สรุปสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 29, 2020 15:32 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2563 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 67.2

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2563 หดตัวร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่หดตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม

อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 68.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก โรงงานน้ำตาลปิดหีบเร็วกว่าปีก่อน และปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อการปลูกอ้อย ทำให้ผลิตน้ำตาลได้น้อยลง

อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 24.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดขายในประเทศและการส่งออกลดลง

อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันดีเซล เป็นหลัก เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดขอไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันในการเดินทางลดลง

สำหรับสาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต Hard Disk Drive อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรับอากาศ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก

อุตสาหกรรมการผลิต Hard Disk Drive ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 10.2เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่มีคำสั่งผลิตและส่งมอบสินค้าเพิ่มขึ้นหลัง Supply chain ในจีนมีปัญหา และการปิดฐานการผลิตที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์

อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรับอากาศ ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก ญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่งผลให้ผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นในสินค้ากะทิ เป็นหลักเนื่องจาก มีปริมาณวัตถุดิบมะพร้าวจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาวัตถุดิบมาป้อนกระบวนการผลิตได้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ทำให้ผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ