สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2561ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ประจำเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 โดย 8 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 3.6 (8 เดือนแรกปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.5) อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 65.87 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนสิงหาคม 2561 ได้แก่ น้ำตาลทราย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ น้ำมันปิโตรเลียม และเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ทางยา
น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 91.12 จากผลผลิตอ้อยในปีนี้มีมาก ทำให้มีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์มีมากกว่าปีก่อน
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 12.39 ตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มสินค้าโดยเฉพาะจากกลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ PCBA และ otherintegrated circuits (Ic)
เครื่องปรับอากาศ ขยายตัวร้อยละ 32.33 จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีสูงเพื่อขยายฐานลูกค้าในประเทศและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปติดตั้งตามอาคารต่างๆ ในการรองรับกีฬาโอลิมปิกรวมถึงการขยายตลาดใหม่ที่อินเดีย
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 7.43 ตามทิศทางเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งเดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 น้ำมันดีเซล รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นจากน้ำมันเครื่องบิน
เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ทางยา ขยายตัวร้อยละ 24.04 เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับการขยายตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ CLMV รวมทั้งการขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้น อาทิ อาเซียน แอฟริกา และตะวันออกกลาง
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง คาดว่าการผลิตยางรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 1.15 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ จะขยายตัวร้อยละ 3.80 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ที่สูงขึ้น
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าจะขยายตัวไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 1.5 และการบริโภคในประเทศมีปริมาณ 4.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่คาดการณ์ว่าจะผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ์า และการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ์าสายต่าง ๆ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐในช่วงปลายปี
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม