การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2563 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 23.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรม การผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรับอากาศ อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 52.8
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2563 หดตัวร้อยละ 23.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่หดตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรับอากาศ
อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 68.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดจากภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศและส่งออกลดลงอย่างมาก
อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดน้อยลง การเดินทางและการขนส่งลดลงไปมากความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจึงลดลง
อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรับอากาศ ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 46.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ที่ผู้ผลิตยังคงปรับลดวันทำงาน ปัญหาขาดชิ้นส่วนสำหรับการผลิตสินค้า รวมถึงช่องทางการจำหน่ายโมเดิร์นเทรดยังคงปิดต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อปริมาณการจำหน่ายสินค้า
สำหรับสาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง และอุตสาหกรรมการผลิตเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค
อุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 24.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีบางบริษัทรับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทอื่นที่มาว่าจ้างและนำสินค้าไปติดแบรนด์ของตัวเอง
อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 21.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าอาหารทะเลกระป๋องมากขึ้น เพราะสะดวกในการบริโภคและเก็บได้นาน รวมถึงโรงงานเร่งผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับปริมาณวัตถุดิบ (ปลาทูน่า และปลาซาร์ดีน) ที่มีมากในปีนี้
อุตสาหกรรมการผลิตเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสินค้ายาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด และยาครีม โดยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากความต้องการใช้ยาเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม