ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 20, 2020 14:29 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2563 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)หดตัวร้อยละ 17.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) เดือนมีนาคม การผลิตหดตัวร้อยละ 10.5 เดือนเมษายน หดตัวร้อยละ 18.2 และเดือนพฤษภาคม หดตัวร้อยละ 23.8

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนมีนาคม เดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนมีนาคม ขยายตัวร้อยละ 2.7 เดือนเมษายน หดตัว ร้อยละ 24.7 และเดือนพฤษภาคม ขยายตัวร้อยละ 2.1

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมิถุนายน 2563 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ

รถยนต์ และเครื่องยนต์ หดตัวร้อยละ 57.5 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกอยู่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดน้อยลงกระทบต่อความต้องการสินค้า แม้ว่ารัฐจะผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดลงจนภาคธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้แต่กำลังซื้อในตลาดยังมีความเปราะบางทำให้คำสั่งซื้อยังคงลดลง

การกลั่นปิโตรเลียม หดตัวร้อยละ 10.03 จากน้ำมันเครื่องบินเป็นหลัก เป็นผลจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางทางอากาศถูกระงับและลดลงอย่างมาก ส่งผล อย่างมีนัยสำคัญต่อปริมาณการผลิตและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป

ยางรถยนต์ หดตัวร้อยละ 43.52 ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ชะลอการผลิต ความต้องการใช้ยางรถยนต์จึงลดลงด้วย ส่งผลให้ตลาดในประเทศและตลาดส่งออกยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนมิถุนายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

อาหารสัตว์สำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.78 จากอาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารปลาเป็นหลัก โดยยังมีความต้องการใช้ต่อเนื่องและส่งออกได้เพิ่มขึ้น

อาหารทะเลกระป๋อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.46 ผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องเพราะสามารถเก็บไว้ได้นาน

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ เดือนมิถุนายน 2563

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย
  • การนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 1,089.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 20.50 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวจากเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ เป็นต้น มีเพียง การนำเข้าเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบที่ยังคงขยายตัว
  • การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 5,695.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 20.40 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวจากเคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองแดง เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

+ โรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 222 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ร้อยละ 12.69 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.26 (%YoY)

  • มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่ารวม 9,675 ล้านบาท ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2563 ร้อยละ 42.45 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.09 (%YoY)
"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนมิถุนายน 2563 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำนวน 28 โรงงาน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน จำนวน 23 โรงงาน"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2563 คือ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนเงินทุน 794.79 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ จำนวนเงินทุน 679.28 ล้านบาท

+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 78 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ร้อยละ 41.82 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.34 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่ารวม 2,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ร้อยละ 222.43 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.84 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่มีการเลิกประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนมิถุนายน 2563 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำนวน 7 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน จำนวน 6 โรงงาน

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนมิถุนายน 2563 คือ อุตสาหกรรมการสี ฝัด หรือขัดข้าว มูลค่าเงินลงทุน 461 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการสร้าง ประกอบ ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงสภาพจักรยานยนต์ จักรยานสามล้อ มูลค่าเงินลงทุน 460 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนมิถุนายน 2563

1.อุตสาหกรรมอาหาร
  • การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนมิถุนายน 2563 ปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 3.0 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง รวมถึงความต้องการบริโภคสินค้าน้ำตาลและน้ำผลไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงชะลอตัว สำหรับสินค้าที่มีผลต่อการปรับลดของดัชนีผลผลิต มีดังนี้ (1) น้ำตาล ดัชนีปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 43.1 (2) สับปะรดกระป๋อง ดัชนีปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 36.1 (3) น้ำผลไม้ ดัชนีปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 17.7 และ (4) แป้งมันสำปะหลัง ดัชนีปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 10.3

ทั้งนี้ หากไม่รวมน้ำตาล ภาพรวมดัชนีผลผลิตอาหารขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ผลผลิตของอาหารสำเร็จรูปและอาหารพื้นฐาน (commodity) บางชนิดยังคงได้รับอานิสงส์จากการสำรองอาหารระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง อาทิ (1) ข้าวโพดหวานกระป๋อง ดัชนีขยายตัว ร้อยละ 44.6 (2) ปลากระป๋อง ดัชนีขยายตัว ร้อยละ 30.5 (3) ผลิตภัณฑ์นม ดัชนีขยายตัว ร้อยละ 11.7 (4) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ดัชนีขยายตัว ร้อยละ 4.6 รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง ดัชนีขยายตัว ร้อยละ 19.91

  • การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศเดือนมิถุนายน 2563 ปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 8.0 เป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงและมาตรการห้ามนักเดินทางต่างชาติเข้าประเทศ

+ ตลาดส่งออก ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารเดือนมิถุนายน มีมูลค่า 2,205.62 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ร้อยละ 6.0 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ (1) น้ำตาล เนื่องจากบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่หันมาผลิตน้ำตาลส่งออกแทนการผลิตเอทานอล ขณะเดียวกันความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกชะลอตัวลง (2) ข้าว เนื่องจากไทยเสียส่วนแบ่งทางการตลาดหลังจากที่อินเดียและเวียดนามเริ่มส่งออกได้มากขึ้น รวมถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งตัวทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันด้านราคาส่งออกเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และ (3) แป้ง มันสำปะหลัง เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง และการแพร่ระบาดของโรคใบด่าง

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าดัชนีผลผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากวัตถุดิบสินค้าเกษตรลดลงจากปัญหาภัยแล้ง เช่น ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ทำให้วัตถุดิบไม่เพียงพอต่อความต้องการผลิตของโรงงาน รวมถึงการชะลอตัวจากการบริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการเราเที่ยวด้วยกันที่เริ่มโครงการตั้งแต่ 18 ก.ค. -31 ต.ค. 2563 จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวและมีสภาพคล่องมากขึ้น สำหรับมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม สินค้าสำเร็จรูปและอาหารพื้นฐานยังคงมีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ เพื่อรักษาระดับความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ในบางประเทศ โดยสินค้าสำคัญที่มูลค่าการส่งออกจะขยายตัว ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง นม สิ่งปรุงรส และอาหารสัตว์เลี้ยง

2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า
  • การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 92.3 สินค้าปรับตัวลดลง อาทิ คอมเพรสเซอร์ เครื่องปรับอากาศ หม้อหุงข้าว พัดลมตามบ้านและมอเตอร์ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 38.7, 26.4, 15.2, 10.9 และ 7.5 ตามลำดับ โดยเครื่องปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์ มีการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศลดลง ส่วนหม้อหุงข้าวและมอเตอร์ไฟฟ้า มีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เตาอบไมโครเวฟ สายไฟฟ้า กระติกน้ำร้อน ตู้เย็น สายเคเบิ้ล หม้อแปลงไฟฟ้าและเครื่องซักผ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7, 24.2, 20.1, 15.5, 4.0, 2.1 และ 1.9 ตามลำดับ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,828.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดยุโรปและญี่ปุ่นที่มีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศมีมูลค่า 406.1ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 20.2 และมอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีมูลค่า 66.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 17.2 ในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและยุโรป ในขณะที่สินค้าที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า มีมูลค่า 173.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ในตลาดจีนและยุโรป และเตาอบไมโครเวฟ มูลค่า 15.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในตลาดสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรปและอาเซียน
"คาดการณ์การผลิตเดือนกรกฎาคม 2563 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากซัพลายเชนของการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงชะลอตัว เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลต่อการผลิตและการส่งออกของไทย"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
  • การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 92.0 โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งปรับตัวลดลง ได้แก่ PCBA, PWB, IC และ HDD โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 18.5, 16.5, 8.5 และ 3.6 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ในขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ Semiconductor devices transistor และ Printer โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.2 และ 2.1 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการสินค้าของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น
  • การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,069.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้า PCBA มีมูลค่า 91.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ร้อยละ 11.5 ในตลาดจีนและยุโรป และ IC มีมูลค่า 580.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.3 ในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ในขณะที่สินค้า Semiconductor devices transistor มีมูลค่า 239.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.9 ในตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียนและจีน และสินค้า HDD มีมูลค่า 971.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เนื่องจากคำสั่งซื้อในตลาดสหรัฐอเมริกาและจีนเพิ่มขึ้น
"คาดการณ์การผลิตเดือนกรกฎาคม 2563 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ซัพลายเชนของการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกหยุดชะงักและความผันผวนของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามหลายประเทศเริ่มมีการปรับตัวและมีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ทำให้วัฏจักรของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G, Data Center และผลิตภัณฑ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทาง IT ซึ่งทำให้มีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น"

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มีจำนวน 71,704 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ร้อยละ 27.96 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 58.52 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มีจำนวน 58,049 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ร้อยละ 43.62 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 32.54 (%YoY) จากการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV และรถยนต์ SUV เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ในประเทศมีการฟื้นตัวจากเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายการล็อกดาวน์ มีการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งโรงงานเริ่มกลับมาเปิดทำการผลิตรถยนต์

+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มีจำนวน 50,049 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ร้อยละ 67.42 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 48.71 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกากลางและใต้ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม ปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ปี 2562 เนื่องจาก ผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้ง ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว"
อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์

+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มีจำนวน 75,819 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ร้อยละ 13.72 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 52.13 (%YoY) จากการลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์ และแบบสปอร์ต

+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มียอดจำหน่ายจำนวน 125,028 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ร้อยละ 28.43 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.87 (%YoY) จากการลดลงของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี 111-125 ซีซี, 126-250 ซีซี และมากกว่าหรือเท่ากับ 400 ซีซี

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มีจำนวน 26,148 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ร้อยละ 73.28 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.51 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเมียนมา

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม ปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ปี 2562 เนื่องจาก ผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้ง ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว"

4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา

การผลิต
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 9.85 โดยเป็นการปรับลดลงในผลิตภัณฑ์ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง ตามความต้องการใช้ที่ลดลง
  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 44.05 ตามการชะลอตัวของทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

+ ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.72 เนื่องจากสถานการณ์โควิค-19 ทำให้มีความต้องการใช้ทางการแพทย์สูงขึ้น

การจำหน่ายในประเทศ

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.49 โดยเป็นการขยายตัวเฉพาะในผลิตภัณฑ์น้ำยางข้น ตามความต้องการใช้ที่สูงขึ้น

  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 43.39 ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และตลาด Replacement

+ ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.13 ตามความต้องการใช้ทางการแพทย์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การส่งออก
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าลดลงร้อยละ 55.65 เนื่องจากจีนมีความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นปฐมจากไทยลดลงตามสถานการณ์การผลิตผลิตภัณฑ์ยางในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก
  • ยางรถยนต์ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 22.07 ตามการชะลอตัวของตลาดสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเวียดนาม

+ ถุงมือยาง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.13 จากการขยายตัวที่ดีของตลาดสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

คาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2563

การผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากมีแนวโน้มความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศลดลงค่อนข้างมาก สำหรับการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ คาดว่าจะยังคงหดตัวตามแนวโน้มการชะลอตัวของตลาดในประเทศ ทั้งในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์และตลาด Replacement รวมถึงการชะลอตัวของตลาดส่งออกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทย ในส่วนของการผลิตและจำหน่าย ถุงมือยางในประเทศคาดว่าจะมีการขยายตัวที่ดี เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้มีความต้องการใช้ทางการแพทย์สูงขึ้น จึงมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) และยางรถยนต์ คาดว่าจะมีมูลค่าลดลง เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ภาคการผลิตในหลายประเทศโดยเฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในสินค้าดังกล่าวชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สำหรับการส่งออก ถุงมือยางคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้ม ความต้องการใช้ที่สูงขึ้นของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น

5. อุตสาหกรรมพลาสติก

ดัชนีผลผลิต-ดัชนีการส่งสินค้า
  • ดัชนีผลผลิต เดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 84.87 หรือหดตัวร้อยละ 8.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ 1.21 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยหดตัวในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำที่เป็นพลาสติก หดตัวร้อยละ 30.57 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ฟิล์ม และพลาสติกแผ่น เป็นต้น หดตัวร้อยละ 8.50 และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ภาชนะพลาสติก (ขวด กล่อง ลัง) และกระสอบ หดตัวร้อยละ 5.29

+ ดัชนีการส่งสินค้า เดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 88.45 หรือหดตัวร้อยละ 4.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำที่เป็นพลาสติก หดตัวร้อยละ 14.55 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ฟิล์ม และพลาสติกแผ่น หดตัวร้อยละ 7.57 และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ภาชนะพลาสติก (ขวด กล่อง ลัง) และกระสอบ หดตัวร้อยละ 2.15 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนดัชนีการส่งสินค้า มีการขยายตัวร้อยละ 3.26

+ การส่งออก เดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 311.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 10.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้การส่งออกหดตัว เช่น กลุ่มเส้นใยยาวเดี่ยว หดตัวร้อยละ 46.44 กลุ่มของอื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก หดตัวร้อยละ 29.52 กลุ่มฟิล์ม เทปกาว หดตัวร้อยละ 25.88 และกลุ่มพลาสติกปูพื้น หดตัวร้อยละ 23.28 เป็นต้น แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน การส่งออกขยายตัว ร้อยละ 9.70

ปริมาณและมูลค่าการส่งออก-นำเข้า

+ การนำเข้าเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 370.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 1.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้การนำเข้า หดตัว เช่น กลุ่มเครื่องสุขภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 30.52 กลุ่มเส้นใยยาวเดี่ยว หดตัวร้อยละ 11.40 กลุ่มของอื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก หดตัวร้อยละ 11.37 และกลุ่มเครื่องประกอบของอาคาร หดตัวร้อยละ 10.78 เป็นต้น แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน การนำเข้าขยายตัว ร้อยละ 2.36

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนกรกฏาคม 2563 คาดการณ์ว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาจจะยังคงชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามหากเทียบกับเดือนก่อน คาดว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกอาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล๊อกดาวน์ และภาคธุรกิจ/ผู้ประกอบการ หรือภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ

6. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
  • ดัชนีผลผลิต เดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 100.11 หรือหดตัวร้อยละ 10.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ 7.41 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐานหดตัวร้อยละ 22.67 ซึ่งหดตัวทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการสินค้าลดลง สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลายหดตัวร้อยละ 7.11 ซึ่งเคมีภัณฑ์ขั้นปลายหดตัวทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ยกเว้นการผลิตปุ๋ยเคมี

+ ดัชนีการส่งสินค้า เดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 99.95 หดตัวร้อยละ 9.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 5.95 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน หดตัวร้อยละ 25.46 และกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย หดตัวร้อยละ 5.33

+ การส่งออก เดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 649.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว ร้อยละ 10.30 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เป็นการหดตัวทั้งในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐานและเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย โดยเคมีภัณฑ์พื้นฐานมีมูลค่าการส่งออก 346.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.18 และเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่าการส่งออก 300.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 11.17 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหดตัว ได้แก่ สี เครื่องสำอาง และเคมีภัณฑ์อินทรีย์

  • การนำเข้า เดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 1,116.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 12.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ 5.80 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าการนำเข้า 685.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.80 สำหรับเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่าการนำเข้า 431.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 16.77 การนำเข้าหดตัวในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ยกเว้น สารลดแรงตึงผิว

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เดือนกรกฎาคม 2563 การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์คาดว่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ รวมถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19

7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

+ ดัชนีผลผลิต เดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 108.30 หรือขยายตัวร้อยละ 2.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวร้อยละ 2.64 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดย ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน ได้แก่ Toluene, Benzene และ Propylene ขยายตัวร้อยละ 34.86, 21.23 และ 2.66 และ ปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ PS resin, PE resin และ EPS ขยายตัวร้อยละ 6.72, 6.71 และ 5.37 ตามลำดับ

+ ดัชนีการส่งสินค้า เดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 111.01 หรือขยายตัวร้อยละ 2.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวร้อยละ 5.26 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดย ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน ได้แก่ Toluene, Benzene และ Propylene ขยายตัวร้อยละ 39.79, 22.73 และ 0.44 และ ปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ EPS, ABS resin, PET resin, SAN resin, PE resin และ PP resin ขยายตัวร้อยละ 28.73, 8.73, 6.62, 4.83, 3.62 และ 0.05 ตามลำดับ

+ การส่งออก เดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 764.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 15.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน เช่น Terephthalic acid, Vinyl chloride, Butadiene และ Acetic acid เป็นต้น หดตัวร้อยละ 7.40 และหดตัวในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นปลาย เช่น PE resin, PP resin, PC resin, PET resin และ PVC resin เป็นต้น หดตัวร้อยละ 16.75 แต่เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา การส่งออกมีการขยายตัวร้อยละ 8.00 ซึ่งขยายตัวทั้งในปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานและปิโตรเคมีขั้นปลาย

  • การนำเข้า เดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 321.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 29.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ 2.45 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งหดตัวในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน เช่น Vinyl Chloride, Para-Xylene, Ethylene และ Styrene เป็นต้น หดตัวร้อยละ 14.99 และหดตัวในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นปลาย เช่น PE resin, PP resin, PMMA resin และ PES resin เป็นต้น หดตัวร้อยละ 22.33

คาดการณ์แนวโน้ม เดือนกรกฎาคม ปี 2563 คาดว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาจจะยังคงชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่การผลิต และการส่งออก อาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนจากการผ่อนคลายมาตรการล๊อกดาวน์ และภาคธุรกิจผู้ประกอบการ หรือภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ

8. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 2563 มีค่า 83.3 หดตัวร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน เนื่องจากการชะลอตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จากการชะลอตัวของสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในส่วนของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 87.5 หดตัวร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน ซึ่งหดตัวร้อยละ 33.4 รองลงมา คือ ลวดเหล็กแรงดึงสูง และลวดเหล็ก หดตัวร้อยละ 31.7 และ 17.3 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 73.8 หดตัวร้อยละ 30.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ซึ่งหดตัวร้อยละ 47.8 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน หดตัวร้อยละ 41.2 และ 20.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การผลิตเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อน ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ
  • การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 1.0 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 38.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.3 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 39.8 จากการจำหน่ายเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรีดร้อน ซึ่งหดตัวร้อยละ 51.8 และเหล็กลวด หดตัวร้อยละ 22.4 ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 0.7 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 38.5 จากการจำหน่ายเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ซึ่งหดตัวร้อยละ 53.1 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น หดตัวร้อยละ 45.8 และ 42.7 ตามลำดับ
  • การนำเข้า ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มีปริมาณนำเข้า 0.6 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 43.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณนำเข้า 0.1 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 37.4 จากการนำเข้าเหล็กลวด ประเภท Alloy Steel ซึ่งหดตัวร้อยละ 68.0 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้าลดลง คือ ญี่ปุ่น และจีน) รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรีดร้อน ประเภท Carbon Steel และเหล็กเส้น ประเภท Alloy Steel หดตัวร้อยละ 58.4 และ 46.0 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณนำเข้า 0.5 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 45.2 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Carbon Steel ซึ่งลดลงร้อยละ 79.3 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้าลดลง คือ ญี่ปุ่น และไต้หวัน) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน ประเภท Alloy Steel และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Alloy Steel หดตัวร้อยละ 76.5 และ 72.3 ตามลำดับ
"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกรกฎาคม 2563 คาดการณ์ว่า การผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่น่าติดตาม เช่น สถานการณ์การแพร่ ระบาดรอบสองของเชื้อไวรัสโควิด-19 ราคาสินค้าเหล็กต่างประเทศ และการดำเนินการโครงการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลต่อปริมาณการผลิต และการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศ"

9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

+ เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 19.67 46.96 และ 17.86 (YoY) เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศชะลอตัว ส่งผลให้การผลิตตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำจนถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อน พบว่า การผลิตผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.31 และ 10.67 จากการคลายล็อกดาวน์ของประเทศคู่ค้าหลายแห่ง

การจำหน่ายในประเทศ
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง 22.19 36.20 และ 29.83 เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบเพื่อการส่งออกลดลง รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศชะลอตัวจากผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
การส่งออก

+ เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่าลดลง ร้อยละ 19.53 32.96 และ 16.93 (YoY) เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลกทำให้การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงัก ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยตลาดสำคัญที่ลดลง ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อน พบว่า การส่งออกเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัว ร้อยละ 25.01 7.27 และ 31.10 จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป เนื่องจากการคลายล็อกดาวน์ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ทำให้เริ่มมีการส่งมอบสินค้าตามคำสั่งซื้อเดิม

คาดการณ์แนวโน้มเดือนกรกฎาคม 2563

คาดว่า ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะชะลอตัวตามกำลังซื้อในประเทศ และภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มีจำนวน 6.97 ล้านตัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ร้อยละ 1.50 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.89 (%YoY)

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 3.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ร้อยละ 0.21 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.22 (%YoY)

  • การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มีจำนวน 1.33 ล้านตัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ร้อยละ 1.12 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.25 (%YoY) เป็นผลจากการปรับลดคำสั่งในตลาดหลัก ได้แก่ สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และบังคลาเทศ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวม เดือนกรกฎาคม ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

  • การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มีจำนวน 3.33 ล้านตัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ร้อยละ 5.50 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.00 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) เดือนมิถุนายน ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 3.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ร้อยละ 0.21 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.56 (%YoY)

  • การส่งออกซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 มีจำนวน 0.35 ล้านตัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ร้อยละ 25.58 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 32.09 (%YoY) เป็นผลจากการปรับลดคำสั่งในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว และ กัมพูชา

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ