ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2019 13:57 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2562 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่หดตัวร้อยละ 4.0

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลง กล่าวคือ ในเดือนพฤษภาคม 2562 การผลิตหดตัวร้อยละ 3.4 เดือนมิถุนายนหดตัวร้อยละ 5.3 และเดือนกรกฎาคมหดตัวร้อยละ 4.4

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนพฤษภาคม มิถุนายน และเดือนกรกฎาคม 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนพฤษภาคมขยายตัว ร้อยละ 9.3 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลปกติที่ในเดือนพฤษภาคมการผลิตจะเร่งตัวขึ้นหลังจากช่วงหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ เดือนมิถุนายนหดตัวร้อยละ 3.4 และเดือนกรกฎาคมหดตัวร้อยละ 0.8

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนสิงหาคม 2562 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ

  • รถยนต์ และเครื่องยนต์ หดตัวร้อยละ 7.5 จากเกือบทุกรายการสินค้า (ยกเว้นรถยนต์นั่งขนาดกลาง) อาทิ รถกระบะ 1 ตัน รถยนต์นั่งขนาดเล็ก เครื่องยนต์ดีเซล และเครื่องยนต์แก๊สโซลีน ตามคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวของตลาดส่งออก และตลาดในประเทศที่อิ่มตัว รวมถึงการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวด
  • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 14.9 ทุกรายการสินค้า เป็นผลจากภาวะอิเล็กทรอนิกส์โลก ที่ชะลอตัวและผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกรวมถึงไทย
  • ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ หดตัวร้อยละ 17.9 จากสินค้ายางแท่ง ยางแผ่นและน้ำยางข้น จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลให้ลูกค้าจีนลดคำสั่งซื้อ และภาวะฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ทำให้มีน้ำยางออกสู่ตลาดน้อยลง

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

  • Hard Disk Drive เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 จากผู้ผลิตบางรายได้รับคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นหลังจากปิดฐานการผลิตที่มาเลเซียตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิตอล (เช่น Big Data) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการพัฒนา Hard Disk Drive ที่มีความจุสูงตรงกับความต้องการของลูกค้า
  • อาหารทะเลแช่แข็ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 จากปลา กุ้ง และปลาหมึกแช่แข็ง เป็นผลจากผู้ผลิตขยายตลาดไปสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดและป้อนเข้าร้านอาหารขนาดใหญ่ รวมถึงช่องทางจำหน่ายในตลาดออนไลน์

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ เดือนสิงหาคม 2562

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย
  • การนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบในเดือนสิงหาคม 2562 มีมูลค่า 1,418.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวจากสินค้าเครื่องรับ-ส่งสัญญาณและอุปกรณ์ติดตั้งโทรศัพท์ วิทยุ โทรเลข โทรทัศน์ และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า เครื่องพักกระแสไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ
  • การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนสิงหาคม 2562 มีมูลค่า 7,146.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าที่ส่งผลให้การนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) หดตัวลง ได้แก่ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ เหล็ก ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าไม่เป็นสนิม เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเม็ดพลาสติก
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

+ จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนสิงหาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 313 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2562 ร้อยละ 25.7 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.0 (%YoY)

+ มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนสิงหาคม 2562 มีมูลค่ารวม 92,562 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2562 ร้อยละ 561.7 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 465.3 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนสิงหาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำนวน 25 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน หรือเชื่อมโลหะทั่วไป จำนวน 14 โรงงาน"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการทำส่วนประกอบสำหรับใช้ในการก่อสร้างสะพานจากโลหะ จำนวนเงินทุน 69,009 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงจำนวนเงินทุน 5,800 ล้านบาท

+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนสิงหาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 66 ราย ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2562 ร้อยละ 25.0 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44.1 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนสิงหาคม 2562 มีมูลค่ารวม 1,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2562 ร้อยละ 1.9 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.6 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนสิงหาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการสี ฝัด หรือขัดข้าว และอุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ ทั้งสองอุตสาหกรรม จำนวน 5 โรงงาน

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนสิงหาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ มูลค่าเงินลงทุน 1,008 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำอาหารหรือเครื่องดื่มจากผัก พืชหรือผลไม้ มูลค่าเงินลงทุน 215 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนสิงหาคม 2562

1. อุตสาหกรรมอาหาร
  • การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนสิงหาคม 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก ที่ปรับตัวลดลง คือ (1) สับปะรดกระป๋อง ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 38.0 (%YoY) เนื่องจากวัตถุดิบลดลงจากการลดพื้นที่ปลูกจากราคาไม่จูงใจ และผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบกับคำสั่งซื้อจากผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาชะลอตัวค่อนข้างมาก (2) น้ำตาล ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 22.5 (%YoY) เนื่องจากปริมาณอ้อยลดลงร้อยละ 2.9 (4 ล้านตัน) ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำตาลลดลงร้อยละ 1.4 (0.21 ล้านตัน) และ (3) แป้งมันสำปะหลัง ดัชนีปรับตัวลดลง ร้อยละ 2.7 (%YoY) เนื่องจากผลผลิตลดลงด้วยภัยแล้งและโรคระบาด ประกอบกับผู้นำเข้าหลักอย่างจีนชะลอคำสั่งซื้อ ด้วยระดับราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ น้ำมันพืช ดัชนีการผลิตปรับตัวลดลง ร้อยละ 14.2 (%YoY)

  • การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหาร ในประเทศ เดือนสิงหาคม 2562 ปรับตัวลดลง ร้อยละ 3.3 (%YoY) จากดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงจากปีก่อนเช่นกัน ส่งผลให้การบริโภค ในประเทศลดลง
  • ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเดือนสิงหาคม กลับมาเป็นลบอีกครั้งหลังจากขยายตัวได้เพียงหนึ่งเดือน โดยติดลบร้อยละ 2.6 (%YoY) สินค้าสำคัญ เช่น ข้าว สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้นและแป้งมันสำปะหลัง) ทูน่ากระป๋อง และข้าวโพดหวานกระป๋อง ปรับตัวลดลง ร้อยละ 43.2 39.1 25.0 15.0 และ 12.7 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดอาเซียน อังกฤษ และออสเตรเลียชะลอตัว แม้สินค้าสำคัญ อาทิ น้ำตาลทราย ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ซาร์ดีนกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าว นมและผลิตภัณฑ์นม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สิ่งปรุงรส รวมทั้งผลไม้สด (ทุเรียนและลำไย) ขยายตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าดัชนีการผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนกันยายน น่าจะลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยลบอย่างภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากค่าเงินบาทส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยลดลง ประกอบกับผลกระทบจากปัญหาจากน้ำท่วมต่อเนื่องจากภัยแล้งในภาคอีสาน ที่ส่งผลให้วัตถุดิบการเกษตรลดลง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง แม้จะมีปัจจัยบวกจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งผลให้ไก่ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนเป็นที่ต้องการมากขึ้น และแนวโน้มการกลับมาเพิ่มคำสั่งซื้อทูน่ากระป๋อง หลังจากชะลอเพื่อรอดูระดับราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง

2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า
  • การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 84.3 สินค้าปรับตัวที่ลดลง ได้แก่ เครื่องซักผ้า สายไฟฟ้า กระติกน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศ หม้อแปลงไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า และคอมเพรสเซอร์ ลดลงร้อยละ 43.0, 10.1, 5.9, 3.3, 3.0, 2.9 และ 1.4 ตามลำดับ โดยเครื่องซักผ้า คอมเพรสเซอร์ กระติกน้ำร้อน และหม้อแปลงไฟฟ้ามีการผลิตลดลงเนื่องจากตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศลดลง ส่วนเครื่องปรับอากาศและมอเตอร์ไฟฟ้ามีการผลิตลดลงเนื่องจากความต้องการตลาดต่างประเทศลดลง ในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ หม้อหุงข้าว ตู้เย็น พัดลมตามบ้าน เตาไมโครเวฟ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9, 8.3, 7.0 และ 6.6 ตามลำดับ โดยเตาไมโครเวฟ และตู้เย็นมีการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหม้อหุงข้าวมีการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,951.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป โดยสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 435.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.2 โดยลดลงในตลาดออสเตรเลียร้อยละ 25.9 เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้ง และส่วนประกอบมีมูลค่า 95.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 28.4 โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริการ้อยละ 84.5 จากมาตรการ safeguard ที่สหรัฐอเมริกามีต่อไทย ในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ตู้เย็น ตู้แช่ และส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 168.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 199.3 และญี่ปุ่น ร้อยละ 18.7 เนื่องจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีน ทำให้ไทยส่งออกตู้เย็นไปสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้น
"คาดการณ์การผลิตเดือนกันยายน 2562 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่า จะปรับตัวลดลงร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้าเครื่องปรับอากาศมีการส่งออกที่ลดลงในตลาดหลักและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว เช่น ออสเตรเลีย"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
  • การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 102.1 สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor devices transistor, PCBA, IC และ PWB โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 33.9, 14.7, 13.9 และ 11.7 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวลดลง และความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว ส่วน HDD มีการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิต HDD จากประเทศมาเลเซียมาที่ไทย
  • การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,060.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง โดยวงจรรวม (IC) มีมูลค่าส่งออก 640.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.3 ส่วนสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออก 1,133.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.5 ส่วน HDD มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 6.5
"คาดการณ์การผลิตเดือนกันยายน 2562 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวลดลงและความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว"

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์
  • การผลิตรถยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีจำนวน 166,361 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ร้อยละ 2.63 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.21 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์
  • การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีจำนวน 80,838 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ร้อยละ 0.25 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.88 (%YoY) จากการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์ PPV และรถยนต์ SUV เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มชะลอตัวและการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
  • การส่งออกรถยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีจำนวน 81,549 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ร้อยละ 0.73 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 20.45 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดตะวันออกกลาง
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ใน เดือนกันยายน ปี 2562 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ปี 2561 เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเพราะสงครามการค้า และการจำหน่ายรถยนต์ ในประเทศที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว"
อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์

+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีจำนวน 156,488 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ร้อยละ 0.28 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.32 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 149,421 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ร้อยละ 0.47 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.75 (%YoY) จากการลดลงของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี, 126-250 ซีซี และมากกว่าหรือเท่ากับ 400 ซีซี

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีจำนวน 34,447 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ร้อยละ 7.53 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 19.03 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศจีน สเปนและออสเตรเลีย

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนกันยายน ปี 2562 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ปี 2561 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว"

4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา

การผลิต
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 25.00 เนื่องจากฝนตกชุกทำให้มีปริมาณยางเข้าสู่ตลาดลดลง

+ ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.42 ตามการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 21.26 เนื่องจากราคาวัตถุดิบน้ำยางสดในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้น จึงไม่สามารถแข่งขันได้ การจำหน่ายในประเทศ

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.91 ตามความต้องการใช้ที่สูงขึ้น

+ ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.95 ตามการขยายตัวของตลาด Replacement

  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 2.01 เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่บางรายปรับแผนการตลาดไปเป็นการส่งออกโดยตรงมากขึ้น
การส่งออก
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าลดลงร้อยละ 7.14 เนื่องจากจีนและอินเดียปรับลดคำสั่งซื้อจากไทยลงร้อยละ 22.38 และ 60.57 ตามลำดับ

+ ยางรถยนต์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.51 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 42.37

  • ถุงมือยาง มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.92 จากการชะลอตัวของตลาดเยอรมนี เกาหลีใต้ และเบลเยี่ยม
คาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2562

การผลิตและจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควันยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะชะลอตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากมีฝนตกชุกในหลายพื้นที่และปัญหาน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้มียางเข้าสู่ตลาดลดลงมาก บางวันไม่มียางเข้าสู่ตลาดกลางของการยางแห่งประเทศไทยบางแห่งเลย สำหรับการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาด Replacement และตลาดสหรัฐอเมริกา ในส่วนของการผลิตและจำหน่ายถุงมือยางในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวตามการปรับขึ้นของราคาวัตถุดิบและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะมีมูลค่าลดลงตามแนวโน้มการชะลอคำสั่งซื้อยางจากไทยของจีนและอินเดีย สำหรับการส่งออกยางรถยนต์คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ในส่วนของมูลค่าการส่งออกถุงมือยางคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่จะขยายตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี

5. อุตสาหกรรมพลาสติก

การผลิตและการจำหน่าย
  • ดัชนีผลผลิต เดือนสิงหาคม 2562 ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 2.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยค่าดัชนีผลผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์กระสอบพลาสติก ลดลงร้อยละ 20.69 รองลงมาคือ เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ ลดลงร้อยละ 18.57
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนสิงหาคม 2562 ดัชนีการส่งสินค้า ลดลงร้อยละ 4.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยค่าดัชนีการส่งสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์กระสอบพลาสติก ลดลง ร้อยละ 21.74 รองลงมาคือ พลาสติกแผ่น ลดลงร้อยละ 13.30 การตลาด
  • การส่งออก เดือนสิงหาคม ปี 2562 มีมูลค่า 378.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 5.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีมูลค่าลดลง 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดอื่น ๆ (3926) กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติก (3923) และกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) โดยลดลงร้อยละ 12.30 3.34 และ 4.03 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และในกลุ่ม ASEAN เช่น กัมพูชา มาเลเซีย ลาว มีคำสั่งซื้อลดลง
  • การนำเข้าเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีมูลค่า 411.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 5.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากเดือนที่แล้ว ร้อยละ 6.35 โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีมูลค่าลดลง 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติก (3923) และกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ เทป และรูปทรงแบนอื่น ๆ ชนิดยึดติดได้ในตัว (3919) โดยลดลงร้อยละ 14.01 8.48 และ 10.52 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนกันยายน 2562 คาดว่า การผลิตและการตลาดยังทรงตัว เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าเงินบาท ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิต รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าที่อาจส่งผลลบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทย

6. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
  • ดัชนีผลผลิต ของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในเดือนสิงหาคมปี 2562 ลดลงร้อยละ 3.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลายลดลงร้อยละ 6.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ ปุ๋ย และสี
  • การจำหน่าย เดือนสิงหาคม ปี 2562 ลดลง ร้อยละ 3.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน ลดลงร้อยละ 1.91 และกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ลดลงร้อยละ 4.37 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งสินค้าลดลง ได้แก่ เอทานอล ปุ๋ยเคมี และแป้งฝุ่น เป็นต้น
  • การส่งออก เดือนสิงหาคม ปี 2562 มีมูลค่ารวม 739 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานมีมูลค่าการส่งออก 355 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่ารวม 384 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ปุ๋ย สี และเครื่องสำอาง สำหรับตลาดหลักในการส่งออกเคมีภัณฑ์ คือ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน
  • การนำเข้า เดือนสิงหาคม ปี 2562 มีมูลค่ารวม 1,306 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐานมีมูลค่าการนำเข้า 812 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการนำเข้าลดลงได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่ารวม 494 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 16.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปุ๋ย เครื่องสำอาง และสี โดยตลาดหลักที่นำเข้าเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย และสิงคโปร์ เป็นต้น

คาดการณ์แนวโน้มในเดือนกันยายน ปี 2562 คาดว่าการส่งออกและนำเข้าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะยังคงหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว อันเป็นผลจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน สำหรับปัจจัยภายในประเทศจากสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลกระทบต่อจากความเสียหายจากผลผลิตการเกษตรและรายได้เกษตรกร ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร

7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

+ ดัชนีผลผลิต เดือนสิงหาคม ปี 2562 ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน จะนำไปใช้เป็นสารทำละลายและเป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตพลาสติกชนิดต่าง ๆ ได้แก่ Toluene, Propylene และ Ethylene เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.66 4.05 และ 0.35 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย จะนำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ทั้งแบบแข็งและแบบอ่อน ได้แก่ PE resin และ PS resin เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.84 และ 6.63 ตามลำดับ

  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนสิงหาคม ปี 2562 ดัชนีการส่งสินค้าลดลงร้อยละ 0.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน โดยกลุ่มปิโตรเคมีพื้นฐานดัชนีการส่งสินค้าหดตัวในกลุ่มสารละลาย ได้แก่ Benzene ลดลงร้อยละ 12.11 ส่วนในกลุ่ม ปิโตรเคมีขั้นปลายหดตัวในกลุ่มผลิตภัณฑ์ซึ่งนำไปผลิตชิ้นส่วน ยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้แก่ ABS resin, SAN resin ลดลงร้อยละ 22.51 และ 19.28 ตามลำดับ
  • การส่งออก เดือนสิงหาคม ปี 2562 มีมูลค่า 936.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 24.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ซึ่งนำไปใช้เป็นตัวทำละลายและผลิตเส้นใยสังเคราะห์ ได้แก่ Benzene, Para-Xylene, Terephthalic Acid, ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ส่วนมากนำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหาร ได้แก่ PET resin, PS resin และ PP resin ทั้งนี้ในภาพรวมมีสัดส่วนของการส่งออก ปิโตรเคมีไปยังประเทศที่สำคัญ ได้แก่ จีน (35.96%) อินโดนีเซีย (10.54%) อินเดีย (8.64%) เวียดนาม (7.61%) และญี่ปุ่น (8.06%) เป็นต้น
  • การนำเข้า เดือนสิงหาคม ปี 2562 มีมูลค่า 480.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่านำเข้าลดลง ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ซึ่งนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเส้นใยสังเคราะห์และยางสังเคราะห์ ได้แก่ Para-Xylene และ Styrene ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีมูลค่านำเข้าลดลง ส่วนมากนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และเส้นใยสังเคราะห์ ได้แก่ ABS resin, SR rubber, BR rubber และ Nylon resin ทั้งนี้ในภาพรวมมีสัดส่วนการนำเข้าปิโตรเคมีจากประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น (14.15%) เกาหลีใต้ (12.74%) จีน (12.45%) สหรัฐอเมริกา (10.97%) และสิงคโปร์ (10.75%) เป็นต้น

คาดการณ์แนวโน้มในเดือนกันยายน ปี 2562 คาดว่า การส่งออกและนำเข้าจะลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาปิโตรเคมียังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ และส่งผลให้ส่วนต่างราคาของการผลิตปิโตรเคมียังอ่อนแอต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากนโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน

8. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • ดัชนีผลผลิต ในเดือนสิงหาคมปี 2562 มีค่า 100.9 ลดลงร้อยละ 13.8 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับลดลงทั้งสองผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 105.5 ลดลงร้อยละ 5.2 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) จากการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน ลดลงร้อยละ 18.7 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9) รองลงมา คือ ลวดเหล็กแรงดึงสูง และลวดเหล็ก ลดลงร้อยละ 12.2 และ 10.5 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 94.4 ลดลงร้อยละ 19.4 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3) จากการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลงร้อยละ 45.7 ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ผลไม้กระป๋อง รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 36.6 และ 22.7 ตามลำดับ
  • การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 1.6 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบนลดลง โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.6 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 26.9 จากการจำหน่ายเหล็กเส้นและ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลงร้อยละ 35.3 และ เหล็กลวด ลดลงร้อยละ 5.7 จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์กลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 1.0 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 8.9 จากการจำหน่ายเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลงร้อยละ 25.4 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดเย็น และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลงร้อยละ 15.4 และ 9.2 ตามลำดับ
  • การนำเข้า ในเดือนสิงหาคมปี 2562 มีปริมาณนำเข้า 1.1 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบนลดลง โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีปริมาณนำเข้า 0.2 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 23.6 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรีดร้อน ประเภท Carbon Steel ลดลงร้อยละ 81.0 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ อินเดีย และจีน) รองลงมา คือ เหล็กเส้น ประเภท Stainless Steel และเหล็กเส้น ประเภท Alloy Steel ลดลงร้อยละ 46.8 และ 45.3 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์กลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณนำเข้า 0.9 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4.8 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ประเภท Stainless Steel ลดลงร้อยละ 32.0 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ จีน และญี่ปุ่น) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Carbon Steel และ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี แบบ EG ลดลงร้อยละ 29.4 และ 29.1 ตามลำดับ
"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกันยายน 2562 คาดการณ์ว่า การผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า"

9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

+ เส้นใยสิ่งทอ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.55 ส่วนหนึ่งเนื่องจากปริมาณการผลิตในปีก่อนค่อนข้างต่ำเนื่องจากโรงงานผลิตเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืนรายใหญ่หยุดสายการผลิตบางส่วนเพื่อซ่อมบำรุง และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อน พบว่า อยู่ในภาวะทรงตัวซึ่งเป็นไปตามทิศทางการส่งออกที่ชะลอตัว

  • ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 18.13 และ 1.78 เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง รวมถึงแนวโน้มตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของโลกที่คาดการณ์ว่าจะชะลอตัว และความต้องการบริโภคในประเทศลดลง จึงทำให้ผู้ประกอบการลดการผลิตวัตถุดิบ ต้นน้ำเพื่อเป็นสต๊อกสินค้าลง
การจำหน่ายในประเทศ
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 7.20 15.52 และ 11.92 เนื่องจากมีความต้องการวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตสินค้าทั้งเพื่อการส่งออกและการบริโภคในประเทศลดลง ประกอบกับมีการนำเข้าเสื้อผ้าแฟชั่นจากจีนที่มีราคาถูกกว่า
การส่งออก
  • เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน มูลค่าลดลง ร้อยละ 16.24 และ 8.53 โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีน ซึ่งสั่งซื้อเส้นใยสิ่งทอจากไทยลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศดังกล่าวส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังตลาดโลกโดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาลดลง สำหรับผ้าผืน ไทยส่งออกไปยังตลาดเวียดนาม และกัมพูชา ลดลงเนื่องจากประเทศดังกล่าวมีการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ไปยังตลาดจีนลดลง

+ เสื้อผ้าสำเร็จรูป มูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.96 เนื่องจากมีการขยายตัวของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปสุภาพบุรุษและสตรี ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น

คาดการณ์แนวโน้มเดือนกันยายน 2562

ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน จะชะลอตัวตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้การค้า การลงทุน ในตลาดดังกล่าวชะลอตัว มีผลต่อภาคการผลิตซึ่งจะทำให้มีความต้องการวัตถุดิบจากไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะขยายตัวได้ในกลุ่มที่สามารถยกระดับไปรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างประเทศ

10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีจำนวน 7.25 ล้านตัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ร้อยละ 0.54 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.90 (%YoY)

  • การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 2.86 ล้านตัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ร้อยละ 2.85 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 8.03 (%YoY) จากความต้องการใช้ในประเทศที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีจำนวน 1.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ร้อยละ 43.95 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณลดลง ร้อยละ 13.50 (%YoY) เนื่องจากตลาดส่งออกหลักมีการปรับลดคำสั่งซื้อจากฟิลิปปินส์ ร้อยละ 72.34

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมเดือนกันยายน ปี 2562 มีแนวโน้มลดลง

อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)

+ การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีจำนวน 3.39 ล้านตัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ร้อยละ 4.22 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.81 (%YoY)

  • การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ภายในประเทศเดือนสิงหาคม ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.86 ล้านตัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ร้อยละ 2.85 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 8.05 (%YoY)

+ การส่งออกซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีจำนวน 0.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ร้อยละ 0.52 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 49.84 (%YoY) ซึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่ม คำสั่งซื้อจากกัมพูชา ร้อยละ 58.29

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกันยายน ปี 2562 คาดว่ายังขยายตัวได้หากไม่มีปัจจัยลบมากระทบ เช่น ภาวะน้ำท่วมเนื่องจากอยู่ในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ