ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 12, 2020 14:45 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2562 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนที่หดตัวร้อยละ 8.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทอง ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 10 เดือน

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) เดือนกันยายน 2562 การผลิตหดตัว ร้อยละ 5.1 เดือนตุลาคมหดตัวร้อยละ 8.1 และเดือนพฤศจิกายนหดตัวร้อยละ 8.1

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนกันยายน ตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนกันยายนหดตัว ร้อยละ 3.4 เดือนตุลาคมหดตัวร้อยละ 1.2 และเดือนพฤศจิกายนขยายตัวร้อยละ 1.0

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนธันวาคม 2562 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ

  • รถยนต์ และเครื่องยนต์ หดตัวร้อยละ 19.5 ลดลงตามกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวรวมถึงสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เช่นเดียวกับปริมาณส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง
  • น้ำตาล หดตัวร้อยละ 21.4 เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศแห้งแล้งไม่เอื้อต่อการปลูกอ้อย ส่งผลให้ค่าความหวานและปริมาณผลผลิตอ้อยลดลง
  • น้ำมันปาล์ม หดตัวร้อยละ 31.1 เนื่องจากผลปาล์มออกสู่ตลาดน้อยจากสภาพอากาศแปรปรวน การกำหนดอัตราภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นของอินเดีย และกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศลดลงตามสภาพเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนธันวาคม 2562 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

  • Hard Disk Drive เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 จากการได้รับคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นหลังจากมีการปิดฐานการผลิตที่มาเลเซียตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 และความต้องการใช้ที่มีต่อเนื่อง ซึ่งผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีความจุสูงรองรับข้อมูลที่มีการเติบโตและสอดคล้องกับความต้องการใช้ที่หลากหลาย
  • เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 จากการส่งออกไปกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซียรวมถึงอินเดียที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และตลาดในประเทศมีความต้องการเครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์รวมถึงมีการขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ เดือนธันวาคม 2562

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย

+ การนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่า 1,483.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวจากสินค้าเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ เครื่องจักรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ เครื่องสูบลม เครื่องสูบของเหลว เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการแปรรูปยาง หรือพลาสติก

  • การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่า 6,275.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวจากสินค้าเหล็ก ประเภทเหล็กแผ่นและผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าไม่เป็นสนิม เคมีภัณฑ์ อาทิ เคมีภัณฑ์อินทรีย์และเม็ดพลาสติก
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม
  • จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนธันวาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 181 โรงงาน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2562 ร้อยละ 29.0 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 46.4 (%YoY)
  • มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่ารวม 14,263 ล้านบาท ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2562 ร้อยละ 19.0 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 90.2 (%YoY)
"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนธันวาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำนวน 11 โรงงาน และอุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบของยานดังกล่าว จำนวน 11 โรงงานเท่ากัน"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนธันวาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน จำนวนเงินทุน 2,420 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมการบรรจุสินค้าทั่วไป จำนวนเงินทุน 1,227 ล้านบาท

+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนธันวาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 144 ราย ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2562 ร้อยละ 23.4 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44.4 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่ารวม 5,370 ล้านบาท ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2562 ร้อยละ 3.6 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 74.0 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่มีการเลิกประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนธันวาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ จำนวน 23 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม และอุตสาหกรรมการกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน หรือเชื่อมโลหะทั่วไป ทั้ง 2 อุตสาหกรรม จำนวน 10 โรงงาน เท่ากัน

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนธันวาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการถลุง หลอม หล่อ รีด ดึง เหล็กหรือเหล็กกล้า มูลค่าเงินลงทุน 1,040 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำชิ้นส่วนพิเศษ หรืออุปกรณ์สำหรับรถยนต์ หรือรถพ่วง มูลค่าเงินลงทุน 834 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนธันวาคม 2562

1.อุตสาหกรรมอาหาร
  • การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนธันวาคม 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.8 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออกที่ปรับตัวลดลง คือ (1) น้ำตาลทราย ดัชนีลดลง ร้อยละ 21.4 เนื่องจากวัตถุดิบลดลงจากการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2562/63 (1 ธันวาคม 62) ช้ากว่าฤดูการผลิตปี 2561/62 (20 พฤศจิกายน 61) ประกอบกับได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แม้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 58.3 จากการเพิ่มคำสั่งซื้อผู้นำเข้าหลักอย่างตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา และเกาหลีใต้ (2) สับปะรดกระป๋อง ดัชนีลดลง ร้อยละ 15.1 เนื่องจากวัตถุดิบลดลงจากการลดพื้นที่ปลูกด้วยราคาไม่จูงใจ และผลกระทบจากภัยแล้ง แม้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.4 จากการเพิ่มคำสั่งซื้อของผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี (3) ทูน่ากระป๋อง ดัชนีลดลง ร้อยละ 1.3 เนื่องจากการชะลอคำสั่งซื้อของผู้นำเข้าอย่างสหรัฐอเมริกา อียิปต์ และญี่ปุ่น และ (4) ดัชนีผลผลิตไก่แปรรูปลดลง ร้อยละ 20.6 เนื่องจากการชะลอตัวของตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ น้ำมันปาล์มปรับตัวลดลง ร้อยละ 31.1 เนื่องจากวัตถุดิบปาล์มน้ำมันลดลง ผลกระทบจากภัยแล้ง และราคาปาล์มน้ำมันในช่วงต้นปีตกต่ำ ทำให้เกษตรกรดูแลได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ต้นปาล์มขาดลูกผลผลิตจึงลดลง

  • การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนธันวาคม 2562 ลดลงร้อยละ 2.7 เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก
  • ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนธันวาคม ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 5 ร้อยละ 4.2 จากการลดลงในตลาด ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเวียดนาม สวนทางกับตลาดจีน อินโดนีเซีย กัมพูชา และฮ่องกง ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว (ข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้น และแป้งมันสำปะหลัง) กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ซาร์ดีนกระป๋อง และทูน่ากระป๋อง โดยปรับตัวลดลง ร้อยละ 40.6 (59.3 และ 12.0) 24.0 (66.8 และ 16.2) 22.6 25.3 และ 11.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำตาลทราย (น้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาว) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง นมและผลิตภัณฑ์นม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งผลไม้ (ลำไยสดและทุเรียนสด) ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนมกราคม ปี 63 อาจจะลดลงเล็กน้อยหรือทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยลบอย่างภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากค่าเงินบาท ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบสินค้าเกษตรลดลง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด รวมทั้งผลกระทบจากโรคไวรัสโคโรนาระบาดในจีน อาจส่งผลให้อาหารสดอย่าง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และทุเรียนสดแช่เย็นแช่แข็ง ชะลอตัวเนื่องจากอายุการเก็บรักษาสั้นไม่สามารถสต๊อกได้ แต่อย่างไรก็ตาม จากภาวะโรคระบาดดังกล่าวน่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม และอาหารกระป๋องต่าง ๆ อาจจะมีการเพิ่มคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

+ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 94.6 สินค้าปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ สายไฟฟ้า ตู้เย็น มอเตอร์ไฟฟ้า เตาอบไมโครเวฟ และสายเคเบิ้ล เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8, 21.8, 16.5, 7.1, 1.0 และ 0.1 ตามลำดับ โดยเครื่องปรับอากาศ มีการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากทดแทนสินค้าคงคลังที่มีการส่งออกและการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ตู้เย็นและสายไฟฟ้า มีการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนเตาอบไมโครเวฟมีการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นและมอเตอร์ไฟฟ้ามีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าคงคลัง ในขณะที่สินค้า ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องซักผ้า คอมเพรสเซอร์ พัดลมตามบ้าน หม้อหุงข้าว และกระติกน้ำร้อน ลดลงร้อยละ 22.1, 21.5, 13.2, 7.4, 4.9 และ 2.4 ตามลำดับ โดยเครื่องซักผ้าและพัดลมตามบ้าน มีการผลิตลดลงเนื่องจากมีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง คอมเพรสเซอร์และหม้อแปลงไฟฟ้า มีการผลิตลดลงเนื่องจากมีการจำหน่ายตลาดในประเทศและต่างประเทศลดลง ส่วนกระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าว มีการผลิตลดลงเนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลง

+ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,953.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อาเซียน สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มีมูลค่า 424.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 ผลิตภัณฑ์ตู้เย็น มีมูลค่า 165.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ มีมูลค่าการส่งออก 116.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.7 โดยลดลงในตลาดอาเซียน ที่มีการสั่งซื้อสินค้าลดลง

"คาดการณ์การผลิตเดือนมกราคม 2563 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้าเครื่องปรับอากาศ มีการจำหน่ายในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น มาตรการกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าของภาครัฐ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอัดฉีดทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว รวมถึงผู้ประกอบการมีการปรับตัวในการหาตลาดใหม่ในการส่งออกเพิ่มขึ้น"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

+ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 99.2 สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ HDD โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 เนื่องจากคำสั่งซื้อจากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ PWB, IC, และ Printer ลดลงร้อยละ 29.9, 3.7 และ 2.9 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการของต่างประเทศลดลง

+ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,031.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้า HDD มีมูลค่า 953.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรปและอาเซียน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

"คาดการณ์การผลิตเดือนมกราคม 2563 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกทยอยปรับตัวดีขึ้นและคาดว่าจะเริ่มเข้าสู่วัฏจักร ขาขึ้นของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในสินค้าหลัก เช่น HDD ผู้ประกอบการผลิต HDD มีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศมาเลเซียมายังประเทศไทยทำให้คำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น"

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์
  • การผลิตรถยนต์ ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีจำนวน 134,208 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ร้อยละ 12.90 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 20.75 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามแผนการผลิตรถยนต์ที่ปรับลดลงในเดือนก่อนหน้า

+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีจำนวน 89,285 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ร้อยละ 12.59 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 21.39 (%YoY) จากการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV และรถยนต์ SUV เนื่องจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ปัญหาภัยแล้ง และการแข็งของค่าเงินบาท

  • การส่งออกรถยนต์ ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีจำนวน 72,265 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ร้อยละ 3.88 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 24.26 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนมกราคมปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปี 2562 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว"
อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์

+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีจำนวน 158,839 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ร้อยละ 7.54 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.75 (%YoY) จากการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 113,615 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ร้อยละ 16.13 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.25 (%YoY)จากการลดลงของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี, 111-125 ซีซี, 126-250 ซีซี และมากกว่าหรือเท่ากับ 400 ซีซี

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีจำนวน 37,280 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ร้อยละ 19.19 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.72 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศเวียดนาม ฝรั่งเศส เมียนมา และญี่ปุ่น

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม ปี 2563 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ปี 2562 เนื่องจากมีการขยายตัวของการส่งออกกับประเทศคู่ค้าบางประเทศ"

4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา

การผลิต

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.20

  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 15.27 ตามการชะลอตัวของตลาด Replacement และอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศ
  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 20.67 เนื่องจากเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนสูงขึ้น จึงไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
การจำหน่ายในประเทศ

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.39 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ยางแท่งและน้ำยางข้น

  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 12.09 ตามการชะลอตัวของตลาด Replacement และอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ
  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 31.92 เนื่องจากผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของไทยบางรายหันไปทำตลาดส่งออกเองโดยไม่จำหน่ายผ่านผู้ส่งออกในประเทศ
การส่งออก
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.68 เนื่องจากญี่ปุ่นปรับลดคำสั่งซื้อจากไทยลงร้อยละ 36.58

+ ยางรถยนต์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.58 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 14.99

+ ถุงมือยาง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.07 จากการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย

คาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2563

การผลิตและจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานตัวเลขของเดือนมกราคม 2562 ค่อนข้างสูง สำหรับการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มการหดตัวของตลาด Replacement และอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ในส่วนของการผลิตถุงมือยางคาดว่าจะยังคงชะลอตัวตามภาระต้นทุนที่สูงขึ้น สืบเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การจำหน่ายถุงมือยางในประเทศคาดว่าจะขยายตัวตามแนวโน้มความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะมีมูลค่าลดลงตามแนวโน้มการชะลอคำสั่งซื้อยางจากไทยของญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญในสินค้ายางแปรรูปขั้นปฐมอันดับ 3 ของไทย สำหรับการส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยางคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา

5. อุตสาหกรรมพลาสติก

ดัชนีผลผลิต-ดัชนีการส่งสินค้า
  • ดัชนีผลผลิต เดือนธันวาคม 2562 มีค่าดัชนีผลผลิต 84.41 หดตัวร้อยละ 1.43 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของ ปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตหดตัวในหลาย ๆ กลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น กระสอบพลาสติก หดตัวร้อยละ 21.29 แผ่นฟิล์มพลาสติก หดตัวร้อยละ 29.25 และเครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ หดตัวร้อยละ 6.49 เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารหดตัว
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนธันวาคม 2562 อุตสาหกรรมพลาสติกมีค่าดัชนีการส่งสินค้า 88.074 หดตัวร้อยละ 6.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ หดตัวร้อยละ 28.38 รองลงมาคือ กระสอบพลาสติก หดตัวร้อยละ 21.99 และแผ่นฟิล์มพลาสติก หดตัวร้อยละ 15.67
  • การส่งออก เดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่า 330.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 2.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีการส่งออกหดตัวสูงที่สุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ของอื่น ๆ ทำด้วยพลาสติก (HS 3926) หดตัวร้อยละ 11.70 รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่น ๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (HS 3920) หดตัว ร้อยละ 8.72 และกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่น ๆ ชนิดยึดติดในตัว (HS 3919) หดตัวร้อยละ 4.68 การส่งออกหดตัวในตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เวียดนาม และจีน
ปริมาณและมูลค่าการส่งออก-นำเข้า

+ การนำเข้าเดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่า 393.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 5.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลัก ที่ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัว เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (HS 3916) ขยายตัวร้อยละ 52.50 กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (HS 3918) ขยายตัวร้อยละ 32.13 และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประกอบอาคาร (HS 3925) ขยายตัวร้อยละ 26.24

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนมกราคม 2563 คาดการณ์ว่าการผลิตและการส่งออกยังคงหดตัว อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อการผลิตพลาสติกประเภท single use บางประเภท

6. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

+ ดัชนีผลผลิต เดือนธันวาคม 2562 มีค่า 84.31 ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนการผลิตขยายตัวทั้งในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐานและเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย โดยขยายตัวร้อยละ 1.30 และ 6.86 ตามลำดับผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตขยายตัวสูงสุด ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ขยายตัวร้อยละ 77.76 เป็นการผลิตเพื่อสำรองสินค้าคงคลัง

  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนธันวาคม ปี 2562 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีค่าดัชนีการส่งสินค้า 81.93 หดตัว ร้อยละ 1.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการส่งสินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน หดตัวร้อยละ 0.67 หดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์เอทานอล สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ดัชนีการส่งสินค้าหดตัวร้อยละ 1.62 หดตัวในกลุ่มผลิตภัณฑ์สี และน้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น
          + การส่งออก เดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่า 673.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.46 เมื่อเทียบกับ        ช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวในกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 305.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  ขยายตัวร้อยละ 8.35 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัว เช่น เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด และเครื่องสำอางการส่งออกขยายตัวในตลาดหลัก เช่น เวียดนาม จีน และสหรัฐ เป็นต้น สำหรับเคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าการส่งออก 367.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.26
  • การนำเข้า เดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่า 1,128.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าการนำเข้า 699.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.28 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าหดตัว เช่น เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ สำหรับเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่าการนำเข้า 428.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 2.97

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เดือนมกราคม 2563 การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์คาดว่าจะขยายตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การแข็งค่าของเงินบาทที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเคมีภัณฑ์

7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  • ดัชนีผลผลิต เดือนธันวาคม ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 108.00 หดตัวร้อยละ 2.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานใช้เป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้แก่ Benzene, Ethylene และ Propylene หดตัวร้อยละ 10.19, 8.73 และ 4.39 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายจะนำไปใช้ผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตโฟม ชิ้นส่วนรถยนต์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ ได้แก่ EPS, ABS resin และ SAN resin หดตัวร้อยละ 13.82, 5.86 และ 5.16 ตามลำดับ
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนธันวาคม ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 108.17 หดตัวร้อยละ 0.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งสินค้าส่วนใหญ่มีการหดตัวในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้แก่ Ethylene และ Benzene หดตัวร้อยละ 18.47 และ 17.05 ตามลำดับ
  • การส่งออก เดือนธันวาคม ปี 2562 มีมูลค่า 864.33 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 22.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัว ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตเส้นใยสังเคราะห์ ตัวทำละลาย และสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอื่น ๆ ได้แก่ Terephthalic Acid, Para-Xylene, Benzene และ Toluene ส่วนผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัว ส่วนใหญ่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และบรรจุภัณฑ์น้ำดื่ม ได้แก่ PE resin, PC resin, PS resin และ PET resin
  • การนำเข้า เดือนธันวาคม ปี 2562 มีมูลค่า 383.32 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 20.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่านำเข้าหดตัว ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต PVC เส้นใยสังเคราะห์ และสารตั้งต้นผลิตเม็ดพลาสติก ได้แก่ Vinyl Chloride, Acetic Acid และ Ethylene ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีมูลค่านำเข้าหดตัว ส่วนใหญ่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ และยางสังเคราะห์ ได้แก่ PE resin, PP resin , Nylon resin และ BR rubber

คาดการณ์แนวโน้มในเดือนมกราคม ปี 2563 คาดว่าการส่งออกและนำเข้าจะยังคงชะลอตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มไม่ชัดเจน รวมถึงผลกระทบจากสงครามระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน

8. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีค่า 87.1 ลดลงร้อยละ 2.1 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือน ที่ 7) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับลดลงจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 84.3 ลดลงร้อยละ 10.7 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7) จากการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลงร้อยละ 61.3 เนื่องจากความต้องการบริโภคในประเทศลดลง ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ผลไม้กระป๋อง รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม ลดลง ร้อยละ 60.2 เนื่องจากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยในเดือนธันวาคม 2562 มีปริมาณนำเข้า 15,518 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 140.8 สำหรับเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงร้อยละ 9.6 แต่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 88.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1 รองลงมา คือ เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กลวด เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 และ 22.5 ตามลำดับ
  • การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 1.4 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายในประเทศปรับลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.6 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.4 จากการจำหน่ายเหล็กลวด และเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลงร้อยละ 4.6 และ 1.6 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 0.8 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.2 จากการจำหน่ายเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 25.8 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลงร้อยละ 19.9 และ 15.7 ตามลำดับ
  • การนำเข้า ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีปริมาณนำเข้า 0.8 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณนำเข้า 0.2 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 21.2 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ประเภท Stainless Steel ลดลงร้อยละ 89.3 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้าลดลง คือ จีน) รองลงมา คือ เหล็กเส้น ประเภท Alloy Steel และท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ลดลงร้อยละ 37.1 และ 36.0 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณนำเข้า 0.6 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.9 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Alloy Steel ลดลงร้อยละ 74.8 (ประเทศหลักไทยที่นำเข้าลดลง คือ จีน) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Stainless Steel และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ชนิด HDG ลดลงร้อยละ 71.6 และ 31.1 ตามลำดับ
"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมกราคม 2563 คาดการณ์ว่า การผลิตทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีประเด็นที่น่าติดตาม เช่น การลงทุนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้การผลิต และการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น"

9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 8.90 12.95 และ 10.62 (YoY) เป็นผลมาจากแนวโน้มคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่ลดลง รวมถึงความต้องการบริโภคในประเทศที่ลดลง จึงทำให้ผู้ประกอบการลดการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำที่จะเป็น สต๊อกสินค้าลง
การจำหน่ายในประเทศ
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 11.74 10.66 และ 17.12 (YoY) จากความต้องการวัตถุดิบ เพื่อผลิตเสื้อผ้ารองรับตลาดในประเทศลดลง ประกอบกับมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะเสื้อผ้าจากจีนและเวียดนาม
การส่งออก
  • เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน มูลค่าลดลง ร้อยละ 16.13 และ 2.62 (YoY) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การสั่งซื้อวัตถุดิบจากไทยลดลง

+ เสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.01 โดยขยายตัวจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในตลาดจีน และ สหภาพยุโรป และการส่งออกเสื้อผ้าเด็กอ่อนไปตลาดสหรัฐอเมริกา

คาดการณ์แนวโน้มเดือนมกราคม 2563

ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะขยายตัวขึ้นเล็กน้อย จากการทบทวนข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน ที่มีสัญญาณที่ดีส่งผลให้สถานการณ์คลี่คลายลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่มีการส่งออก ไปยังตลาดจีน และสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก

10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม
  • การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีจำนวน 6.66 ล้านตัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ร้อยละ 1.60 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.65 (%YoY)

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 2.74 ล้านตัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ร้อยละ 3.46 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.67 (%YoY) จากการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐหลายโครงการทั้งโครงการเก่า และโครงการใหม่

  • การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีจำนวน 0.88 ล้านตัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ร้อยละ 50.83 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 35.21 (%YoY) เนื่องจากตลาดส่งออกหลักหลายประเทศ ปรับลดคำสั่งซื้อเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ศรีลังกา เวียดนาม บังคลาเทศ และ สปป.ลาว

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมเดือนมกราคม ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดในประเทศ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ด้านปัจจัยบวก ได้แก่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ และการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ผลกระทบจากมาตรการ LTV หนี้ครัวเรือนที่มีสูง

อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)

+ การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีจำนวน 3.29 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ร้อยละ 0.89 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.42 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) เดือนธันวาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 2.74 ล้านตัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ร้อยละ 3.43 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.02 (%YoY)

+ การส่งออกซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนธันวาคม ปี 2562 มีจำนวน 0.46 ล้านตัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ร้อยละ 1.69 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 37.03 (%YoY) เป็นผลจากการปรับเพิ่มคำสั่งซื้อของประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา และเมียนมา

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมกราคม ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดในประเทศ และการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมทั้งการปรับเพิ่มคำสั่งซื้อจากตลาดส่งออกหลักที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศกัมพูชาและเมียนมา ที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาประเทศ

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ