ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 20, 2018 14:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2561 ยังคงขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 นับจากเดือนพฤษภาคม 2560 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.7

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด กล่าวคือ ในเดือนเมษายนมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 3.1 เดือนพฤษภาคมร้อยละ 2.9 และเดือนมิถุนายนร้อยละ 5.0 ส่งผลให้ MPI ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 ที่ MPI ขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.9 สะท้อนทิศทางการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนเมษายน เดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงตามปกติ กล่าวคือ ในเดือนเมษายนมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ -20.9 เดือนพฤษภาคมร้อยละ 14.7 และเดือนมิถุนายนร้อยละ -1.1 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลในรอบปี ที่ MPI จะชะลอตัวลงในเดือนเมษายนจากการที่โรงงานส่วนใหญ่ปิดทำการช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัว คือ

  • รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 (จำนวนคัน) เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 จากรถกระบะ เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1800 ซีซี ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่ในสินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มคนชั้นกลางและผู้ที่ซื้อไปประกอบอาชีพ (กรณีของรถกระบะ) สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีทิศทางที่ดี นอกจากนี้ตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ทำให้ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 และการส่งออกขยายตัวร้อยละ 0.15
  • น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.3 จากผลผลิตอ้อยที่มีปริมาณมากในปีนี้ทำให้มีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ได้มากกว่าปีก่อน โดยการผลิตน้ำตาลทรายขาวนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำอัดลม อาหารสำเร็จรูป และเพื่อการบริโภคในครัวเรือน ส่วนน้ำตาลทรายบริสุทธิ์นำไปใช้ในอุตสาหกรรม ที่ต้องการวัตถุดิบที่มีความบริสุทธิ์เป็นพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่มบำรุงกำลัง และผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องเก็บไว้เป็นระยะเวลานาน
  • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ตามความต้องการของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกหลักที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ทั้งนี้ประเทศไทยยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออก ทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยยังมีการผลิตขั้นต้นน้ำค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นขั้นกลางน้ำและปลายน้ำเป็นส่วนมาก
  • การกลั่นปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 ตามความต้องการใช้เดินทางขนส่งและความต้องการในภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว
  • ผลิตภัณฑ์ยางที่มิใช่ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.82 จากสินค้ายางแท่งเป็นหลัก เนื่องจากในปีก่อนราคายางมีความผันผวน ทำให้ลูกค้าที่ประเทศจีนชะลอคำสั่งซื้อ แต่มาในปีนี้มีน้ำยางออกสู่ตลาดในปริมาณมาก ทำให้ราคายางปรับตัวลดลง ทำให้ลูกค้าเริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาหลังจากชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปี 2561 จะขยายตัวเป็นบวกเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.0 (ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งทำให้การส่งออกและภาคการผลิตขยายตัวในเกณฑ์ดี นอกจากนี้แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งขึ้นตามการเบิกจ่ายและความคืบหน้าของโครงการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนตามการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และการปรับตัวดีขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2561 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 69.21 ปรับตัวดีขึ้นจากช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.74

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนกรกฎาคม 2561

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย

+ การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนกรกฎาคม 2561 มีมูลค่า 1,473.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องสูบลม เครื่องสูบของเหลว เครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ และเครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะ

+ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนกรกฎาคม 2561 มีมูลค่า 7,277.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม
  • จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกรกฎาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 309 โรงงาน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2561 ร้อยละ 18.9 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.7 (%YoY)
  • มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกรกฎาคม 2561 มีมูลค่ารวม 22,938.1 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2561 ร้อยละ 22.41 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.8 (%YoY)
"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนกรกฎาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์ปูนปลาสเตอร์ (25 โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน (22 โรงงาน)"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน จำนวนเงินทุน 4,725.7 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมทำเครื่องปรุงกลิ่น รส หรือสีของอาหาร จำนวนเงินทุน 2,818 ล้านบาท"

+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนกรกฎาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 129 ราย ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2561 ร้อยละ 18.4 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 50.4 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนกรกฎาคม 2561 มีมูลค่ารวม 1,760.4 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2561 ร้อยละ 60.7 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 85.2 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนกรกฎาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน (12 โรงงาน) และอุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (9 โรงงาน)

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนกรกฎาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการบรรจุก๊าซ มูลค่าเงินลงทุน 318 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการลำเลียงซีเมนต์ ปูนขาว หรือปูนปลาสเตอร์มูลค่าเงินลงทุน 288 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนกรกฎาคม 2561

1.อุตสาหกรรมอาหาร

+ การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนกรกฎาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ คือ น้ำตาลทราย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.7 (%YoY) เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับการผลิตทูน่ากระป๋องปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 (%YoY) จากความกดดันด้านราคาวัตถุดิบและราคาสินค้าคลายตัว ทำให้ประเทศคู่ค้าเพิ่มคำสั่งซื้อมากขึ้น

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และนมพร้อมดื่ม การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 และ 4.3 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

+ การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหาร ในประเทศ เดือนกรกฎาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.8 (%YoY) เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น

+ ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนกรกฎาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสินค้า เช่น ซาร์ดีนกระป๋อง ข้าวขาว น้ำตาลทราย ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง สิ่งปรุงรส แป้งมันสำปะหลัง ไก่แปรรูป ข้าวโพดหวานกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ข้าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.5 53.8 41.0 29.5 21.3 16.9 16.8 9.9 4.6 และ 4.0 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการสินค้าของตลาดโลกที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก

+ คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าการผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนสิงหาคม 2561 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากโอกาสขยายการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ได้แก่ กุ้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง สุกรแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งคาดว่าจีนจะนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากสหรัฐน้อยลงจากการขึ้นภาษี เพื่อตอบโต้มาตรการทางการค้าของสหรัฐ รวมทั้งสินค้าข้าว (ข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ) ที่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิม รวมถึงปัจจัยบวกจากนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

+ ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ และ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัว ร้อยละ 5.02 และ 12.62 (%YoY) เพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัว ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสมบัติพิเศษ เช่น เส้นใยคอลาเจน เส้นใยอาระมิด และเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์

  • ผ้าผืน ลดลงร้อยละ 1.75 (%YoY) โดยเป็นการลดลงในกลุ่มผ้าทอจากฝ้ายซึ่งไทยไม่มีวัตถุดิบในประเทศ และความต้องการผ้าฝ้ายในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ยังขยายตัวได้ดี
การจำหน่ายในประเทศ

+ กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน ขยายตัว ร้อยละ18.98 และ 9.48 (%YoY) โดยเป็นกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ ส่วนหนึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเสื้อลายฝีพระหัตถ์ ในหลวงรัชกาลที่ 10 รวมถึงใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหมวกและผ้าพันคอในโครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ ซึ่งมีประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ประกอบกับมีโรงงานผลิตเส้นใยสังเคราะห์ขายสินค้าล้างสต๊อกเพื่อเตรียมผลิตสินค้าชนิดใหม่ ส่งผลให้การจำหน่ายในประเทศขยายตัวสูง

  • เสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 4.37 (%YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคสนใจซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูกที่นำเข้าจากจีน และเวียดนาม
การส่งออก

+ กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.98 10.94 และ 11.67 ตามลำดับ (%YoY) โดยเส้นใยสิ่งทอขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ คือ เส้นใยสังเคราะห์และผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเส้นใยและผ้าผืนที่มีสมบัติพิเศษ ที่ไทยมีศักยภาพทั้งในการผลิตและการส่งออก โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา บังคลาเทศ และกัมพูชา

คาดการณ์แนวโน้มเดือนสิงหาคม 2561

+ แนวโน้มการผลิตกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และ ผ้าผืน คาดว่า จะขยายตัวในกลุ่มเส้นใยที่มีสมบัติพิเศษ และผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ เพื่อรองรับการส่งออกไปยังตลาดเวียดนาม บังคลาเทศ และญี่ปุ่น สำหรับกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป อาจมีการผลิตทรงตัว เนื่องจากผู้บริโภคนิยมเสื้อผ้าจากต่างประเทศในกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่นราคาย่อมเยาจากจีน และกลุ่มสินค้าหรูแบรนด์ดัง

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีจำนวน 183,119 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2561 ร้อยละ 3.10 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.10 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ทั้งนี้ การผลิตรถยนต์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีจำนวน 81,946 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2561 ร้อยละ 6.72 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 25.73 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ การลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่

+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีจำนวน 90,151 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2561 ร้อยละ 5.39 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.15 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ขยายตัวในประเทศ แถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม ปี 2560 เนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลก"

+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีจำนวน 172,157 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2561 ร้อยละ 9.31 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.37 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบเอนกประสงค์

  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 134,036 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2561 ร้อยละ 25.34 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.60 (%YoY)

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีจำนวน 31,941 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ปี 2561 ร้อยละ 3.19 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.01 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม และกัมพูชา

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม ปี 2560"

4. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีจำนวน 7.15 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ปี 2561 ร้อยละ 1.21 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ร้อยละ 6.30 (%YoY) เป็นการผลิตเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดในประเทศ

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีปริมาณการจำหน่าย 2.90 ล้านตัน ลดลงเพียงเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน ปี 2561 ร้อยละ 0.52 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.45 (%YoY) จากการก่อสร้างสาธารณูปโภคภาครัฐที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนที่มีการขยายตัวตาม

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีจำนวน 1.06 ล้านตัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2561 ร้อยละ 17.25 (%MoM) เนื่องจากตลาดเมียนมาและลาวที่เคยเป็นตลาดส่งออกหลักปรับลดคำสั่งซื้อลงอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.45 (%YoY) เป็นผลจากตลาดส่งออกหลักอย่างบังคลาเทศ และฟิลิปปินส์ ปรับเพิ่ม คำสั่งซื้อ ร้อยละ 31.93 และ 27.08 ตามลำดับ

+ คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์รวมในเดือนสิงหาคม ปี 2561 คาดว่าสามารถจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องเฝ้าระวังปัจจัยลบจากภาวะฝนตกชุกและการเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัด

+ การผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีจำนวน 3.43 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ปี 2561 ร้อยละ 2.10 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.19 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ภายในประเทศ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.90 ล้านตัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2561 ร้อยละ 0.52 (%MoM) เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุม เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัด แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.61 (%YoY) เนื่องจากตลาดในประเทศขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และความต้องการเพิ่มขึ้นตามความคืบหน้าของการก่อสร้างสาธารณูปโภคภาครัฐและการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชน

+ การส่งออกซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีจำนวน 0.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ปี 2561 ร้อยละ 11.39 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.41 (%YoY) เป็นผลจากตลาดส่งออกหลักอย่างเมียนมา และ กัมพูชา ปรับลดคำสั่งซื้อ ร้อยละ 31.27 และ 23.03 ตามลำดับ

+ คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิต ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 คาดว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นอีกตามความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างด้านสาธารณูปโภคภาครัฐ และตามการขยายตัวของการก่อสร้างภาคเอกชน

5. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า
          - การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังคงทรงตัว โดยปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 99.3 สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และสายไฟฟ้า โดยลดลงร้อยละ 22.7 , 17.5 , 12.1 , 9.0 และ 3.3 ตามลำดับ โดยมอเตอร์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้ามีการผลิตลดลงเนื่องจากความต้องการในประเทศลดลง ในขณะที่ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ และเครื่องซักผ้ามีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง ในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กระติก     น้ำร้อน คอมเพรสเซอร์ เครื่องปรับอากาศ หม้อหุงข้าว และพัดลม     ตามบ้าน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 , 14.6 , 14.4 , 9.1 และ 2.6 ตามลำดับ โดยกระติกน้ำร้อนมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในประเทศทำให้มีการจำหน่ายมากขึ้น เครื่องปรับอากาศ หม้อหุงข้าว พัดลม และคอมเพรสเซอร์มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

+ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,896.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าหลัก อาทิ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 408.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 เครื่องอุปกรณ์สำหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 135.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ในขณะที่ตู้เย็นมีมูลค่าส่งออก 119.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.8 โดยลดลงในตลาดหลักเกือบทั้งหมด เช่น อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ส่วนเครื่องซักผ้ามีมูลค่าส่งออก 110.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.2 โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา

"คาดการณ์การผลิตเดือนสิงหาคม 2561 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่เครื่องซักผ้า ตู้เย็นมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง"

+ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลัก ได้แก่ Monolithic IC, PCBA, Printer, Semiconductor devices transistor (อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์), HDD และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0, 13.9, 9.6, 8.9, 8.5 และ 5.2 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก โดยเฉพาะ IC ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet ส่วน HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage และในตลาดมีการพัฒนา Semiconductor มากขึ้น เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์สมาร์ทต่าง ๆ เช่น นาฬิกาจอ LED และโฟโต้เซนเซอร์ที่ใช้ในกล้องถ่ายรูป

+ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,019.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,172.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ในขณะที่วงจรรวม (IC) มีมูลค่าส่งออก 671.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.3 โดยลดลงในตลาดจีนร้อยละ 41.5 และสหภาพยุโรปร้อยละ 2.2

"คาดการณ์การผลิตเดือนสิงหาคม 2561 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรรวม เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง"
6. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

+ ดัชนีการผลิต ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีค่า 130.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ เหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1 จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋อง รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 6.5 และ 5.5 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 2.5 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดเย็น ลดลงร้อยละ 13.4 รองลงมา คือ เหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลงร้อยละ 8.9 7.2 และ 5.0 ตามลำดับ ซึ่งเหล็กเส้นข้ออ้อย ดัชนีผลผลิตลดลงติดต่อกันหลายเดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560-พฤษภาคม 2561 และเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 กลับมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 หลังจากนั้นเดือนกรกฎาคม 2561 กลับมาลดลงอีกครั้ง

+ การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีปริมาณ 1.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับเหล็กทรงยาว มีการบริโภค 0.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ซึ่งเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 และเหล็กลวด เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 โดยเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก หลังจากลดลงติดต่อกันมา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2561 ส่วนเหล็กทรงแบน มีปริมาณ 1.0 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 โดย เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.0 รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดบาง เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่น ๆ และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (ทั้งแบบ HDG และ EG) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.4 9.7 และ 5.4 ตามลำดับ

+ การนำเข้า ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 การนำเข้า มีปริมาณ 0.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณ 0.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เนื่องจากการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดบาง ประเภท Carbon Steel เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดบาง ประเภท Alloy Steel ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 146.2 54.2 และ 45.3 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณ 0.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เนื่องจากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ประเภท Carbon Steel เหล็กลวด ประเภท Carbon Steel และเหล็กเส้น ประเภท Stainless Steel ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 116.9 28.3 และ 15.7 ตามลำดับ

"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนสิงหาคม 2561 คาดการณ์ว่า การผลิตชะลอตัว โดยดัชนีการผลิตลดลงร้อยละ 3.0 ซึ่งลดลงจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนและกลุ่มเหล็กทรงยาว โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนลดลง เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องซักผ้าและตู้เย็น ส่วนเหล็กทรงยาวการผลิตทรงตัว นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าติดตามเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ผลิตเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในด้านการส่งออก ประกอบกับสหรัฐฯ กำลังยกร่างกฎหมายใหม่ "FART Act" ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถออกประกาศคำสั่งปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ารายการใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอัตราภาษีปกติ (MFN) และเพดานภาษีที่ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเปรียบเสมือนว่ากฎหมายนี้ เป็นกฎหมายที่สหรัฐฯ สามารถดึงตัวเองออกจากความเป็นสมาชิก WTO แบบกลาย ๆ"

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ