การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2563 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรม การผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 56.0
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2563 หดตัวร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่หดตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล
อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 53.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนแม้ว่าสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันยังคงมีการแพร่ระบาดในภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ความต้องการซื้อของผู้บริโภคในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของไทย
อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งสาเหตุหลักมาจากการลดลงของปริมาณการใช้น้ำมันในเครื่องบิน แม้ว่าสายการบินต่างๆจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการบินภายในประเทศเพิ่มขึ้น แต่การใช้น้ำมันเครื่องบินในช่วงนี้ยังคงมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีการเดินทางโดยเครื่องบินทั้งในและต่างประเทศเป็นปกติ
อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ57.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลผลิตอ้อยในปีนี้มีปริมาณน้อยกว่าปีก่อน จึงทำให้มีปริมาณน้ำตาลทรายดิบที่สามารถนำมาแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายได้มีปริมาณน้อยลง ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลจึงมีแนวโน้มลดลง
สำหรับสาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ อุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน และอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป
อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 25.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศเริ่มดีขึ้น ธุรกิจร้านขายสุราประเภทต่างๆ สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ตามปกติ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถ เพิ่มปริมาณการผลิตและการจำหน่ายเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในขณะนี้
อุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 48.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้มีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบกับปีนี้มีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ส่งผลให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวได้มากกว่าปีก่อนซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้มีความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป อาหารสุกรและอาหารสัตว์น้ำสำเร็จรูป ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศคู่ค้าบางส่วนเริ่มคลี่คลายลง จึงทำให้มีความต้องการนำเข้าเนื้อสัตว์จากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม