สรุปสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 25, 2020 14:48 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2563 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรม การผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการผลิตยางนอกและยางใน การหล่อดอกยางและการซ่อมสร้างยาง อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ร้อยละ 55.2

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2563 หดตัวร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่หดตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการผลิตยางนอกและยางใน การหล่อดอกยางและการซ่อมสร้างยาง

อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 57.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น รัฐจึงผ่อนปรนมาตรการป้องกันลง ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มทำการผลิตได้ตามปกติ แต่เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนได้รับผลกระทบทางรายได้จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รวมถึงยังขาดความมั่นใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว จึงทำให้ปริมาณการสั่งซื้อยังมีแนวโน้มลดลงในช่วงนี้

อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนแม้ว่าจะมีการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะสายการบินต่างๆเริ่มทยอยเปิดให้บริการบินภายในประเทศตั้งแต่เดือน พ.ค. ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรวมน้ำมันสำเร็จรูปลดลง

อุตสาหกรรมการผลิตยางนอกและยางใน การหล่อดอกยางและการซ่อมสร้างยางดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ43.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องชะลอการผลิต ทำให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ชะลอตัวลงไปด้วย เช่นเดียวกับตลาดรถยนต์ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ปริมาณส่งออกยางรถยนต์น้อยลง

สำหรับสาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์นม

อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 10.8เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป อาหารสุกรและอาหารปลา ทั้งนี้ เนื่องจากการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปมีการเติบโตของตลาดในประเทศและการส่งออกสูงในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19

อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 30.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้ความต้องการสินค้าประเภทอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถสำรองไว้บริโภคได้ในระยะยาว ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าสะดวกซื้อต่างๆและมีราคาไม่สูง

อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์นม ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตและการจำหน่ายสินค้านมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว และนมผง เพิ่มขึ้น เนื่องจากปีก่อนผู้ผลิตรายใหญ่ประสบกับปัญหาด้านการผลิตนมไม่ผ่านมาตรฐาน และในปีนี้ผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจาก ลาว กัมพูชา และพม่า รวมถึงเปลี่ยนช่องทางการทำตลาดมาเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อความสะดวกของผู้บริโภคในชวงการระบาดของไวรัสโควิด.2:

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ