การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2563 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 60.7
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2563 หดตัวร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่หดตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล
อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 29.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงเกือบทุกรายการสินค้า ยกเว้นรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ เนื่องจาก การระบาดของไวรัสโควิด-19กระทบต่อความต้องการใช้รถยนต์และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง
อุตสาหกรรมการผลิตHard Disk Drive (HDD)ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 22.2เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ประกอบกับความนิยมในการใช้ SSDเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 75.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตอ้อยมีน้อยลง ส่งผลให้ผลิตน้ำตาลทรายได้น้อยลง
สำหรับสาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน และอุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์
อุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 66.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นประกอบกับผู้ประกอบการบางรายได้ผสมปุ๋ยเคมีสูตรใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมากขึ้น
อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 23.6เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นในสินค้าตู้เย็นและเครื่องซักผ้า เป็นหลัก โดยตู้เย็น เพิ่มขึ้นจากความต้องการสำรองอาหารสด และการปรับลดราคาเพื่อขยายฐานลูกค้าระดับกลาง-ล่าง ส่วนเครื่องซักผ้า เพิ่มขึ้นจากการเปิดช่องทางการตลาดใหม่ในประเทศ และการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังมาเลเซียและญี่ปุ่น
อุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากเครื่องเรือนทำด้วยไม้และโลหะ เป็นหลัก จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นและเร่งผลิตให้ทันส่งมอบทั้งตลาดในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม