ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2562 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัว ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกหดตัวร้อยละ 4.9 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลง กล่าวคือ ในเดือนธันวาคม 2561 มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เดือนมกราคม 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 และเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ลดลงร้อยละ 1.3
สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนธันวาคม 2561 เดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนธันวาคม 2561 ลดลงร้อยละ 1.9 เดือนมกราคม 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 และเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลปกติที่ในเดือนธันวาคมและเดือนกุมภาพันธ์ การผลิตจะชะลอตัวลง
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมีนาคม 2562 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
- รถยนต์และเครื่องยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.47 จากรถรถกระบะ 1 ตัน รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดกลาง ตามความต้องการของตลาดในประเทศหลังจากผ่านพ้นกำหนดเวลาตามเงื่อนไขโครงการรถยนต์คันแรก และการกระตุ้นตลาดด้วยการส่งเสริมการขายและการออกรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ รวมถึงการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป
- การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.01 ตามความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมีนาคม 2562 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
- Hard Disk Drive (HDD) หดตัวร้อยละ 21.21 จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและโน้ตบุ๊ก ซึ่งปัจจุบันจะใช้ SSD (Solid State Drive) ในการเก็บข้อมูลแทน รวมถึงการแทนที่ด้วยการจัดเก็บข้อมูลแบบคลาวด์ผ่านอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้การพัฒนา HDD ให้มีความจุสูงเพิ่มขึ้นส่งผลต่อปริมาณการผลิตที่เป็นจำนวนชิ้นที่ลดลง
- เหล็กและเหล็กกล้า หดตัวร้อยละ 11.25 จากเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กรูปพรรณรีดร้อนเป็นหลัก โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนผู้ผลิตบางรายยังคงหยุดผลิตชั่วคราว สำหรับสินค้าเหล็กแผ่นชนิดอื่น ๆ ผู้ผลิตได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อของลูกค้า เนื่องจากไม่สามารถสู้ราคาสินค้านำเข้าได้ รวมถึงความต้องการใช้เหล็กเส้นเพื่อการก่อสร้างยังคงมีอยู่อย่างจำกัด
- ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ หดตัวร้อยละ 10.42 จากยางแผ่น และยางแท่ง เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและร้อนจัดในปีนี้ทำให้น้ำยางออกสู่ตลาดน้อยกว่าปีก่อน
ในปี 2562 คาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม จะขยายตัวเป็นบวกอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากการลงทุนในโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน (public private partnership: PPP) และการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐทั้งรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้า รวมถึงการดำเนินงานภายใต้แผนงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างไรก็ตาม แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศหรือการส่งออก อาจจะชะลอลงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัวจากปัจจัยเฉพาะของบางประเทศ อาทิ ความยืดเยื้อของปัญหาทางการเมืองในยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น รวมทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน
เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนมีนาคม 2562
- การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่า 6,357.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าที่มีการนำเข้าหดตัว เช่น เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสินค้าบางรายการมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่นผ้าผืน ด้ายและเส้นใย กระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น
+ การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่า 1,516.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวจากการนำเข้าเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และส่วนประกอบ และ เครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ เป็นต้น
+ จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 270 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ร้อยละ 8.0 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.0 (%YoY)
+ มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่ารวม 28,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ร้อยละ 87.2 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 136.7 (%YoY)
"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนมีนาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสมยิปซัม ปูนปลาสเตอร์ (24 โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (21 โรงงาน)"
"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนมีนาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมโรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม จำนวนเงินทุน 15,360 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน จำนวนเงินทุน 1,842 ล้านบาท"
+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 159 ราย ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ร้อยละ 11.7 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.2 (%YoY)
+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่ารวม 1,658 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ร้อยละ 91.1 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.6 (%YoY)
"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนมีนาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการปอก หัวพืช หรือทำหัวพืชให้เป็นเส้น แว่น หรือแท่ง และอุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (ทั้งสองอุตสาหกรรมมีจำนวน 9 โรงงานเท่ากัน) รองลงมาคืออุตสาหกรรมการทำเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องเรือน พลาสติก (7 โรงงาน)
"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนมีนาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการหมัก คาร์บอไนซ์ สาง หวี รีด ปั่น อบ หรือย้อมสีเส้นใย มูลค่าเงินลงทุน 249 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการตัดหรือการเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ มูลค่าเงินลงทุน 242 ล้านบาท"
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนมีนาคม 2562
- การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนมีนาคม 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.2 (%YoY) แบ่งเป็น
1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ (1) สับปะรดกระป๋องดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 31.5 (%YoY) เนื่องจากวัตถุดิบลดลงจากภัยแล้ง และฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อนด้วยผลผลิตที่ล้นตลาด ทำให้ในปีนี้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกลง ประกอบกับตลาดต่างประเทศยังคง หดตัวต่อเนื่อง และสต็อกผู้นำเข้าหลักอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง (2) น้ำตาลทรายขาว ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 11.9 (%YoY) เนื่องจากการเร่งปิดหีบเร็วกว่าปีก่อน และโรงงานน้ำตาลทยอยปิดหีบไปแล้ว (3) กุ้งแช่แข็ง ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 3.0 (%YoY) เนื่องจากวัตถุดิบกุ้งในประเทศลดลง ด้วยราคาขายที่ตกต่ำ และประเทศคู่ค้าหันไปนำเข้าจากอินเดียและอินโดนีเซียมากขึ้น
2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง ดัชนีการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 6.6 (%YoY) จากความต้องการบริโภคในประเทศชะลอตัวลง แต่ความต้องการบริโภคต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนมีนาคม 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.7 (%YoY) จากดัชนีรายได้เกษตรกรปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากดัชนีราคาสินค้าปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม และดัชนีผลผลิตสินค้าสำคัญปรับตัวลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน และสับปะรด
+ ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเดือนมีนาคม 2562 ปรับตัวกลับมาเป็นบวก ร้อยละ 1.7 (%YoY) หลังจากปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 4 เดือน ในสินค้าสำคัญ เช่น ซาร์ดีนกระป๋อง ไก่แปรรูป สิ่งปรุงรส ทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 16.9 9.6 6.4 5.9 และ 5.8 ตามลำดับ แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังไม่มีความชัดเจน แต่ความต้องการบริโภคในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และตะวันออกกลางยังมีอย่างต่อเนื่อง แม้สินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ มันเส้น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง น้ำตาลทราย และข้าวโพดหวานกระป๋อง ยังคงปรับตัวลดลง
คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าดัชนีการผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร เดือนเมษายน น่าจะหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยลบอย่างการปิดหีบอ้อยที่เร็วกว่าปีก่อน ประกอบกับ ผลผลิตทางการเกษตรปรับตัวลดลงจากภัยแล้งและความต้องการชะลอตัว อาทิ กุ้ง และสับปะรด สำหรับมูลค่าการส่งออกภาพรวมน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากปัจจัยบวกอย่างสหภาพยุโรปจัดสรรปริมาณโควตาส่งออกเนื้อไก่และสัตว์ใหม่ให้ไทย (เพิ่มจากโควต้าปัจจุบันร้อยละ 3.2) และจีนได้นำเข้าไก่ไทยเพิ่มขึ้นทดแทนการนำเข้าจากบราซิล ประกอบกับ EU ปลดล็อคใบเหลือง IUU Fishing หนุนภาพลักษณ์ประมงไทย น่าจะทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าประมงกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 115.3 สินค้า ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ คอมเพรสเซอร์ เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว มอเตอร์ไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า และสายไฟฟ้า โดยลดลง ร้อยละ 10.9, 0.6, 21.9, 15.3, 0.6, 54.5 และ 35.9 ตามลำดับ โดยหม้อหุงข้าว คอมเพรสเซอร์ เตาไมโครเวฟ มอเตอร์ไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า และสายไฟฟ้ามีการผลิตลดลงเนื่องจากการจำหน่ายในประเทศลดลง ส่วนเครื่องซักผ้ามีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากมีการนำสินค้าคงคลังมาจำหน่าย อย่างไรก็ตามสินค้าปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น พัดลมตามบ้าน กระติกน้ำร้อน และสายเคเบิ้ล เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6, 15.4, 6.4, 18.7 และ 11.8 โดยเครื่องปรับอากาศมีการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนตู้เย็นมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป
- การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 2,162.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป และอาเซียน โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 591.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.8 โดยลดลงในตลาดเวียดนามร้อยละ 24.3 แต่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดอินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นร้อยละ 12.6, 51.7 และ 30.8 ในขณะที่ตู้เย็นมีมูลค่าส่งออก 157.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้ามีมูลค่าส่งออก 154.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เครื่องซักผ้ามีมูลค่า 130.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.20
"คาดการณ์การผลิตเดือนเมษายน 2562 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่า จะปรับตัวลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อจากอาเซียนลดลง"
- การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลง 11.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 93.4 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor devices transistor, HDD, PWB, IC และ Printer โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 26.6, 22.6, 17.4, 0.9 และ 1.9 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวลดลง ในขณะที่ PCBA ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8
- การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,918.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,066.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 26.5 HDD มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 33.9 ลดลงในตลาดจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริการ้อยละ 43.4, 49.7 และ 35.1 เนื่องจากภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกชะลอตัวและ supply โลกของ SSD ส่วนเกินทำให้ราคาลดลงและแย่งตลาด HDD มากขึ้น ส่วนแผงวงจรไฟฟ้า (IC) มีมูลค่าส่งออก 634.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 23.4 โดยลดลงในตลาดจีนและสหรัฐอเมริการ้อยละ 46.4 และ 27.0 ตามลำดับ เนื่องจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของไทย
"คาดการณ์การผลิตเดือนเมษายน 2562 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ชะลอตัว โดย HDD ชะลอตัวลดลงเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี SSD ที่เข้ามาแทนที่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลประกอบกับราคาที่ลดลง"
3. อุตสาหกรรมยานยนต์
+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีจำนวน 198,821 คัน สูงสุดในรอบ 68 เดือน (สิงหาคม 2556) โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ร้อยละ 8.60 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.83 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีจำนวน 103,164 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ร้อยละ 25.31 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.50 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน เนื่องจากมีรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงหลังการเลือกตั้งที่มีการเตรียมจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจ
+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีจำนวน 117,708 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ร้อยละ 17.06 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.09 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ทั้งนี้การส่งออกมีจำนวนสูงสุดในรอบ 18 เดือน (ตุลาคม 2560)
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในเดือนเมษายน ปี 2562 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ปี 2561 เนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ"
+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีจำนวน 183,424 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ร้อยละ 13.43 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.02 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์ และแบบสปอร์ต
+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในมีนาคม ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 167,777 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ร้อยละ 15.43 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.94 (%YoY)จากการปรับเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี, 126-250 ซีซี และ 251-399 ซีซี
+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีจำนวน 43,690 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ร้อยละ 7.78 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 51.17 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน ปี 2562 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ปี 2561"
4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา
- ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 5.55 ตามปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาดลดลง เนื่องจากเป็นฤดูปิดกรีด และมีคำสั่งซื้อจากมาเลเซียและสหรัฐอเมริกาลดลง
- ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 3.23 ตามการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของตลาด Replacement
- ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 0.99 ตามการชะลอตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
- ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 6.56 ตามความต้องการใช้ในประเทศที่ชะลอตัวลง
- ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 6.74 ตามการหดตัวของตลาด Replacement
- ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 26.68 เนื่องจากผู้ผลิต รายใหญ่ของไทยบางรายปรับแผนการตลาดไปส่งออกมากขึ้น
+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.56 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยสั่งซื้อยางแท่งจากไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับฐานตัวเลขของปี 2561 ค่อนข้างต่ำ
+ ยางรถยนต์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.04 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 22.91
- ถุงมือยาง มีมูลค่าลดลงร้อยละ 10.04 จากการชะลอตัวของตลาดหลักของไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์
การผลิตและจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะปรับลดลงตามปริมาณการเข้าสู่ตลาดของยางที่ลดลงเนื่องจากเป็นฤดูปิดกรีด สำหรับการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยตามการชะลอตัวของตลาด Replacement ในส่วนของการผลิตถุงมือยางคาดว่าจะขยายตัวตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ ในขณะที่การจำหน่ายถุงมือยางในประเทศคาดว่าจะปรับตัวลดลงจากการที่ผู้ผลิตรายใหญ่บางรายปรับแผนการตลาดไปเป็นส่งออกมากขึ้น
การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะมีมูลค่าลดลงเนื่องจากจีนมีแนวโน้มชะลอการสั่งซื้อยางจากไทยลง ในขณะที่การส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยางคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
5. อุตสาหกรรมพลาสติก
ดัชนีผลผลิต-ดัชนีการส่งสินค้า
+ ดัชนีผลผลิต เดือนมีนาคม 2562 ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเตรียมการผลิตให้เหมาะสมกับปริมาณสินค้าคงคลังที่ลดลง โดยค่าดัชนีผลผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ท่อและข้อต่อพลาสติกเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ร้อยละ 17.08
- ดัชนีการส่งสินค้า เดือนมีนาคม 2562 ลดลงร้อยละ 1.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยค่าดัชนีส่งสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์กระสอบพลาสติกลดลงมากที่สุด คือ ร้อยละ 13.66 รองลงมา คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ลดลงร้อยละ 9.05 การตลาด
- การส่งออก เดือนมีนาคม ปี 2562 มีมูลค่า 362.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 6.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีผลทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงหลัก ๆ คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) ซึ่งส่วนใหญ่คือชิ้นส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรม ทำด้วยพลาสติก โดยคิดเป็นมูลค่า 13.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกโดยรวมลดลง เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง เช่น จีน ออสเตรเลีย กัมพูชา อินโดนิเซีย
- การนำเข้าเดือนมีนาคม ปี 2562 มีมูลค่า 376.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 0.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีการนำเข้าลดลง เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) และกลุ่มผลิตภัณฑ์หลอดหรือท่อ (3917) โดยมีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.46 และ 3.86 ตามลำดับ
แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนเมษายน 2562 คาดการณ์ว่าการผลิตและการตลาดจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีเทศกาลวันหยุดยาว รวมถึงปัจจัยจากสงครามการค้าที่อาจส่งผลลบต่อตลาด ทั้งนี้ ต้องติดตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและค่าเงินบาทซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิต
- ดัชนีผลผลิต ของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ในเดือนมีนาคมปี 2562 มีค่า 112.92 ลดลงร้อยละ 2.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีขั้นปลายลดลงร้อยละ 4.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์มีการผลิตลดลง ได้แก่ ปุ๋ย และเครื่องสำอาง
- การจำหน่าย เดือนมีนาคม ปี 2562 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีค่าดัชนีการส่งสินค้า 96.44 ลดลงร้อยละ 8.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน ซึ่งดัชนีการส่งสินค้าลดลงร้อยละ 0.25 และกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีดัชนีการส่งสินค้าลดลงร้อยละ 11.14 ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปุ๋ย และเครื่องบำรุงผิว
+ การส่งออก เดือนมีนาคมปี 2562 มีมูลค่ารวม 735 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่าการส่งออก 352 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องสำอาง และสารลดแรงตึงผิว ซึ่งตลาดหลักในการส่งออกเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ได้แก่ ญี่ปุ่น และ กลุ่มประเทศอาเซียน
- การนำเข้า ในช่วงเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่ารวม 1,337 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐานมีมูลค่าการนำเข้า 842 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการนำเข้าลดลงได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด ตามลำดับ โดยตลาดหลักที่นำเข้า ได้แก่ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่ารวม 495 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเคมีภัณฑ์ขั้นปลายลดลง ได้แก่ ปุ๋ย และสารลดแรงตึงผิว ตามลำดับ โดยตลาดหลักที่นำเข้าเคมีภัณฑ์ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย และจีน
คาดการณ์แนวโน้มในเดือนเมษายน ปี 2562 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น นโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และส่งผลกระทบให้การส่งออกเคมีภัณฑ์ของไทยชะลอลงตามตลาดส่งออกหลักที่สำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น รวมทั้ง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจส่งผลต่อการส่งออก ภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อาจส่งผลต่อกำลังซื้อเคมีภัณฑ์ภายในประเทศ
+ ดัชนีผลผลิต การผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเดือนมีนาคม ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.44 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ PET resin, PE resin, PP resin, Ethylene, และ PS resin ร้อยละ 9.62 5.38 2.62 1.05 และ 0.47 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณสินค้าคงคลัง
+ การจำหน่าย ในเดือนมีนาคม ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.34 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ได้แก่ PET resin, PVC resin, PE resin, และ PP resin ร้อยละ 9.75 8.37 5.97 และ 4.97 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน
ราคาเอทิลีนและโพรพิลีนในตลาดเอเชียเดือนมีนาคม ปี 2562 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 962 และ 805 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าราคาเอทิลีนและโพรพิลีนปรับตัวลดลงจากราคา 1,237 และ 972 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ
ราคา PE resin และ PP resin ในเดือนมีนาคม ปี 2562 (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ของ LDPE, LLDPE, HDPE และ PP ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,057 1,044, 1,104 และ 1,151 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าราคาเฉลี่ยของ PE ได้แก่ LDPE, LLDPE, HDPE และ PP ปรับตัวลดลงจากระดับราคา 1,237 1,241 1,414 และ 1,296 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ
+ การส่งออก ในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีปริมาณ 835,210 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในภาพรวมเกิดจากการส่งออก ที่เพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของแต่ละประเทศ ได้แก่ เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ คิดเป็น ร้อยละ 84.98 66.11 และ 9.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การส่งออกปิโตรเคมีพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ Terephthalic Acid, Benzene และ Toluene คิดเป็นร้อยละ 28.98 25.93 และ 10.34 ตามลำดับ
การส่งออกปิโตรเคมีขั้นปลายที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ PE resin, PP resin, PET resin และ PVC resin คิดเป็นร้อยละ 13.18 1.98 14.90 และ 22.55 ตามลำดับ
คาดการณ์แนวโน้มในเดือนเมษายน ปี 2562 คาดว่าจะดีขึ้น เนื่องจากประเทศที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญขยายตัวและมีความต้องการปิโตรเคมีขั้นต้นจากไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น
- ดัชนีผลผลิต ในเดือนมีนาคมปี 2562 มีค่า 104.3 ลดลงร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561-มีนาคม 2562 และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับลดลงทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 103.0 ลดลงร้อยละ 4.5 จากการผลิตเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 12.7 รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน และเหล็กลวด ลดลงร้อยละ 11.7 และ 3.8 ตามลำดับ จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 98.3 ลดลงร้อยละ 19.9 จากการลดลงของการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลงร้อยละ 47.2 ลดลง 12 เดือน ติดต่อกันตั้งแต่เดือนเมษายน 2561-มีนาคม 2562 ( เนื่องจาก (1) ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเดือนมีนาคม 2562 มีปริมาณนำเข้า 24,317 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.5 ประเทศหลักที่นำเข้า คือ จีน และเกาหลีใต้ และ (2) การบริโภคเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกในประเทศที่ลดลง โดยลดลงร้อยละ 17.1 ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมผลิตผลไม้กระป๋อง) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงร้อยละ 28.5 เนื่องจาก มีโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนบางโรงงานหยุดการผลิตชั่วคราว และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงร้อยละ 24.5 เนื่องจากราคาสินค้าเหล็กปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี นำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เช่น จีน
- การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 1.4 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.5 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.0 จากการจำหน่ายเหล็กลวด ลดลงร้อยละ 11.9 ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 0.9 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 8.9 จากการจำหน่ายเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลงร้อยละ 22.0 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นบาง รีดเย็น ลดลงร้อยละ 17.7 และ 10.9 ตามลำดับ
-
การนำเข้า ในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีปริมาณนำเข้า 0.9 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณนำเข้า 0.2 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4.4 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ประเภท Alloy Steel ลดลงร้อยละ 91.6 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ จีน) รองลงมา คือ เหล็กเพลาขาว และโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ประเภท Carbon Steel ลดลงร้อยละ 56.3 และ 37.8 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีปริมาณนำเข้า 0.7 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 8.3 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดเย็น ลดลงร้อยละ 72.5 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ จีน) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Carbon Steel และท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ลดลงร้อยละ 44.5 และ 38.4 ตามลำดับ
"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนเมษายน 2562 คาดการณ์ว่า การผลิตทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์"
9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
- ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 5.03 1.49 และ 11.03 (%YoY) จากคำสั่งซื้อวัตถุดิบจากประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ จีน และเวียดนาม เพื่อนำไปใช้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับมีการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกบางส่วนจากต่างประเทศมาใช้ทดแทน สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตลดลงในกลุ่มเสื้อผ้าเด็ก อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสื้อผ้าสตรี และชุดชั้นในมีการผลิตขยายตัว เพื่อรองรับการส่งออก
- เส้นใยสิ่งทอ ลดลง ร้อยละ 2.45 (%YoY) เนื่องจากมีการสั่งซื้อวัตถุดิบบางส่วนจากต่างประเทศมาใช้ทดแทน
+ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัว ร้อยละ 9.93 และ 2.70 (%YoY) จากการจำหน่ายสินค้าในสต๊อกเพื่อเตรียมรับเทศกาลและการผลิตเสื้อสีเหลืองตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 ซึ่งรัฐบาลเชิญชวนประชาชนสวมใส่เสื้อเหลืองในช่วงพระราชพิธีฯ 4 เดือน ระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2562
- เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 14.44 5.96 และ 1.18 โดยตลาดส่งออกเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืนสำคัญที่หดตัว ได้แก่ จีน และเวียดนาม ซึ่งสาเหตุที่ต้องจับตาคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปส่งผลให้คำสั่งซื้อวัตถุดิบของไทยไปยังจีนและผู้ประกอบการรายใหญ่ของจีนในเวียดนาม เพื่อนำไปผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในจีนและเวียดนามชะลอตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 15 เดือน ตั้งแต่มกราคม 2561 ส่วนการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลงในกลุ่มเสื้อผ้าเด็กอ่อนที่ส่งไปตลาดสหภาพยุโรป ในขณะที่การส่งออกเสื้อผ้าบุรุษและสตรี และชุดชั้นใน ในรูปแบบการรับจ้างออกแบบและผลิตยังคงขยายตัวได้
ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน จะชะลอตัวตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้การค้า การลงทุนในตลาดดังกล่าวชะลอตัว มีผลต่อผู้ผลิตซึ่งจะทำให้มีความต้องการวัตถุดิบจากไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มที่ยกระดับไปรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างประเทศ
10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีจำนวน 7.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ร้อยละ 22.65 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.12 (%YoY)
+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 3.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ร้อยละ 11.20 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 4.84 (%YoY)
+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีจำนวน 1.40 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ร้อยละ 25.32 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ1.98 (%YoY) เนื่องจากตลาดส่งออกหลักปรับเพิ่มคำสั่งซื้อจากบังคลาเทศ และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 32.60 19.67 ตามลำดับ
คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมในเดือนเมษายน ปี 2562 จะสามารถขยายตัวได้
+ การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีจำนวน 3.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ร้อยละ 10.73 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.88 (%YoY)
+ การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ภายในประเทศในเดือนมีนาคม ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 3.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ร้อยละ 11.20 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 3.81 (%YoY)
+ การส่งออกซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมีนาคม ปี 2562 มีจำนวน 0.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ร้อยละ 25.93 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.59 (%YoY) ซึ่งเป็นผลจากกัมพูชา และเมียนมาปรับลดคำสั่งซื้อลง ร้อยละ 11.73 และ 11.26 ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไปประเทศดังกล่าวลดลง
คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิต ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนเมษายน ปี 2562 คาดว่าจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม