ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 17, 2019 14:16 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกรกฏาคม 2562 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ไม่รวมทองคำหดตัวร้อยละ 0.4

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลง กล่าวคือ ในเดือนเมษายน 2562 มีการผลิตขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.5 เดือนพฤษภาคมหดตัวร้อยละ 3.4 และเดือนมิถุนายนหดตัวร้อยละ 5.3

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนเมษายน พฤษภาคม และเดือนมิถุนายน 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนเมษายนหดตัว ร้อยละ 17.4 เดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 และเดือนมิถุนายนหดตัวร้อยละ 3.4 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลปกติที่ในเดือนเดือนเมษายน การผลิตจะชะลอตัวลงเนื่องจากมีวันทำงานน้อย

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกรกฏาคม 2562 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ

  • รถยนต์ และเครื่องยนต์ หดตัวร้อยละ 6.4 จากเกือบทุกรายการสินค้า (ยกเว้นรถยนต์นั่งขนาดกลาง) โดยเฉพาะรถบรรทุกปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก จากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน
  • การกลั่นปิโตรเลียม หดตัวร้อยละ 8.0 จากโรงกลั่นบางโรงหยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงโรงกลั่นบางหน่วยกลั่น โดยเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม
  • เหล็กและเหล็กกล้า หดตัวร้อยละ 15.2 จากผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนและท่อเหล็กกล้าเป็นหลัก จากผลกระทบของเหล็กสำเร็จรูปราคาถูกนำเข้าจากแหล่งต่าง ๆ และความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก (ยานยนต์) สินค้าเกษตรแปรรูป (สับปะรด) ที่ผลผลิตลดลง สำหรับผลิตภัณฑ์จากเหล็กทรงยาวผลิตลดลงจากเหล็กลวดและลวดเหล็กเป็นหลัก จากการหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตบางราย

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

  • สุรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.0 จากสุราขาวและสุราผสม จากการทำตลาดโดยการปรับภาพลักษณ์ของสินค้าและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งได้รับการตอบรับดีทำให้ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
  • เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 จากตลาดในประเทศที่มีความต้องการสินค้าต่อเนื่อง และตลาดส่งออก จากลูกค้ากลุ่ม CLMV โดยเฉพาะเวียดนามและพม่า

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ เดือนกรกฎาคม 2562

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย

+ การนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนกรกฎาคม 2562 มีมูลค่า 1,627.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีการนำเข้าเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ เครื่องสูบลม เครื่องสูบของเหลว เครื่องจักรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ เครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะ และส่วนประกอบขยายตัวเพิ่มขึ้น

+ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนกรกฎาคม 2562 มีมูลค่า 7,886.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าเหล็ก ประเภทเหล็กแผ่น ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ประเภท แผ่นฟิล์ม ฟอยด์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำปรับตัวเพิ่มขึ้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

+ จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกรกฎาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 249 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2562 ร้อยละ 2.9 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 19.4 (%YoY)

+ มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกรกฎาคม 2562 มีมูลค่ารวม 13,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2562 ร้อยละ 41.6 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 39.0 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนกรกฎาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำนวน 28 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ จำนวน 18 โรงงาน"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า จำนวนเงินทุน 2,037 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรม บด ย่อย ล้าง เศษพลาสติก เพื่อทำพลาสติกเป็นเม็ด หรือรูปทรงต่าง ๆ จำนวนเงินทุน 1,787 ล้านบาท

+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนกรกฎาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 88 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2562 ร้อยละ 1.2 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.8 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนกรกฎาคม 2562 มีมูลค่ารวม 1,766 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2562 ร้อยละ 58.5 (%MoM) แต่เพิ่มชึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.3 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนกรกฎาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน จำนวน 8 โรงงาน รองลงมาคืออุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำนวน 7 โรงงาน

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนกรกฎาคม 2562 คือ อุตสาหกรรม โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า มูลค่าเงินลงทุน 602 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการตัดหรือการเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ มูลค่าเงินลงทุน 196 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนกรกฎาคม 2562

1. อุตสาหกรรมอาหาร

+ การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ (1) กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.3 (%YoY) เนื่องจากผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เพิ่มคำสั่งซื้อ (2) แป้งมันสำปะหลัง ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 (%YoY) เนื่องจากผู้นำเข้าหลักอย่างจีนเพิ่มคำสั่งซื้อ ด้วยระดับราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และ (3) ทูน่ากระป๋อง ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 (%YoY) เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบต่ำ โดยราคาปลาทูน่าในเดือนนี้อยู่ที่ 1,200 บาท ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ซึ่งลดลงร้อยละ 8 จึงทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มกำลังการผลิต แม้ผู้นำเข้ายังคงชะลอคำสั่งซื้อ

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ น้ำมันปาล์มดิบ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 66.1 (%YoY) เพื่อรองรับผลผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการเพิ่มปริมาณการใช้และลดสต็อกน้ำมันปาล์มของภาครัฐ อาทิ การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 ดัชนีการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.9 และ 11.9 ตามลำดับ (%YoY) ตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

+ การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหาร ในประเทศ เดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.5 (%YoY) จากทั้งดัชนีรายได้เกษตรกรและดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม น้ำมันปาล์ม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

+ ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนกรกฎาคม 2562 กลับมาเป็นบวกเล็กน้อยร้อยละ 0.2 หลังจากติดลบต่อเนื่องสองเดือน โดยสินค้าสำคัญ เช่น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำตาลทรายดิบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซาร์ดีนกระป๋อง ไก่แปรรูป น้ำผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าว และข้าวหอมมะลิ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.3 19.8 18.4 17.4 12.1 10.6 9.1 8.7 7.3 และ 5.2 ตามลำดับ รวมทั้งผลไม้สด (ทุเรียนและลำไย) เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าความต้องการนำเข้าสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวขาว ทูน่ากระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋อง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง จะชะลอตัวลง

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าดัชนีการผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนสิงหาคม น่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยต่อเนื่องจากเดือนก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยบวกอย่างผลผลิตทางการเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นและความต้องการเริ่มกลับมาขยายตัว อาทิ กุ้ง สับปะรด และมันสำปะหลัง แต่ก็ยังมีหลายสินค้ายังมีแนวโน้มชะลอลง เช่น ทูน่ากระป๋อง ข้าวขาว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง จากความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

+ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 91.7 สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เตาไมโครเวฟ พัดลมตามบ้าน มอเตอร์ไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า และคอมเพรสเซอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0, 19.1, 13.9, 13.5, 9.0, 6.9 และ 0.1 ตามลำดับ โดยเครื่องปรับอากาศ พัดลม เตาไมโครเวฟ และตู้เย็นมีการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหม้อแปลงไฟฟ้าและคอมเพรสเซอร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ และมอเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากตลาดภายในประเทศ ในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กระติกน้ำร้อน สายไฟฟ้า เครื่องซักผ้า และหม้อหุงข้าว ลดลงร้อยละ 27.6, 24.8, 23.9 และ 16.4 ตามลำดับ โดยเครื่องซักผ้ามีการผลิตลดลงเนื่องจากตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศลดลง ส่วนหม้อหุงข้าว สายไฟฟ้า และกระติกน้ำร้อนมีการผลิตลดลงเนื่องจากการจำหน่ายในประเทศที่ลดลง

+ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 2,035.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป โดยสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 435.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 โดยเพิ่มขึ้นในตลาดออสเตรเลียร้อยละ 29.2 ญี่ปุ่นร้อยละ 11.2 เวียดนามร้อยละ 4.8 ส่วนตู้เย็น ตู้แช่ และส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 168.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 โดยเพิ่มในตลาดญี่ปุ่นร้อยละ 27.5 เวียดนามร้อยละ 23.8 ตลาดสหรัฐอเมริการ้อยละ 205.8 ส่วนตู้เย็นมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 260.5 และญี่ปุ่นร้อยละ 45.3 ในขณะที่เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้ง และส่วนประกอบมีมูลค่า 91.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 27.1 โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 87.0 จากมาตรการ safeguard ที่สหรัฐอเมริกามีต่อไทย

"คาดการณ์การผลิตเดือนสิงหาคม 2562 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นมีคำสั่งซื้อจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
  • การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 93.8 สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor devices transistor, IC, HDD และ PWB โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 29.6, 14.8, 5.8 และ 3.3 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวลดลง และความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว ส่วน PCBA มีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าคงคลังที่นำออกมาจำหน่าย
  • การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,959.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง โดยวงจรรวม (IC) มีมูลค่าส่งออก 618.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.8 ส่วนสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออก 1,133.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.3 HDD มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 2.9
"คาดการณ์การผลิตเดือนสิงหาคม 2562 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวลดลงและความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว"

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์
  • การผลิตรถยนต์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีจำนวน 170,847 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2562 ร้อยละ 1.17 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.70 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์
          - การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนกรกฎาคม       ปี 2562 มีจำนวน 81,044 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2562    ร้อยละ 5.82 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.10 (%YoY) จากการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์ PPV และรถยนต์ SUV ส่วนหนึ่งจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
  • การส่งออกรถยนต์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีจำนวน 82,151 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2562 ร้อยละ 15.81 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.87 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดตะวันออกกลาง และตลาดยุโรป
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ใน เดือนสิงหาคม ปี 2562 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม ปี 2561 เนื่องจากตลาดในประเทศเริ่มชะลอตัว และภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง"
  • การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีจำนวน 156,055 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2562 ร้อยละ 1.47 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.35 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 148,723 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2562 ร้อยละ 1.12 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1 0.96 (%YoY)

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีจำนวน 32,036 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2562 ร้อยละ 17.55 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.30 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศจีน ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม ปี 2561 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว"

4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา

การผลิต
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 17.67 ตามปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาดลดลง เนื่องจากฝนตกชุกทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้
  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 1.90 ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ
  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 12.93 เนื่องจากราคาวัตถุดิบน้ำยางสดในประเทศปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้นจึงชะลอการผลิตลง
การจำหน่ายในประเทศ

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.73 ตามความต้องการใช้ที่สูงขึ้น

+ ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.50 ตามการขยายตัวของตลาด Replacement

+ ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.53 ตามความต้องการใช้ทางการแพทย์ที่สูงขึ้น

การส่งออก

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.64 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยสั่งซื้อยางจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.39

+ ยางรถยนต์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.40 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา

+ ถุงมือยาง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.35 จากการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และจีน

คาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2562

การผลิตและจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะขยายตัวจากเดือนก่อนตามปริมาณการเข้าสู่ตลาดของยางที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูฝนซึ่งจะมีปริมาณผลผลิตน้ำยางออกสู่ตลาดจำนวนมาก สำหรับการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาด Replacement และตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในส่วนของการผลิตและจำหน่ายถุงมือยางในประเทศ คาดว่าจะขยายตัวตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นเนื่องจากจีนมีแนวโน้มความต้องการใช้ยางจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกยางรถยนต์และ ถุงมือยางคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป

5. อุตสาหกรรมพลาสติก

การผลิตและการจำหน่าย
  • ดัชนีผลผลิต เดือนกรกฎาคม 2562 ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 0.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยค่าดัชนีผลผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 12.90 ในขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 7.36

+ ดัชนีการส่งสินค้า เดือนกรกฎาคม 2562 ดัชนีการส่งสินค้า ขยายตัวร้อยละ 1.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยค่าดัชนีส่งสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ ขยายตัวมากที่สุด ร้อยละ 7.02 รองลงมาคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ท่อและข้อต่อพลาสติก ร้อยละ 4.09

การตลาด

+ การส่งออก เดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีมูลค่า 363.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติก (3923) กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) และกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3921) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.98 3.98 และ 12.30 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และในกลุ่ม ASEAN เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนิเซีย มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

+ การนำเข้าเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีมูลค่า 439.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดอื่น ๆ (3926) กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) และกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3921) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.03 19.43 และ 12.10 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนสิงหาคม 2562 คาดว่า การผลิตและการตลาดยังขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และผลกระทบจากสงครามการค้า รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าเงินบาท ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิต อาจส่งผลลบต่อตลาด

6. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
  • ดัชนีผลผลิต ของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในเดือนกรกฎาคมปี 2562 ลดลงร้อยละ 13.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยค่าดัชนีผลผลิตกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลายลดลงมากสุดร้อยละ 17.87 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ ปุ๋ย
  • การจำหน่าย เดือนกรกฎาคม ปี 2562 ลดลงร้อยละ 7.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน ลดลงร้อยละ 11.16 และ กลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ลดลงร้อยละ 6.27 ซึ่งผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ โซดาไฟ และปุ๋ยเคมี เป็นต้น

+ การส่งออก เดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีมูลค่ารวม 756 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มเคมีขั้นปลาย มีมูลค่ารวม 382 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องสำอาง ส่วนกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานมีมูลค่าการส่งออก 374 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ สำหรับตลาดหลักในการส่งออกเคมีภัณฑ์คือ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน

+ การนำเข้า เดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีมูลค่ารวม 1,389 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่ารวม 564 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปุ๋ย สี และ เครื่องสำอาง ส่วนเคมีภัณฑ์พื้นฐานมีมูลค่าการนำเข้า 825 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการนำเข้าลดลงได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ โดยตลาดหลักที่นำเข้าเคมีภัณฑ์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย และสิงคโปร์ เป็นต้น

คาดการณ์แนวโน้มในเดือนสิงหาคม ปี 2562 คาดว่าการส่งออกและนำเข้าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะยังคงหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวลง จากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

+ ดัชนีผลผลิต เดือนกรกฎาคม ปี 2562 ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน ได้แก่ Toluene ซึ่งนำไปใช้เป็นตัวทำละลายและเป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตสารชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.95 ส่วนในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจะอยู่ในกลุ่มเม็ดพลาสติกที่นำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ PVC resin, PET resin, PP resin, และ PE resin เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.97 5.73 5.27 และ 4.20 ตามลำดับ

+ ดัชนีการส่งสินค้า ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมีดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ในกลุ่มปิโตรเคมีพื้นฐาน ได้แก่ Toluene เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.52 ส่วนในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ PVC resin, PE resin, และ PET resin เพิ่มขึ้นร้อยละ20.59 14.65 และ 5.73 ตามลำดับ

  • การส่งออก ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีมูลค่า 989.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงส่วนมากนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเส้นใยสังเคราะห์และตัวทำละลาย ได้แก่ Terephthalic Acid, Benzene, Para-Xylene และ Toluene ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง จะอยู่ในกลุ่มเม็ดพลาสติกที่ใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ PE resin, PP resin PC resin, PET resin, และ PS resin เป็นต้น ทั้งนี้ในภาพรวมมีสัดส่วนของการส่งออกปิโตรเคมีไปยังประเทศที่สำคัญ ได้แก่ จีน (34.19%) อินโดนีเซีย (9.95%) เวียดนาม (8.81 %) อินเดีย (8.76%) และญี่ปุ่น (7.52%) เป็นต้น
  • การนำเข้า ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีมูลค่า 493.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่านำเข้าลดลง ได้แก่ Vinyl Chloride, Acetic Acid, Para-Xylene และ Ethylene Glycol ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีมูลค่านำเข้าลดลง ได้แก่ Nylon resin, PES resin นำไปใช้ในอุตสาหกรรมเส้นใยสังเคราะห์ และ BR rubber, SR rubber นำไปใช้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งนี้ในภาพรวมมีสัดส่วนการนำเข้าปิโตรเคมีจากประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น (16.17%) จีน (14.62%) เกาหลีใต้ (12.56%) สิงคโปร์ (11.12%) และมาเลเซีย (9.49%) เป็นต้น

คาดการณ์แนวโน้มในเดือนสิงหาคม ปี 2562 คาดว่าจะลดลงจากระดับเดิม เนื่องจากราคาปิโตรเคมียังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ และส่งผลให้ส่วนต่างราคาของการผลิต ปิโตรเคมียังอ่อนแอต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากนโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยคาดว่าจะชะลอตัว เช่น จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และอินเดีย เป็นต้น

8. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • ดัชนีผลผลิต ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีค่า 97.5 ลดลงร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับลดลงทั้งสองผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 97.8 ลดลงร้อยละ 4.5 จากการผลิตเหล็กลวด ลดลงร้อยละ 40.7 เนื่องจาก (1) มีโรงงานผลิตเหล็กลวดบางโรงงานหยุดการผลิตชั่วคราว (2) มีการนำเข้าสินค้าเหล็กลวดจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดย ในเดือนกรกฎาคม 2562 มีปริมาณการนำเข้า 120,767 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 และ (3) ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่น ลวดเหล็กโดยในเดือนกรกฎาคม 2562 มีปริมาณนำเข้า 24,713 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน และลวดเหล็ก ลดลง ร้อยละ 14.3 และ 6.4 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 94.0 ลดลงร้อยละ 23.7 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) จากการลดลงของการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงร้อยละ 40.3 โดยลดลง2 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนมิถุนายน- กรกฎาคม 2562 เนื่องจาก (1) ราคาขายในประเทศที่ลดลงมาก โดยลดลงร้อยละ 4.8 จึงทำให้ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ ประกอบกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีการนำเข้าสินค้าทดแทนเหล็กแผ่นรีดร้อนจากต่างประเทศ เช่น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน โดยในเดือนกรกฎาคม 2562 มีปริมาณการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี แบบจุ่มร้อน 172,456 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.7 ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนที่ลดลงรองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 35.3 โดยลดลง 16 เดือน ติดต่อกันตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 - กรกฎาคม 2562 (เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเดือนกรกฎาคม 2562 มีปริมาณนำเข้า 25,534 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 ประเทศหลักที่นำเข้า คือ จีน และเกาหลีใต้) และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงร้อยละ 8.2

+ การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 1.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน ผลิตภัณฑ์ ในผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 จากการจำหน่ายเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรีดร้อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนการการขยายตัวของการก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างภาครัฐ และการก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์ของภาคเอกชน ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 1.0 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากการบริโภคเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (ทั้งแบบ HDG และ EG) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน และเหล็กแผ่นบางรีดเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 และ 17.1 ตามลำดับ

+ การนำเข้า ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีปริมาณนำเข้า 1.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มเหล็กทรงยาวมีปริมาณนำเข้า 0.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรีดร้อน ประเภท Stainless Steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 113.1 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ จีน และญี่ปุ่น) รองลงมา คือ เหล็กเส้น ประเภท Alloy Steel และเหล็กลวด ประเภท Carbon Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.0 และ 51.8 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์กลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณนำเข้า 0.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ประเภท Alloy Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 361.3 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ จีน และญี่ปุ่น) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Carbon Steel และ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน ประเภท Carbon Steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 128.6 และ 67.9 ตามลำดับ

"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนสิงหาคม 2562 คาดการณ์ว่า การผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า"

9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต
  • ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 1.62 16.01 และ 6.18 (%YoY) เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง รวมถึงแนวโน้มตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของโลกที่คาดการณ์ว่าจะชะลอตัว และความต้องการบริโภคในประเทศลดลง จึงทำให้ผู้ประกอบการลดการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำเพื่อเป็นสต๊อกสินค้าลง
การจำหน่ายในประเทศ

+ เส้นใยสิ่งทอขยายตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.76

  • ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 8.30 และ 7.54 (%YoY) เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตสินค้าทั้งเพื่อการส่งออกและการบริโภคในประเทศลดลง ประกอบกับมีการนำเข้าเสื้อผ้าแฟชั่นจากจีน รวมถึงเสื้อผ้า แบรนด์เนมต่างประเทศ
การส่งออก
  • เส้นใยสิ่งทอ มูลค่าลดลง ร้อยละ 20.06 โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งสั่งซื้อเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืนจากไทยลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศดังกล่าวส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังตลาดโลกโดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาลดลง

+ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.29 และ 9.22 (%YoY) ตามลำดับ เนื่องจากมีการขยายตัวของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปสุภาพบุรุษและสตรี รวมถึงเสื้อผ้าเด็กอ่อน ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

คาดการณ์แนวโน้มเดือนสิงหาคม 2562

ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน จะชะลอตัวตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้การค้า การลงทุน ในตลาดดังกล่าวชะลอตัวมีผลต่อภาคการผลิตซึ่งจะทำให้มีความต้องการวัตถุดิบจากไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะขยายตัวได้ในกลุ่มที่สามารถยกระดับไปรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างประเทศ

10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีจำนวน 7.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ปี 2562 ร้อยละ 7.63 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.53 (%YoY)

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 2.94 ล้านตัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2562 ร้อยละ 1.22 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.51 (%YoY)

  • การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีจำนวน 0.75 ล้านตัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2562 ร้อยละ 45.54 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณลดลงร้อยละ 28.71 (%YoY)

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีแนวโน้มหดตัวลงเล็กน้อย

อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)

+ การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีจำนวน 3.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ปี 2562 ร้อยละ 0.75 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.50 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ภายในประเทศเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.94 ล้านตัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปี 2562 ร้อยละ 0.92 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.49 (%YoY)

+ การส่งออกซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 มีจำนวน 0.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ปี 2562 ร้อยละ 1.07 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 28.38 (%YoY) ซึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่ม คำสั่งซื้อจากกัมพูชา ร้อยละ 46.64

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิต ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 คาดว่าจะหดตัวลงเช่นกัน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ