กระเป๋า และรองเท้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.69 20.05 และ 21.93 ตามลำดับ จากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การขยายตัวของการท่องเที่ยว และความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว
แนวโน้มอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 3 ปี 2561

การผลิตรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 3 คาดว่า การฟอกและตกแต่งหนังฟอก จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มรองเท้า มีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรองเท้ากีฬาและรองเท้าผ้าใบจากเทรนด์แฟชั่นการแต่งกายที่ผู้คนทั่วไปหันมาใส่ใจในการออกกำลังกายมากขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางมีแนวโน้มการผลิตลดลง เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทดแทนการผลิตภายใน

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง

ในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2561 พบว่า รายได้จากการท่องเที่ยวเมืองรอง (55 จังหวัด) มีรายได้เป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.14 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติการณ์ และเป็นสัญญาณที่ดีของการท่องเที่ยวในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาพรวมของการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีหลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่า จะยังคงขยายตัว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือช่วง High season ซึ่งมีวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ ในช่วงปลายปี อีกทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง จะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นภาพรวมของการบริโภคสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นได้เป็นอย่างดี

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการตั้งและขยายโรงงานของผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นของกลุ่มวัตถุดิบอัญมณี อาทิ เพชร พลอย และไข่มุก รวมถึงเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยเงินและทอง

การผลิต อัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 2.19 (%QoQ) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผลิตสินค้าใหม่ทดแทนสต็อกที่นำออกจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.61 (%YoY) เนื่องจากมีการตั้งและขยายโรงงานของผู้ประกอบการรายใหญ่

การจำหน่าย อัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2561 ลดลง ร้อยละ 6.94 (%QoQ) และ 13.97 (%YoY) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน

การส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ไตรมาส 2 ปี 2561 หดตัว ร้อยละ 15.41 (%QoQ) แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.97 (%YoY) ส่วนใหญ่ได้รับอานิสงส์จากมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นของกลุ่มวัตถุดิบอัญมณี อาทิ เพชร พลอย และไข่มุก รวมถึงเครื่องประดับแท้ทั้งนี้ หากพิจารณาในภาพรวม พบว่า มูลค่าการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับ หดตัว ร้อยละ 5.55 จากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.77 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงราคาทองคำในตลาดโลก

คาดการณ์แนวโน้ม ไตรมาส 3 ปี 2561

ไตรมาส 3 ปี 2561 คาดว่า การผลิตและการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากการ ฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภคในหลายตลาด อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ขณะที่แนวโน้มการส่งออกในภาพรวม คาดว่าจะหดตัวลดลง ตามทิศทางการปรับตัวของราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลก

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนิน "โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence" หรือ BWC ตามนโยบายของรัฐบาล โดยบูรณาการร่วมกับกรมการท่องเที่ยว สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ในการสนับสนุนการตรวจสอบ พร้อมออกใบรับรองคุณภาพสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสร้างมาตรฐานของสินค้า รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค ต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย

อุตสาหกรรมอาหาร

ปริมาณการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 เพื่อรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารยังได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกที่ความต้องการบริโภคขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น กอปรกับการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น จากภาพรวมเศรษฐกิจภาพรวมที่กำลังซื้อในประเทศเริ่มแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่อง

การผลิตอาหาร ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีปริมาณ 8,651,669.86 ตัน ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 50.66 (%QoQ) ปัจจัยหลักจากการเข้าสู่ปลายฤดูกาลปิดหีบอ้อยของสินค้าน้ำตาล และปลายฤดูกาลออกผลผลิตของมันสำปะหลัง แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนร้อยละ 29.11 (%YoY) เพื่อรองรับผลิตเพื่อรองรับผลผลิตออกสู่ตลาดของสินค้าเกษตรที่สำคัญ กอปรกับเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ น้ำตาลทรายดิบ ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำมันรำข้าวดิบ สับปะรดกระป๋อง ทูน่ากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมพร้อมดื่ม เนื้อไก่แช่แข็งและแช่แย็น และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์

การจำหน่ายอาหาร ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีปริมาณ 5,352,499.21 ตัน ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 12.68 (%QoQ) แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.37 (%YoY) จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำมันรำข้าวดิบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื้อไก่ แปรรูป เนื้อไก่แช่แข็งและแช่แย็น นมพร้อมดื่ม และน้ำมันปาล์มดิบ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจภาพรวมที่กำลังซื้อในประเทศเริ่มแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคที่เริ่มดีขึ้น

การส่งออกไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 7,861.36 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 6.13 (%QoQ) จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น อาทิ ทุเรียนสด น้ำตาลทราย กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าว และ สิ่งปรุงรส และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.18 (%YoY) จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของสินค้าทั้งปริมาณและมูลค่า อาทิ ข้าวขาว ทุเรียนสด มะม่วงสด เนื้อไก่แช่แข็งและแช่แย็น เนื้อไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร (ซอส และน้ำปลา) ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสินค้าที่ปริมาณลดลงแต่มูลค่าเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวหอมมะลิ สตาร์ชที่ทำจากมันสำปะหลัง มันเส้น และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จ จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น

การนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 3,565.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ร้อยละ 0.52 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนร้อยละ 5.47 (%YoY) จากการนำเข้ากากพืชน้ำมัน ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค และกาแฟ ชา เครื่องเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารนมและอาหาร อื่น ๆ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 3 ปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยบวกอย่างเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มพื้นที่ปลูกและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย อาทิ ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และอ้อย ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ CLMV รวมทั้งการขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้น อาทิ อาเซียน แอฟริกา และตะวันออกกลาง ทั้งนี้ IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP โลกเป็นร้อยละ 3.9 จากเดิม ร้อยละ 3.5 แม้จะมีปัจจัยลบอย่างความผันผวนของค่าเงินบาท และราคาพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น เนื้อไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง เช่นเดียวกับการบริโภคในประเทศคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร

นโยบาย Super Cluster "การจัดตั้งเมืองนวัตกรรมด้านอาหาร (Food Innopolis)" ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมการแปรรูปอาหารอย่างครบวงจร และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน (Special Economic Zone : SEZ) เพื่อเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก อาทิ โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรตามแนวชายแดนเพื่อรองรับวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) ที่จะผลักดันให้ไทยเป็น "มหานครผลไม้โลก" โดยสร้างคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งการผลิตและการค้าผลไม้ พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลไม้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มขยายตัว

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ