สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2562 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.73 โดยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.15 หลายอุตสาหกรรมการผลิตขยายตัวจากการขยายตลาดต่างประเทศ สำหรับตลาดในประเทศคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยกระตุ้นดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนหน้า
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2562 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.73 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนกันยายน 2562 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ รถยนต์และเครื่องยนต์ เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.60 โดยสินค้าที่ขยายตลาดต่างประเทศที่ขยายตัว ได้แก่ เบียร์ สุรา เครื่องปรับอากาศ
นายทองชัย กล่าวต่อว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ระดับ 97.50 หดตัวลงร้อยละ 4.73 ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 63.87 เนื่องจากอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันบางรายหยุดซ่อมบำรุงตามรอบปี ทำให้อัตรการใช้กำลังการผลิตรวมลดลง ภาพรวมไตรมาสที่ 3 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ระดับ 99.35 หดตัวลงร้อยละ 4.15 ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 64.98 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนกันยายน ได้แก่
เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ Polyethylene resin และ Propylene เนื่องจากในปีก่อนผู้ผลิตบางรายมีการหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักร ภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.79
เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยโลหะและเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ที่ผู้ผลิตได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.36 โดยผู้ผลิตบางรายได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยไม้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงได้เร่งการผลิตเพื่อให้ทันการส่งมอบ
เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ผลิตได้ขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม รวมทั้งได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด ภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.15 ตามการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ เวียดนาม พม่า เป็นต้น
สุรา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์สุราขาวและสุราผสม เนื่องจากผู้ประกอบการได้ทำการตลาดโดยได้ปรับภาพลักษณ์ของสินค้าและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งมีการตอบรับที่ดีทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงการวางแผนขยายตลาดไปต่างประเทศ เช่น ประเทศพม่า ภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 อุตสาหกรรมสุราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36.14
เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด และยาครีม โดยส่วนใหญ่เป็นยาพาราเซตามอล ยาแก้อักเสบ ยาแก้แพ้ ที่ผู้ผลิตได้ขยายตลาดใหม่หลังจากการขยายกำลังการผลิต และได้เตรียมความพร้อมให้สถานที่เก็บรักษายาที่สามารถรองรับการผลิตยาได้มากขึ้น ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.05
มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้ส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าโลกเกิดการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ อาทิ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ ชิมช้อปใช้เฟส 2 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการซื้อจากทั้งการบริโภคในประเทศและการส่งออกภาคบริการ (นักท่องเที่ยวต่างประเทศ) โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้น นายทองชัย กล่าวปิดท้าย
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม