สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม 2562 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2562 (หดตัวร้อยละ 8.09) ขณะที่เดือนธันวาคม 2562 มีการหดตัวเพียง ร้อยละ 4.35 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 63.96
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม 2562 หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับร้อยละ 4.35 หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.13 สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 หลังจากที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง และการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 ประกอบกับรัฐบาลได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ตัวเลขการลงทุนในการประกอบกิจการโรงงานทั้งปี 2562 มีมูลค่าสูงถึง 4.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 31.47 ส่งผลให้อุตสาหกรรมสำคัญมีดัชนีผลผลิตปรับตัวดีขึ้น
Hard Disk Drive การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.56 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการได้รับคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นหลังจากการปิดฐานผลิตที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่ เม.ย. 2562 และความต้องการสินค้าในตลาดที่มีต่อเนื่อง ซึ่งผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีความจุสูงรองรับข้อมูลที่มีการเติบโตและสอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลาย
เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.47 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการส่งออกไปกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดียที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งตลาดในประเทศ ตามความต้องการสินค้าเครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์ และการขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น
อาหารทะเลแช่แข็ง การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.07 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาวัตถุดิบปลาทูน่าปรับตัวลดลงจากปีก่อน อีกทั้งกุ้งในตลาดมีปริมาณมากผู้ผลิตจึงเร่งผลิตและเก็บเป็นสต็อกไว้รอจำหน่ายใน ช่วงถัดไป
เครื่องประดับแท้ การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าจี้ แหวน ต่างหู และกำไล ตามแผนการผลิตที่ปรับตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเดือนนี้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทั้งตลาดส่งออก และตลาดในประเทศ
ปุ๋ยเคมี การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 77.76 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องทำให้ การนำเข้าวัตถุดิบมีต้นทุนถูกลงผู้ผลิตมีส่วนต่างกำไรเพิ่มขึ้น จึงเร่งผลิตแล้วเก็บเป็นสต็อกไว้รอจำหน่ายในช่วงถัดไป
รถยนต์ และเครื่องยนต์ ลดลงร้อยละ19.49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถาบันทางการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และเงินบาทแข็งค่าทำให้การส่งออกลดลง
น้ำตาล การผลิตลดลงร้อยละ 21.39 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีนี้การเปิดหีบล่าช้ากว่าปีก่อน (ปีก่อนเปิดหีบ 20 พ.ย. ปีนี้ 1 ธ.ค.) ด้วยสภาพอากาศแห้งแล้งไม่เอื้อต่อการปลูกอ้อย ส่งผลให้ค่าความหวานและปริมาณผลผลิตอ้อยลดลง
น้ำมันปาล์ม ลดลงร้อยละ 31.14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากผลปาล์มออกสู่ตลาดน้อยจากสภาพอากาศแปรปรวน และผลกระทบจากการรณรงค์เลิกใช้น้ำมันปาล์ม เพื่อการบริโภค
น้ำมันปิโตรเลียม ลดลงร้อยละ 3.93 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรงกลั่น 1 แห่ง ยังอยู่ระหว่าง การหยุดซ่อมบำรุงต่อเนื่องจากเดือนก่อนและเริ่มทำการกลั่นตามปกติในช่วงหลังของเดือน
สำเร็จรูป (ผ้าทอ) ลดลงร้อยละ 12.34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเสื้อผ้าชั้นในสตรีและเด็กหญิง เป็นหลัก โดยลดลงจากตลาดในประเทศและส่งออก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการสินค้าลดลง รวมทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการส่งออก
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม