ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2562 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 8.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่หดตัวร้อยละ 7.4
เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลง กล่าวคือ ในเดือนสิงหาคม 2562 การผลิตหดตัวร้อยละ 4.4 เดือนกันยายนหดตัวร้อยละ 5.1 และเดือนตุลาคมหดตัวร้อยละ 8.2
สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนสิงหาคม กันยายน และเดือนตุลาคม 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนสิงหาคมขยายตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.6 เดือนกันยายนหดตัวร้อยละ 3.4 และเดือนตุลาคมหดตัวร้อยละ 1.2
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤศจิกายน 2562 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
- รถยนต์ และเครื่องยนต์ หดตัวร้อยละ 21.6 โดยหดตัวเกือบทุกรายการสินค้า (ยกเว้นรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ รถยนต์ตรวจการณ์) สาเหตุหลักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าทำให้การส่งออกลดลง เช่นเดียวกับตลาดในประเทศที่การจำหน่ายลดลงจากกำลังซื้ออ่อนตัวลง และสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
- การกลั่นปิโตรเลียม หดตัวร้อยละ 18.5 จากการหยุดซ่อมบำรุงของบางโรงกลั่น ส่งผลให้การจำหน่ายในประเทศและการส่งออกลดลงกว่าช่วงเวลาปกติ
- ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ หดตัวร้อยละ 11.1 หดตัวจากยางแท่งและยางแผ่น ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากจีนที่มีความต้องการลดลง และผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ผู้ผลิตบางรายชะลอการผลิตเนื่องจากไม่คุ้มทุน
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤศจิกายน 2562 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
- เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 จากการวางแผนการผลิตเพื่อเก็บเป็นสินค้าคงคลังไว้รอจำหน่ายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563
- เคมีภัณฑ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 จากการผลิตเอทานอล และโซดาไฟ ที่ฐานต่ำจากการหยุดซ่อมบำรุงของผู้ผลิตหลายรายในปีก่อน ซึ่งปีนี้การผลิตเป็นไปตามปกติ
เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ เดือนพฤศจิกายน 2562
- การนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีมูลค่า 1,520.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่หดตัวลง ได้แก่เครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ และ เครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ
- การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีมูลค่า 7,167.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ประเภทเหล็กและเหล็กกล้าไม่เป็นสนิม ชนิดแผ่น เป็นต้น
- จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 255 โรงงาน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2562 ร้อยละ 13.9 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 32.4 (%YoY)
+ มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีมูลค่ารวม 17,619 ล้านบาท ลดลงจากเดือนตุลาคม 2562 ร้อยละ 50.6 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.7 (%YoY)
"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนพฤศจิกายน 2562 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน จำนวน 15 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจำนวน 14 โรงงาน"
"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2562 คือ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน จำนวนเงินทุน 1,924.81 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมประกอบหรือซ่อมแซมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนเงินทุน 1,443.00 ล้านบาท
- จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 188 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2562 ร้อยละ 118.6 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45.7 (%YoY)
- เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีมูลค่ารวม 5,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2562 ร้อยละ 342.6 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 182.5 (%YoY)
"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่มีการเลิกประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนพฤศจิกายน 2562 คือ อุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ จำนวน 46 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน จำนวน 13 โรงงาน
"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนพฤศจิกายน 2562 คือ อุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ มูลค่าเงินลงทุน 1,992 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบ หรือซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ ตู้เย็นหรือเครื่องประกอบตู้เย็น เครื่องยก ปั่นจั่น ลิฟต์ บันไดเลื่อนรถบรรทุก รถแทรกเตอร์ รถพ่วงสำหรับใช้ในการอุตสาหกรรม มูลค่าเงินลงทุน 1,087 ล้านบาท"
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนพฤศจิกายน 2562
- การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนพฤศจิกายน 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.7 (%YoY) แบ่งเป็น
1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออกที่ปรับตัวลดลง คือ (1) สับปะรดกระป๋อง ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 45.1 เนื่องจากวัตถุดิบลดลงจากการลดพื้นที่ปลูกด้วยราคาไม่จูงใจ และผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบกับคำสั่งซื้อจากผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาชะลอตัว (2) น้ำตาลทราย ดัชนีปรับตัวลดลง ร้อยละ 37.0 เนื่องจากวัตถุดิบลดลงจากการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2562/63 (1 ธันวาคม 62) ช้ากว่าฤดูการผลิตปี 2561/62 (20 พฤศจิกายน 61) แม้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 145.2 จากการเพิ่มคำสั่งซื้อผู้นำเข้าหลักอย่างตลาดอินโดนีเซีย ซูดาน และจีน (3) แป้งมันสำปะหลัง ดัชนีปรับตัวลดลง ร้อยละ 25.9 เนื่องจากผลผลิตลดลงด้วยภัยแล้งและโรคระบาด ประกอบกับผู้นำเข้าหลักอย่างจีนชะลอคำสั่งซื้อ และ (4) ดัชนีการผลิตทูน่ากระป๋องลดลง ร้อยละ 0.3 เนื่องจากระดับราคาวัตถุดิบลดลง ประกอบกับตลาดสหรัฐอเมริกาและลิเบียชะลอตัว
2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ น้ำมันปาล์มปรับตัวลดลง ร้อยละ 24.8 เนื่องจากวัตถุดิบปาล์มน้ำมันลดลง ผลกระทบจากภัยแล้ง และราคาที่อยู่ในระดับต่ำทำให้เกษตรกรขาดการดูแลรักษาต้นปาล์ม
+ การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหาร ในประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากดัชนีรายได้เกษตรกรปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
- ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 4 ร้อยละ 1.1 จากการลดลงในตลาด CLMV สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน-5 สวนทางกับตลาดสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ยังคงขยายตัว ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้น และแป้งมันสำปะหลัง) ข้าว (ข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ) ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าว ไก่แปรรูป และสับปะรดกระป๋อง โดยปรับตัวลดลง ร้อยละ 37.1 31.4 12.1 9.5 3.5 1.0 และ 1.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำตาลทราย (น้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาว) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าวโพดหวานกระป๋อง นมและผลิตภัณฑ์นม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งผลไม้ (ลำไยสดและทุเรียนแช่เย็นจนแข็ง) ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น
คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าดัชนีการผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนธันวาคม อาจจะลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยลบอย่างภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากค่าเงินบาทส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยลดลง ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบสินค้าเกษตรลดลง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด แม้จะมีปัจจัยบวกจากปัญหาของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่กำลังระบาดในต่างประเทศ ส่งผลให้ไก่ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนเป็นที่ต้องการมากขึ้น รวมทั้งโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกและผลพลอยได้ของไก่แช่แข็งของไทยได้รับการรับรองจากจีนเพิ่มเติมอีก 9 แห่ง จากเดิม 7 แห่ง ทั้งนี้ สามารถส่งออกได้ตั้งแต่ 22 ต.ค. 62 เป็นต้นไป
2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
+ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 90.4 สินค้าปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล ตู้เย็น และหม้อหุงข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8, 5.2, 3.0 และ 0.7 ตามลำดับ โดยหม้อหุงข้าวมีการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการนำสินค้าคงคลังออกมาจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนตู้เย็นและสายเคเบิ้ล มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากตลาดภายในประเทศที่ขยายตัว ในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กระติกน้ำร้อน เครื่องซักผ้า เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ หม้อแปลงไฟฟ้า คอมเพรสเซอร์ พัดลมตามบ้าน และมอเตอร์ไฟฟ้า ลดลง ร้อยละ 34.5, 26.3, 21.4, 11.0, 8.9, 6.9, 2.2 และ 1.9 ตามลำดับ โดยเครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ กระติกน้ำร้อน และเครื่องซักผ้า มีการผลิตลดลงเนื่องจากมีการจำหน่ายตลาดในประเทศและส่งออกลดลง กระติกน้ำร้อนมีการผลิตลดลงเนื่องจากการจำหน่ายตลาดในประเทศลดลง ส่วนเตาอบไมโครเวฟ มีการผลิตลดลงเนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลง
- การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,946.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มีมูลค่า 378.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.9 เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ มีมูลค่า 92.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.4 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ตู้เย็น มีมูลค่าการส่งออก 162.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 โดยเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ที่มีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น
"คาดการณ์การผลิตเดือนธันวาคม 2562 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้าเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า พัดลมตามบ้าน และเตาอบไมโครเวฟ มีการจำหน่ายในประเทศและส่งออกลดลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในขณะที่สินค้าตู้เย็น มีการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา"
+ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 96.3 สินค้า ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ PWB, Semiconductor devices transistor, IC, HDD และ PCBA โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 19.0, 9.9, 7.0, 2.1 และ 2.0 ตามลำดับ โดยสินค้า HDD เป็นผลการปรับตัวของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผู้บริโภคหันมาใช้ SSD เพิ่มขึ้น จึงทำให้ความต้องการในการผลิตลดลง ในขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ Printer เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เนื่องจากมีการผลิตเพื่อทดแทนสินค้าคงคลัง
- การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,103.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้า HDD และ วงจรรวม IC มีมูลค่า 1,004.7 และ 677.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.7 และ 2.4 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น มีคำสั่งซื้อลดลง
"คาดการณ์การผลิตเดือนธันวาคม 2562 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากผู้ประกอบการผลิต HDD ลดลงเนื่องจากการปรับตัวของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผู้บริโภคหันมาใช้ SSD เพิ่มขึ้น"
3. อุตสาหกรรมยานยนต์
+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีจำนวน 154,088 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนตุลาคม ปี 2562 ร้อยละ 0.85 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 21.79 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีจำนวน 79,299 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ปี 2562 ร้อยละ 2.82 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.21 (%YoY) จากการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV และรถยนต์ SUV เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว
- การส่งออกรถยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีจำนวน 75,185 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปี 2562 ร้อยละ 12.12 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 19.25 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกากลางและใต้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนธันวาคม ปี 2562 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปี 2561 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว"
- การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีจำนวน 171,799 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ปี 2562 ร้อยละ 6.50 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.43 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์ และแบบสปอร์ต
- การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 135,458 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปี 2562 ร้อยละ 4.90 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.99 (%YoY) จากการลดลงของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี, 111-125 ซีซี, 126-250 ซีซี, 251-399 ซีซี และมากกว่าหรือเท่ากับ 400 ซีซี
+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีจำนวน 31,277 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ปี 2562 ร้อยละ 20.03 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.79 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเมียนมา
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนธันวาคม ปี 2562 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2561 เนื่องจากมีการขยายตัวของการส่งออกกับประเทศคู่ค้าบางประเทศ"
4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา
- ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 10.52
- ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 13.79 ตามการชะลอตัวของตลาด Replacement และอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศ
- ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 20.98 เนื่องจากเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนสูงขึ้น และไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.01 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ยางแผ่นและยางแท่ง
- ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 7.89 ตามการชะลอตัวของตลาด Replacement และอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ
+ ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.79 ตามความต้องการใช้ทางการแพทย์ที่สูงขึ้น
- ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าลดลงร้อยละ 18.44 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยปรับลดคำสั่งซื้อจากไทยลงร้อยละ 25.95
+ ยางรถยนต์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.87 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 14.24
- ถุงมือยาง มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.18 จากการหดตัวของตลาดสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี
การผลิตและจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากโรคระบาด (โรคใบร่วงซึ่งเกิดจากเชื้อรา Phytophthora) ในสวนยางทางภาคใต้ สำหรับการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มการหดตัวของตลาด Replacement และอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ในส่วนของการผลิตถุงมือยางคาดว่าจะชะลอตัวตามภาระต้นทุนที่สูงขึ้น สืบเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การจำหน่ายถุงมือยางในประเทศคาดว่าจะขยายตัวตามแนวโน้มความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น
การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะมีมูลค่าลดลงตามแนวโน้มการชะลอคำสั่งซื้อยางจากไทยของจีน สำหรับการส่งออกยางรถยนต์คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การส่งออกถุงมือยางคาดว่าจะมีมูลค่าลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
5. อุตสาหกรรมพลาสติก
- ดัชนีผลผลิต เดือนพฤศจิกายน 2562 มีค่า 88.37 หดตัวร้อยละ 9.65 เมื่อเทียบกับเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตหดตัวในหลาย ๆ กลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์กระสอบพลาสติก หดตัวร้อยละ 26.22 เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ หดตัวร้อยละ 24.05 และแผ่นฟิล์มพลาสติก หดตัวร้อยละ 20.57 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ความต้องการสินค้าลดลง
- ดัชนีการส่งสินค้า เดือนพฤศจิกายน 2562 อุตสาหกรรมพลาสติกมีค่าดัชนีการส่งสินค้า 88.49 หดตัวร้อยละ 8.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ หดตัวร้อยละ 31.07 รองลงมาคือ กระสอบพลาสติก หดตัวร้อยละ 30.14 และแผ่นฟิล์มพลาสติก หดตัวร้อยละ 21.14
- การส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2562 มีมูลค่า 345.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว ร้อยละ 7.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีการส่งออกหดตัวสูงที่สุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (HS 3918) หดตัวร้อยละ 26.98 การส่งออกหดตัวในตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย
- การนำเข้าเดือนพฤศจิกายน 2562 มีมูลค่า 420.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 7.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่ส่งผลให้การนำเข้าหดตัว เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ เทป และรูปทรง แบนอื่น ๆ ชนิดยึดติดได้ในตัว (HS 3919) หดตัวร้อยละ 12.46 กลุ่มผลิตภัณฑ์ของอื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (HS 3926) หดตัว ร้อยละ 15.33 และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (HS 3923) หดตัวร้อยละ 6.95
แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนธันวาคม 2562 คาดการณ์ว่าการผลิตและการส่งออกยังคงหดตัว เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกลดลงทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ
+ ดัชนีผลผลิต เดือนพฤศจิกายน 2562 มีค่า 96.21 ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตขยายตัวทั้งในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐานและเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย โดยขยายตัวร้อยละ 18.07 และ 3.51 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตขยายตัวสูงสุด ได้แก่ เอทานอล ขยายตัวร้อยละ 39.11 เนื่องจากการส่งออก มันสำปะหลังของไทยไปยังจีนลดลงมาก ทำให้มีวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น
- การจำหน่าย เดือนพฤศจิกายน ปี 2562 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีค่าดัชนีการส่งสินค้า 88.49 หดตัว ร้อยละ 1.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการส่งสินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน หดตัวร้อยละ 1.97 โดยหดตัวในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ สำหรับกลุ่ม เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ดัชนีการส่งสินค้าหดตัวร้อยละ 1.76 หดตัวในสินค้าปุ๋ยเป็นหลัก
- การส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2562 มีมูลค่า 669.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 327.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 17.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการส่งออกหดตัว เช่น เคมีภัณฑ์อินทรีย์ หดตัวร้อยละ 25.23 ปุ๋ย หดตัวร้อยละ 17.53 และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์หดตัว ร้อยละ 11.77 การส่งออกหดตัวในตลาดหลัก เช่น จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น
- การนำเข้า เดือนพฤศจิกายน 2562 มีมูลค่า 1,223.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 10.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าการนำเข้า 761.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 15.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่าการนำเข้า 462.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.74 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าหดตัว เช่น เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ และสี เป็นต้น
คาดการณ์แนวโน้มในเดือนธันวาคม ปี 2562 การผลิตคาดว่าจะทรงตัว แต่การส่งออกอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์คาดว่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอตัว รวมทั้งค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกเคมีภัณฑ์ของไทย
- ดัชนีผลผลิต เดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ดัชนีผลผลิตมีค่า 107.33 หดตัวร้อยละ 0.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารละลายและเม็ดพลาสติก ได้แก่ Benzene และ Propylene หดตัวร้อยละ 2.79 และ 0.91 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายจะนำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ EPS resin, PP resin และ PS resin หดตัวร้อยละ 8.68, 5.43 และ 0.20 ตามลำดับ
+ ดัชนีการส่งสินค้า เดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ดัชนีการส่งสินค้ามีค่า 107.99 ขยายตัวร้อยละ 4.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งสินค้าขยายตัวในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานจะนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติก และสารละลาย ได้แก่ Toluene และ Ethylene ขยายตัวร้อยละ 2.47 และ 1.18 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายจะนำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ SAN resin และ PS resin ขยายตัวร้อยละ 27.15 และ 25.96 ตามลำดับ
- การส่งออก เดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีมูลค่า 914.58 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 21.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัว ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตเส้นใยสังเคราะห์ และสารละลาย ได้แก่ Para-Xylene, Terephthalic Acid, Benzene และ Toluene ส่วนผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัว ส่วนใหญ่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และขวดน้ำดื่ม ได้แก่ PE resin, PP resin, PC resin, PVC resin และ PET resin
- การนำเข้า เดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีมูลค่า 406.96 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 27.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่านำเข้าหดตัว ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต PVC, PE เส้นใยสังเคราะห์ และสารเติ่มแต่งพลาสติก ได้แก่ Vinyl Chloride,ParaXylene, Ethylene และPhthalic Anhydride ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีมูลค่านำเข้าหดตัว ส่วนใหญ่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก และยางสังเคราะห์ ได้แก่ PE resin, PP resin, BR rubber และ SR rubber
คาดการณ์แนวโน้มในเดือนธันวาคม ปี 2562 คาดว่าการส่งออกและนำเข้าจะหดตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
- ดัชนีผลผลิต ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีค่า 94.6 ลดลงร้อยละ 9.4 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ปรับลดลงทั้งสองผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 94.5 ลดลงร้อยละ 8.1 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5) จากการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน ลดลงร้อยละ 30.6 รองลงมา คือ ลวดเหล็ก และลวดเหล็กแรงดึงสูง ลดลงร้อยละ 15.5 และ 11.0 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 89.6 ลดลงร้อยละ 13.7 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6) จากการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลงร้อยละ 55.1 เนื่องจากความต้องการบริโภคในประเทศลดลง ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม ลดลงร้อยละ 44.4 (เนื่องจากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น โดยในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีปริมาณนำเข้า 16,766 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.9) และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงร้อยละ 29.8
- การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 1.5 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายในประเทศปรับลดลงในกลุ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 0.9 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4.7 จากการจำหน่ายเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 39.4 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 22.5 และ 12.9 ตามลำดับ แต่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 จากการจำหน่ายเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.3
- การนำเข้า ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีปริมาณนำเข้า 0.9 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบนลดลง โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีปริมาณนำเข้า 0.2 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 17.4 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ประเภท Carbon Steel ลดลงร้อยละ 85.6 (ประเทศหลักที่นำเข้าลดลง คือ ญี่ปุ่น) รองลงมา คือ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ และเหล็กเส้น ประเภท Carbon Steel ลดลงร้อยละ 34.8 และ 30.9 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณนำเข้า 13.4 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 13.4 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Carbon Steel ลดลงร้อยละ 41.2 (ประเทศหลักที่นำเข้าลดลง คือ ญี่ปุ่น) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดเย็น ประเภท Stainless Steel และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 38.6 และ 32.7 ตามลำดับ
"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนธันวาคม 2562 คาดการณ์ว่า การผลิตทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ"
9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
+ เส้นใยสิ่งทอ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.33 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานตัวเลขในปีก่อนค่อนข้างต่ำจากการที่มีโรงงานขนาดใหญ่ปิดซ่อมสายการผลิต
- ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 18.04 และ 15.21 เป็นผลมาจากแนวโน้มคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่ลดลง รวมถึงความต้องการบริโภคในประเทศที่ลดลง จึงทำให้ผู้ประกอบการลดการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำที่จะเป็นสต๊อกสินค้าลง
- เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 9.29 19.09 และ 26.23 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบ ทั้งเพื่อการส่งออกและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศชะลอตัว
- เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และ เสื้อผ้าสำเร็จรูป มูลค่าลดลง ร้อยละ 15.77 3.71 และ 3.19 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความ ไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นส่งผลให้การสั่งซื้อ ทั้งวัตถุดิบและเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง
ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะชะลอตัวตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้การค้า การลงทุน ในตลาดดังกล่าวชะลอตัวมีผลต่อภาคการผลิตซึ่งจะทำให้มีความต้องการวัตถุดิบจากไทยลดลง
10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีจำนวน 6.77 ล้านตัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปี 2562 ร้อยละ 6.15 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 19.17 (%YoY)
+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 2.84 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ปี 2562 ร้อยละ 0.46 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.09 (%YoY) จากการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐหลายโครงการทั้งโครงการเก่าและโครงการใหม่
+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีจำนวน 1.80 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ปี 2562 ร้อยละ 87.00 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 26.14 (%YoY) เนื่องจากตลาดหลักที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น เมียนมา และกัมพูชา ปรับเพิ่มคำสั่งซื้อเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมเดือนธันวาคม ปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาด ในประเทศ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ด้านปัจจัยบวก ได้แก่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ และการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ผลกระทบจากมาตรการ LTV หนี้ครัวเรือนที่มีสูง และการยกเลิกการจ้างงานของผู้ประกอบการทำให้ส่งผลต่อกำลังซื้อ
+ การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีจำนวน 3.26 ล้านตัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปี 2562 ร้อยละ 2.45 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.53 (%YoY)
+ การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ภายในประเทศเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 2.84 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ปี 2562 ร้อยละ 0.42 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.61 (%YoY)
+ การส่งออกซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 มีจำนวน 0.47 ล้านตัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปี 2562 ร้อยละ 16.56 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22.76 (%YoY) เป็นผลจากการปรับเพิ่มคำสั่งซื้อของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศกัมพูชาและเมียนมา
คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนธันวาคม ปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดในประเทศ และการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมทั้งการปรับเพิ่มคำสั่งซื้อจากตลาดส่งออกหลักที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศกัมพูชาและเมียนมา ที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาประเทศ
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม