สถานการณ์การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน และภาพรวมครึ่งปีแรก 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 25, 2020 14:46 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในเดือนมิถุนายน 2563 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 18.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกหดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเม็ดพลาสติก ด้านตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ตลาดหลักที่มีการขยายตัว ได้แก่ จีน และสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ตลาดหลักอื่นๆหดตัว อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (27) อาเซียน (5) และ CLMV

ภาพรวมครึ่งปีแรก 2563 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 12.5 ตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ส่งผลทำให้การส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัว อาทิ ญี่ปุ่น CLMV สหภาพยุโรป (27) และอาเซียน (5) ยกเว้นตลาดจีน และสหรัฐอเมริกา

ด้านตลาดส่งออกในเดือนมิถุนายน และครึ่งปีแรก 2563 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ไปยังตลาดหลักขยายตัวในตลาดจีน และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ญี่ปุ่น CLMV สหภาพยุโรป (27) และอาเซียน (5) ชะลอตัวลง โดยในเดือนมิถุนายน 2563 การส่งออกรวมมีมูลค่า 16,444.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 23.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาการส่งออกในหมวดสินค้าสำคัญ พบว่า สินค้าเกษตรกรรมหดตัว ร้อยละ 15.8 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรหดตัวร้อยละ 3.6 ด้านสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าส่งออก 13,084.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 25.1 สินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่าส่งออก 12,827.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 18.0 สินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกหดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เส้นใยประดิษฐ์ และเม็ดพลาสติก

ภาพรวมครึ่งปีแรก 2563 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 82,961.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 12.5

การนำเข้ามีมูลค่ารวม 14,833.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 18.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าเชื้อเพลิงหดตัว ร้อยละ 30.6 สินค้าทุนหดตัวร้อยละ 8.2 โดยสินค้าทุนหดตัวจาก ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ด้านสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 20.6 จากการนำเข้าเคมีภัณฑ์อินทรีย์ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และแผงวงจรไฟฟ้า หดตัวลง

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ

เครื่องอิเล็กทรอนิกส์

ในเดือน มิ.ย. 2563 มีมูลค่าการส่งออก 3,117.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นสำคัญ โดยหดตัวร้อยละ 4.64 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง และญี่ปุ่น แต่การส่งออกไปจีน และสหรัฐอเมริกา ยังคงขยายตัว

ภาพรวมการส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ครึ่งปีแรก 2563 ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น

เครื่องใช้ไฟฟ้า

ในเดือน มิ.ย. 2563 มีมูลค่าการส่งออก 1,709.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบหดตัวร้อยละ 20.2 ตามการส่งออกไปประเทศเวียดนาม ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

ภาพรวมการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าครึ่งปีแรก 2563 หดตัวร้อยละ 11.2 จากการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม จีน และออสเตรเลีย

เม็ดพลาสติก

ในเดือน มิ.ย. 2563 มีมูลค่าการส่งออก 630.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปยังประเทศ CLMV อาเซียน (5) ญี่ปุ่น และอินเดีย ทั้งนี้ เป็นการปรับลดลงทั้งด้านราคาและปริมาณการส่งออก โดยดัชนีราคาส่งออกเม็ดพลาสติกหดตัวร้อยละ 11.3 และปริมาณการส่งออกเม็ดพลาสติกขยายตัวร้อยละ 5.2 ทั้งนี้ปริมาณการส่งออกในเดือน มิ.ย. มีจำนวน 598.0 ล้านกิโลกรัม ในขณะที่การส่งออกไปประเทศจีนยังคงขยายตัว

ภาพรวมการส่งออกเม็ดพลาสติกครึ่งปีแรก 2563 หดตัวร้อยละ 18.7 และการส่งออกในรูปปริมาณมีปริมาณ 3,301.8 ล้านกิโลกรัม หดตัวร้อยละ 10.0 จากการส่งออกไปยังประเทศจีน

ยานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ

ในเดือน มิ.ย. 2563 มีมูลค่าการส่งออก 1,810.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 40.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการส่งออกรถยนต์เป็นสำคัญโดยหดตัวร้อยละ 38.9 จากการส่งออกไปตลาดสำคัญ อาทิ ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ภาพรวมการส่งออกยานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบครึ่งปีแรก 2563 หดตัวร้อยละ 20.5 จากการส่งออกไปยังออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น และซาอุดิอาระเบีย

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ในเดือน มิ.ย. 2563 มีมูลค่าการส่งออก 452.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 18.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยสินค้าต้นน้ำอย่างด้ายและด้าย เส้นใยประดิษฐ์หดตัวร้อยละ 22.8 จากการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและจีน สินค้ากลางน้ำอย่างผ้าผืนหดตัวร้อยละ 33.0 จากการส่งออกไปประเทศ CLMV สินค้าปลายน้ำอย่างเสื้อผ้าสำเร็จรูปหดตัวร้อยละ 17.0 จากการส่งไปสหรัฐอเมริกา

ภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มครึ่งปีแรก 2563 หดตัวร้อยละ 16.9 จากการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเวียดนาม

อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำแท่ง)

ในเดือน มิ.ย. 2563 มีมูลค่าการส่งออก 240.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 70.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกอัญมณีประเภทพลอย ที่หดตัวร้อยละ 84.2 ไปยังฮ่องกง อินเดีย และเบลเยี่ยม ขณะที่การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออก 497.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 81.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกทองคำแท่งที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป มูลค่า 1,223.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 735.1 ไปยังสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย และฮ่องกง

ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำแท่ง) ครึ่งปีแรก 2563 หดตัวร้อยละ 42.2 จากการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี เบลเยียม และฮ่องกง

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ