ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 19, 2020 15:28 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2563 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทอง ที่หดตัวร้อยละ 0.8

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) เดือนตุลาคม 2562 การผลิตหดตัว ร้อยละ 8.0 เดือนพฤศจิกายนหดตัวร้อยละ 8.0 และเดือนธันวาคมหดตัวร้อยละ 4.4

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนตุลาคม พฤศจิกายน และเดือนธันวาคม 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนตุลาคมหดตัว ร้อยละ 1.2 เดือนพฤศจิกายนขยายตัวร้อยละ 1.0 และเดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 1.8

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมกราคม 2563 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ

  • รถยนต์ และเครื่องยนต์ หดตัวร้อยละ 12.8 จากการหดตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ากระทบต่อการส่งออกและความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน
  • น้ำตาล หดตัวร้อยละ 15.2 เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยลดลงจากปัญหาภัยแล้งทำให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงจากปีก่อน อีกทั้งยังพบปัญหาอ้อยแห้งทำให้การหีบสกัดน้ำตาลต่ำกว่ามาตรฐาน ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยส่วนใหญ่มีปริมาณลดลง
  • น้ำมันปาล์ม หดตัวร้อยละ 40.7 จากความแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงมากจากปีก่อน รวมถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมกราคม 2563 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

  • เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 จากการขยายตัวของตลาดในประเทศ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และการขยายตัวของตลาดส่งออก จากลูกค้าออสเตรเลียเนื่องจากวิกฤติไฟป่าและอุณหภูมิที่สูงขึ้น และคำสั่งซื้อจากเวียดนามจากการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์
  • Hard Disk Drive เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 จากคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นหลังปิดฐานผลิตที่มาเลเซียตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 และความต้องการใช้ที่มีต่อเนื่อง ซึ่งผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีความจุสูงรองรับความต้องการใช้ที่หลากหลาย

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ เดือนมกราคม 2563

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย
  • การนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนมกราคม 2563 มีมูลค่า 1,899.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวจากสินค้าเครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในการแปรรูปไม้ และส่วนประกอบ เป็นต้น
  • การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนมกราคม 2563 มีมูลค่า 7,407.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวจากสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ประเภทผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปทำด้วยเหล็ก ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

+ จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนมกราคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 220 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2562 ร้อยละ 21.5 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 23.3 (%YoY)

  • มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนมกราคม 2563 มีมูลค่ารวม 10,509 ล้านบาท ลดลงจากเดือนธันวาคม 2562 ร้อยละ 26.3 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 64.5 (%YoY)
"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนมกราคม 2563 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน จำนวน 26 โรงงาน และอุตสาหกรรมผลิตแอสฟัลท์ติกคอนกรีต จำนวน 8 โรงงาน"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนมกราคม 2563 คือ อุตสาหกรรมการเพาะเชื้อเห็ด กล้วยไม้ หรือถั่วงอก จำนวนเงินทุน 1,974 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมการต้ม นึ่ง หรืออบพืชหรือเมล็ดพืช จำนวนเงินทุน 710.96 ล้านบาท

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม (ต่อ)

+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนมกราคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 82 ราย ลดลงจากเดือนธันวาคม 2562 ร้อยละ 43.1 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.7 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนมกราคม 2563 มีมูลค่ารวม 1,875 ล้านบาท ลดลงจากเดือนธันวาคม 2562 ร้อยละ 65.1 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 35.5 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่มีการเลิกประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนมกราคม 2563 คือ อุตสาหกรรม การขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน จำนวน 15 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการสี ฝัด หรือขัดข้าว จำนวน 6 โรงงาน

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนมกราคม 2563 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์จากผ้าใบ มูลค่าเงินลงทุน 280 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน มูลค่าเงินลงทุน 181 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนมกราคม 2563

1. อุตสาหกรรมอาหาร
  • การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนมกราคม 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.7 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก ที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง คือ (1) น้ำตาลทราย ดัชนีปรับตัวลดลง ร้อยละ 15.2 เนื่องจากวัตถุดิบลดลงเนื่องจากหลายพื้นที่ปลูกอ้อยเจอปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลงต่อเนื่อง และยังพบปัญหาอ้อยแห้งทำให้การหีบสกัดน้ำตาลต่ำกว่ามาตรฐาน แม้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.7 จากการเพิ่มคำสั่งซื้อผู้นำเข้าหลักอย่างตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และกัมพูชา (2) แป้งมันสำปะหลัง ดัชนีปรับตัวลดลง ร้อยละ 13.1 เนื่องจากวัตถุดิบลดลงจากภัยแล้งและใบด่างมันสำปะหลัง ส่งผลให้มันสำปะหลังออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานและตลาด อาทิ จีน อินโดนีเซีย และไต้หวัน และ (3) สับปะรดกระป๋อง ดัชนีปรับตัวลดลง ร้อยละ 6.1 เนื่องจากวัตถุดิบลดลงจากการลดพื้นที่ปลูกด้วยราคาไม่จูงใจ และผลกระทบจากภัยแล้ง แม้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 จากระดับราคาที่เพิ่มขึ้นของผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและซาอุดิอาระเบีย

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ ที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง คือ น้ำมันปาล์มปรับตัวลดลง ร้อยละ 40.7 เนื่องจากวัตถุดิบปาล์มน้ำมันลดลง ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบกับที่ผ่านมาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ทำให้เกษตรกรดูแลได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ต้นปาล์มขาดลูกผลผลิตจึงลดลง

+ การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนมกราคม 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ตามดัชนีรายได้เกษตรกรปรับตัวเพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรสำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และสุกร ตามความต้องการบริโภคของตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้น

  • ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเดือนมกราคม ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ร้อยละ 12.3 จากการลดลงในตลาด แอฟริกา อาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป สวนทางกับตลาดญี่ปุ่น ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว (ข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ) กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (แป้งมันสำปะหลัง และมันเส้น) และทูน่ากระป๋อง โดยปรับตัวลดลง ร้อยละ 34.0 (37.2 และ 19.1) 28.1 16.6 (26.5 และ 22.6) และ 14.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำตาลทราย (น้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาว) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป และอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนกุมภาพันธ์ ปี 63 อาจจะลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยลบอย่างภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากค่าเงินบาทส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยลดลง ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบสินค้าเกษตรลดลง เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด รวมทั้งผลกระทบจากโรคไวรัส Covid-19 ที่ระบาดรุนแรงไปทั่วโลก อาจส่งผลให้อาหารสดอย่าง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และทุเรียนสด ชะลอตัวเนื่องจากอายุการเก็บรักษาสั้น ไม่สามารถสต็อกได้นาน แต่อย่างไรก็ตาม จากภาวะโรคระบาดดังกล่าวน่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทาน (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป/ผลิตภัณฑ์ข้าว) เครื่องดื่ม และอาหารกระป๋องต่างๆ (ผลไม้กระป๋อง/ ผักกระป๋อง และอาหารทะเลกระป๋อง) รวมทั้ง มันเส้น ที่มีแนวโน้มการเพิ่มคำสั่งซื้อหรืออาจเร่งการส่งมอบสินค้าให้เร็วขึ้น เพื่อ Stock สำหรับรองรับความต้องการ โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่มีการระบาดค่อนข้างมาก

2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

+ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 104.4 สินค้าปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ กระติกน้ำร้อน สายเคเบิ้ล เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและสายไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.4, 32.5, 26.3, 3.7 และ 0.1 ตามลำดับ โดยเครื่องปรับอากาศและกระติกน้ำร้อนมีการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากทดแทนสินค้าคงคลังที่มีการส่งออกและการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น สายไฟฟ้า มีการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนสายเคเบิ้ลมีการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นและตู้เย็นมีการผลิตเพื่อทดแทนสินค้าคงคลังและการส่งออกเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าว เตาอบไมโครเวฟ พัดลมตามบ้าน คอมเพรสเซอร์ และมอเตอร์ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 22.1, 20.6, 17.2, 13.5, 7.5, 5.5 และ 0.3 ตามลำดับ โดยหม้อแปลงไฟฟ้า หม้อหุงข้าวและมอเตอร์ไฟฟ้า มีการผลิตลดลงเนื่องจากมีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ส่วนเครื่องซักผ้าและเตาอบไมโครเวฟมีการผลิตลดลง เนื่องจากมีการจำหน่ายตลาดในประเทศและต่างประเทศลดลง

+ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,945.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ จีน โดยสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มีมูลค่า 528.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 ตู้เย็นเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่า 166.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 13.5 ในขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกา มีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ มีมูลค่า 89.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 34.0

"คาดการณ์การผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กระทบห่วงโซ่อุปทานในประเทศจีน ส่งผลให้การค้าและการลงทุนให้ประเทศไทยรวมถึงการส่งออกหดตัวเนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาตลาดจีนในการผลิตสินค้าบางชนิด"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

+ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 90.5 สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ HDD โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ Printer, PWB และ IC โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 13.5, 5.9 และ 1.8 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลง

+ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,749.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้า HDD มีมูลค่า 860.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ในตลาดจีน อาเซียน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ส่วน PWB และ IC มีมูลค่า 99.4 และ 551.2 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.6 และ 11.5 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกา จีนและญี่ปุ่น มีคำสั่งซื้อลดลง

"คาดการณ์การผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจีนเป็นแหล่งผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จอภาพและแผงวงจร รวมถึงสินค้าสำเร็จรูปอื่น เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เครื่องรับโทรทัศน์ หรือโทรศัพท์มือถือของแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ด้านกระบวนการผลิตและการ ส่งมอบสินค้าต้องชะลอและล่าช้าออกไป"

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีจำนวน 156,266 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2562 ร้อยละ 16.44 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.99 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

  • การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีจำนวน 71,688 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม ปี 2562 ร้อยละ 19.71 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.16 (%YoY) จากการปรับลดลงของการจำหน่าย รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ รถยนต์ PPV และรถยนต์ SUV เนื่องจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ปัญหาภัยแล้ง การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า และการแข็งของค่าเงินบาท
  • การส่งออกรถยนต์ ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีจำนวน 65,295 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม ปี 2562 ร้อยละ 9.65 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 19.96 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว รวมทั้ง การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้ง การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว"
อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์

+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีจำนวน 163,163 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2562 ร้อยละ 2.72 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.12 (%YoY) จากการลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์ และแบบสปอร์ต

+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนมกราคม ปี 2563 มียอดจำหน่ายจำนวน 145,279 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2562 ร้อยละ 27.87 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.44 (%YoY)จากการลดลงของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี, 111-125 ซีซี และมากกว่าหรือเท่ากับ 400 ซีซี

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีจำนวน 31,590 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม ปี 2562 ร้อยละ 15.26 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.88 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศเบลเยี่ยม สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 จะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562"

4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา

การผลิต
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 4.89
  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 6.53 ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ
  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 7.01 เนื่องจากเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ประกอบกับราคาวัตถุดิบน้ำยางสดปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนสูงขึ้น จึงไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
การจำหน่ายในประเทศ

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.06 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ยางแท่งและน้ำยางข้น

+ ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.21 ตามการขยายตัวของตลาด Replacement ในประเทศ

  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 15.65 เนื่องจากผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของไทยบางรายหันไปทำตลาดส่งออกเอง ทำให้ มีการจำหน่ายผ่านผู้ส่งออกในประเทศลดลง
การส่งออก

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.03 จากการขยายตัวของการส่งออกยางทุกชนิดโดยเฉพาะในส่วนของน้ำยางข้นที่ขยายตัวร้อยละ 37.30 จากการส่งออกไปยังตลาดจีนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 90.60

+ ยางรถยนต์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.76 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 15.12

+ ถุงมือยาง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.40 จากการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย

คาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2563

การผลิตและจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม คาดว่าจะปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในสินค้ายางแปรรูปขั้นปฐมอยู่ระหว่างรับมือกับปัญหาโรคระบาดในประเทศ และขณะนี้มีการปิดท่าเรือกว่า 10 แห่ง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งสินค้าเข้าจีนทางเรือได้ สำหรับการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มการหดตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในส่วนของการผลิตและจำหน่ายถุงมือยางในประเทศคาดว่าจะปรับตัวลดลง ถึงแม้สถานการณ์การแข็งตัวของค่าเงินบาทจะเริ่มทุเลาลง แต่ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการยังคงต้องแบกรับภาระต้นทุนในระดับที่สูง

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม คาดว่าจะมีมูลค่าลดลง เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดซึ่งเกิดจากไวรัสโควิด-19 ทำให้จีนมีการปิดท่าเรือบางแห่ง ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องเลื่อนการส่งสินค้าทางเรือออกไป โดยเบื้องต้นคาดว่าจีนจะกลับมาเปิดท่าเรืออีกครั้งในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 สำหรับการส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยางคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา

5. อุตสาหกรรมพลาสติก

ดัชนีผลผลิต-ดัชนีการส่งสินค้า
  • ดัชนีผลผลิต เดือนมกราคม 2563 มีค่าดัชนีผลผลิต อยู่ที่ระดับ 87.13 หดตัวร้อยละ 4.99 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของ ปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตหดตัวในหลาย ๆ กลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น แผ่นฟิล์มพลาสติก หดตัวร้อยละ 20.87 กระสอบพลาสติก หดตัวร้อยละ 14.18 และเครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ หดตัวร้อยละ 12.56 เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารหดตัว
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนมกราคม 2563 อุตสาหกรรมพลาสติกมีค่าดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 87.82 หดตัวร้อยละ 9.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มพลาสติก หดตัวร้อยละ 30.11 รองลงมาคือ กระสอบพลาสติก หดตัวร้อยละ 21.36 และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำหดตัวร้อยละ 21.10
  • การส่งออก เดือนมกราคม 2563 มีมูลค่า 331.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 1.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีการส่งออกหดตัวสูงที่สุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (HS 3919) หดตัวร้อยละ 19.94 รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่น ๆ ชนิดยึดติดในตัว (HS 3919) หดตัวร้อยละ 9.21 กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (HS 3916) หดตัวร้อยละ 7.56 และ การส่งออกหดตัวในตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และมาเลเซีย
ปริมาณและมูลค่าการส่งออก-นำเข้า

+ การนำเข้าเดือนมกราคม 2563 มีมูลค่า 462.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 2.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลัก ที่ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัว เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (HS 3918) ขยายตัวร้อยละ 21.35 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลอดหรือท่อ (HS 3917) ขยายตัวร้อยละ 19.41 และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน (HS 3924) ขยายตัวร้อยละ 18.60

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนกุมภาพันธ์ 2563 คาดการณ์ว่าการผลิตและการส่งออกยังคงหดตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อการผลิตพลาสติกประเภท single use บางประเภท

6. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
  • ดัชนีผลผลิต เดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ระดับ 86.79 หดตัวร้อยละ 2.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน ขยายตัวร้อยละ 7.62 สำหรับเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย หดตัวร้อยละ 6.88 ตามลำดับผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตหดตัวสูงสุด ได้แก่ การผลิตผงซักฟอก หดตัวร้อยละ 24.11 เนื่องจากภาคบริการท่องเที่ยวอยู่ในภาวะซบเซา ส่งผลให้ความต้องการใช้ผงซักฟอกในส่วนของโรงแรม ที่พัก ลดลง
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนมกราคม 2563 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีค่าดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 84.08 หดตัวร้อยละ 1.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการส่งสินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน ขยายตัวร้อยละ 16.76 ขยายตัวในกลุ่มผลิตภัณฑ์เอทานอล สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ดัชนีการส่งสินค้าหดตัวร้อยละ 6.77 หดตัวในกลุ่มผลิตภัณฑ์ผงซักฟอก เป็นต้น
  • การส่งออก เดือนมกราคม 2563 มีมูลค่า 648.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 340.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.31 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหดตัว เช่น เคมีภัณฑ์อนินทรีย์และเคมีภัณฑ์อินทรีย์ การส่งออกหดตัวในตลาดหลัก เช่น จีน สหรัฐ และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่าการส่งออก 308.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.35
  • การนำเข้า เดือนมกราคม 2563 มีมูลค่า 1,370.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าการนำเข้า 890.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.81 สำหรับเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่าการนำเข้า 479.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.61 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้า หดตัว เช่น ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์คาดว่าจะขยายตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้ง สถานการณ์ไวรัส โควิด-19 ที่อาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  • ดัชนีผลผลิต เดือนมกราคม ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 104.11 หดตัวร้อยละ 5.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่ใช้เป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้แก่ Benzene, Ethylene และ Propylene หดตัวร้อยละ 12.71, 12.58 และ 9.85 ตามลำดับ และปิโตรเคมีขั้นปลายในกลุ่มที่นำไปใช้ผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตโฟมมากที่สุด คือ EPS หดตัวร้อยละ 14.93 รองลงมาเป็นกลุ่มที่นำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก ชิ้นส่วนรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ได้แก่ PE resin, PP resin, PVC resin และ PET resin หดตัวร้อยละ 4.81, 2.81, 2.54 และ 1.26 ตามลำดับ
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนมกราคม ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 100.52 หดตัวร้อยละ 6.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่ใช้เป็น สารตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้แก่ Benzene, Propylene, Ethylene และ Toluene หดตัวร้อยละ 17.89, 12.34, 12.15 และ 4.41 ตามลำดับ และปิโตรเคมีขั้นปลายในกลุ่มที่นำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก และชิ้นส่วนรถยนต์ ได้แก่ EPS, PE resin, ABS resin และ PP resin หดตัวร้อยละ 7.45, 6.98, 6.51 และ 1.33 ตามลำดับ
  • การส่งออก เดือนมกราคม ปี 2563 มีมูลค่า 863.93 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 18.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวของปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่ใช้เป็นตัวทำละลาย และสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่น Para-Xylene, Terephthalic Acid, และ Propylene เป็นต้น และปิโตรเคมีขั้นปลายที่นำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์ เช่น PE resin, PC resin, PS resin และ Nylon resin เป็นต้น
  • การนำเข้า เดือนมกราคม ปี 2563 มีมูลค่า 516.18 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นปลายที่นำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์ เช่น PE resin, PP resin และ PES resin เป็นต้น ส่วนการนำเข้าปิโตรเคมี ขั้นพื้นฐานมีการขยายตัว ในกลุ่มที่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต PVC ตัวทำละลาย และยางสังเคราะห์ เช่น Vinyl Chloride, Para-Xylene และ Butadiene เป็นต้น

คาดการณ์แนวโน้ม เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 คาดว่าการส่งออกภาพรวมจะยังคงชะลอตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่จะมีบางผลิตภัณฑ์ เช่น เม็ดพลาสติกเพื่อทำเส้นใยผลิตหน้ากากอนามัยที่มีความต้องการสูงขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แต่ในภาพรวมยังคงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทำให้การผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ หยุดชะงัก ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการขนส่งและการผลิตลดลง

8. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

+ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีค่า 97.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 97.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.4 และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 แต่การผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 96.5 ลดลงร้อยละ 0.8 จากการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน ลดลงร้อยละ 17.3 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10) รองลงมา คือ เหล็กเส้นกลม และลวดเหล็ก ลดลงร้อยละ 16.3 และ 9.0 ตามลำดับ จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง

  • การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 1.5 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.6 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 19.6 จากการจำหน่ายเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรีดร้อน ลดลงร้อยละ 21.6 และเหล็กลวด ลดลงร้อยละ 16.0 แต่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 0.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากการจำหน่ายเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และ 0.1 ตามลำดับ
  • การนำเข้า ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีปริมาณนำเข้า 0.9 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณนำเข้า 0.2 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 23.5 จากการนำเข้าเหล็กลวด ประเภท Alloy Steel ลดลงร้อยละ 67.6 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้าลดลง คือ จีน และญี่ปุ่น) รองลงมา คือ เหล็กเส้น ประเภท Carbon Steel และเหล็กเส้น ประเภท Alloy Steel ลดลงร้อยละ 31.4 และ 21.7 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณนำเข้า 0.7 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 9.5 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ประเภท Alloy Steel ลดลงร้อยละ 75.5 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้าลดลง เช่น จีน และญี่ปุ่น) รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรีดเย็น และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Carbon Steel ลดลงร้อยละ 51.2 และ 32.8 ตามลำดับ
"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คาดการณ์ว่า การผลิตทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน โดยมีประเด็นที่น่าติดตาม เช่น สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ไวรัสโควิค-19 และโครงการก่อสร้างภาครัฐ ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะยาว เช่น โครงการพัฒนาผังเมืองของกรมทางหลวงชนบท โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อการผลิต และบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศ"

9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

+ เส้นใยสิ่งทอ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.26 ส่วนหนึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อนำไปใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย เนื่องจากตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และการระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งความต้องการมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จึงทำให้มีการเร่งผลิตเส้นใยในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

  • ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 11.41 และ 2.57 (YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศลดลงจากการที่ผู้บริโภคนิยมใช้เสื้อผ้าราคาถูกจากต่างประเทศ
การจำหน่ายในประเทศ
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 7.35 10.30 และ 18.12 (YoY) เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบเพื่อการส่งออกลดลง รวมถึงกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว
การส่งออก
  • เส้นใยสิ่งทอ มูลค่าลดลง ร้อยละ 14.65 (YoY) โดยเฉพาะตลาดหลักอันดับ 1 อย่างจีน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในเมืองอู่ฮั่นที่เริ่มมีตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2562 ทำให้โรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มหลายแห่งในอู่ฮั่นปิดทำการ ส่งผลให้การส่งออกเส้นใยสิ่งทอของไทยลดลง

+ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.81 และ 4.12 (YoY) โดยตลาดผ้าผืนที่ขยายตัว ได้แก่ เวียดนาม และบังคลาเทศ ซึ่งมีการสั่งซื้อจากไทยทดแทนการนำเข้าผ้าผืนจากจีนในระยะนี้ ด้านการส่งออกเสื้อผ้าบุรุษและสตรีไปยังสหภาพยุโรป และเสื้อผ้าเด็กไปยังสหรัฐอเมริกายังคงขยายตัว

คาดการณ์แนวโน้มเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะขยายตัว โดยกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน เป็นการผลิตเพื่อนำไปใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย เนื่องจากมีการระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงเป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่สั่งวัตถุดิบจากไทยทดแทนจากประเทศจีน ซึ่งโรงงานหลายแห่งหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของ ไวรัส COVID-19 ในจีน

10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีจำนวน 6.76 ล้านตัน ลดลงจากเดือนธันวาคปี 2562 ร้อยละ 1.91 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.21 (%YoY)

  • การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 2.75 ล้านตัน ลดลง จากเดือนธันวาคม ปี 2562 ร้อยละ 0.33 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.27 (%YoY)

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีจำนวน 1.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2562 ร้อยละ 54.56 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 31.38 (%YoY) เนื่องจากตลาดส่งออกหลักมีการประเทศปรับเพิ่มคำสั่งซื้อเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังคลาเทศ เมียนมา และกัมพูชา ร้อยละ 62.86 44.35 และ 33.61 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอาจจะยังขยายตัวได้เล็กน้อยโดยมีปัจจัยบวก จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเร่ง/การขยายโครงการสาธารณูปโภคใหม่ๆ ขนาดใหญ่ของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ดี แนวโน้มอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จะลดลงในระยะต่อไป

อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)
  • การผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีจำนวน 3.16 ล้านตัน ลดลงจากเดือนธันวาคม ปี 2562 ร้อยละ 7.68 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.22 (%YoY)
  • การจำหน่ายซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) เดือนมกราคม ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 2.75 ล้านตัน ลดลงจากเดือนธันวาคม ปี 2562 ร้อยละ 0.32 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.27 (%YoY)

+ การส่งออกซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมกราคม ปี 2563 มีจำนวน 0.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2562 ร้อยละ 5.41 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.16 (%YoY) เป็นผลจากการปรับเพิ่มคำสั่งซื้อของประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา และกัมพูชา ร้อยละ 44.39 และ 31.19 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้เล็กน้อยโดยต้องระวังผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ