สรุปสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2020 13:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2563 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรม การผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ร้อยละ 63.1

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2563 หดตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่หดตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล

อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สถานการณ์การผลิตเริ่มดีขึ้นจากการที่มีปริมาณความต้องการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากภาครัฐใช้มาตรการที่ผ่อนคลายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงสถานการณ์การส่งออกที่มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งสาเหตุหลักมาจากการลดลงของปริมาณการใช้น้ำมันในเครื่องบิน เนื่องจากการใช้น้ำมันเครื่องบินในช่วงนี้ยังคงมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงโรงกลั่นน้ำมันของผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ปิดทำการเพื่อซ่อมบำรุงในช่วงเดือน ก.ย. -ต.ค. 63

อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ63.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลผลิตอ้อยในปีนี้มีปริมาณน้อยกว่าปีก่อน จึงทำให้มีปริมาณน้ำตาลทรายดิบที่สามารถนำมาแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายได้มีปริมาณน้อยลง ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลจึงมีแนวโน้มลดลง

สำหรับสาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และอุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก

อุตสาหกรรมการผลิตเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 30.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงยังมีความต้องการผลิตยาสำรองไว้ให้เพียงพอต่อการรักษาโรคในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 34.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นจากสินค้าตู้เย็นและเครื่องซักผ้าเป็นหลัก เนื่องจากปัญหา การขาดแคลนวัตถุดิบลดลงจากมาตรการที่ผ่อนคลายของภาครัฐ ผู้ประกอบการมีการย้ายฐานการผลิตจากโรงงานที่ประเทศจีนมาผลิตที่ประเทศไทยตั้งแต่เดือน มิ.ย.63 ทำให้มีปริมาณการผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้น และการปรับราคาขายลดลงเพื่อขยายฐานลูกค้าของผู้ประกอบการ

อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 27.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากสินค้าสับปะรดกระป๋อง และข้าวโพดหวานเป็นหลักเนื่องจากปีนี้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกสับปะรดและข้าวโพดในหลายพื้นที่ ทำให้มีผลผลิตในการเก็บเกี่ยวนอกฤดูกาลเข้าสู่โรงงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ