สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.75 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่การผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ MPI ไตรมาสที่ 4 ขยายตัว ร้อยละ 2.43 และ MPI ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.80 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.50
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.75 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่การผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 2.43 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.80 ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2560 ที่ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.50 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI เดือนธันวาคม 2561 ได้แก่ รถยนต์ น้ำตาลทราย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร โซดาและน้ำดื่มบรรจุขวด กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือ
รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.65 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถปิคอัพ เครื่องยนต์ดีเซล รถยนต์นั่งขนาดกลาง และเครื่องยนต์แก๊สโซลีน โดยเฉพาะรถยนต์ปิคอัพและเครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงผู้ผลิตมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปีอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมยังคงเติบโตจากตลาดในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.11
น้ำตาลทราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.46 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุจากโรงงานส่วนใหญ่เปิดหีบอ้อย ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.61 และเพิ่มประสิทธิภาพการหีบทำให้ผลิตได้ดีขึ้น
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และแผ่นวงจร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.96 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ PCBA ที่มีความต้องการสินค้ามากขึ้นในตลาดโลก
โซดาและน้ำดื่มบรรจุขวด ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.43 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำอัดลม น้ำดื่มให้กำลังงาน น้ำชาและน้ำโซดาโดยมีสาเหตุจากการเร่งผลิตหลังขยายกำลังการผลิต การเร่งผลิตหลังจากเปิดไลน์การผลิตใหม่ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นตลาด
กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 189.74 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือที่ได้เร่งผลิตและส่งมอบเพื่อจำหน่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยปีนี้ลูกค้าสั่งผลิตกระเป๋าขนาดเล็กจำนวนมาก และเป็นคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศเป็นหลัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 685.59
อุตสาหกรรมรถยนต์ ในไตรมาสที่ 4 การผลิตรถยนต์มีจำนวน 563,578 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.27 เป็นการจำหน่ายในประเทศมีจำนวน 295,155 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.62 และการส่งออกรถยนต์ 281,853 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.71
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 6.4 และ 0.2 ตามลำดับ เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตน้ำตาลทรายดิบ เนื่องจากปีนี้เข้าสู่ฤดูการเปิดหีบอ้อยเร็วกว่าปีก่อน ด้วยปริมาณผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง และปัจจัยบวกอย่างความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินค้าสำคัญ อาทิ ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง ไก่แปรรูป ข้าว (ข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ) และข้าวโพดหวานกระป๋อง แม้เศรษฐกิจโลกเริ่มโตเต็มศักยภาพและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เริ่มชะลอลง และยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาบ้าง รวมทั้งค่าเงินบาทแข็งค่า
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม