สถานการณ์การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกันยายนและภาพรวม 9 เดือนแรก 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2020 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เดือนกันยายน 2563 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 3.75 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่การส่งออกหดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (หักทอง) ประเภทพลอย รถยนต์ สิ่งทอ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ตลาดหลักยังคงขยายตัวในประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดอาเซียน (5) CLMV สหภาพยุโรป (27) และ จีนหดตัวลง

ภาพรวม 9 เดือนแรก 2563 ตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดที่ขยายตัว คือ สหรัฐอเมริกาและจีน ขณะที่ตลาดอาเซียน (5) สหภาพยุโรป (27) CLMV ญี่ปุ่นหดตัวลง

ในเดือนกันยายน 2563 การส่งออกรวมมีมูลค่า 19,621.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.86 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หมวดสินค้าสำคัญพบว่า สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 15,868.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.93 สินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 15,370.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.75 โดยหดตัวจากอัญมณีและเครื่องประดับ (หักทอง) ประเภทพลอย รถยนต์ สิ่งทอ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ด้านสินค้าเกษตรกรรม มีมูลค่า 1,738.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.82 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร มีมูลค่า 1,540.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.51

ภาพรวม 9 เดือนแรก 2563 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 125,724.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 11.8 ตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ตลาดที่ขยายตัว คือ สหรัฐอเมริกาและจีน ขณะที่ตลาดอาเซียน (5) สหภาพยุโรป (27) CLMV ญี่ปุ่นหดตัวลง

การนำเข้ามีมูลค่ารวม 17,391.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.08 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่า 2,720.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 20.1 สินค้าทุนมีมูลค่า 4,783.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.73 โดยสินค้าทุนหดตัวจากการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ด้านสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 6,924.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.70 จากการนำเข้าเหล็ก ประเภทเหล็กแผ่น และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวชะลอลง

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ

เครื่องอิเล็กทรอนิกส์

ในเดือน ก.ย. 2563 มีมูลค่าการส่งออก 3,395.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสารโทรศัพท์ไปประเทศสหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ และฮังการี โดยขยายตัวร้อยละ 14.6 และ 27.2 ตามลำดับ

ภาพรวม 9 เดือนแรก การส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์และไต้หวัน เป็นต้น

เครื่องใช้ไฟฟ้า

ในเดือน ก.ย. 2563 มีมูลค่าการส่งออก 2,192.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกตู้เย็นตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 29.7 และ 24.0 ตามลำดับ ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียน(9) อินเดีย แคนาดา และไต้หวัน เป็นต้น

ภาพรวม9 เดือนแรก การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวร้อยละ 7.0 จากการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา จีน และออสเตรเลีย

เม็ดพลาสติก

ในเดือน ก.ย. 2563 มีมูลค่าการส่งออก 716.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้การส่งออกในเดือน ก.ย. 2563 เป็นการปรับลดลงด้านราคาโดยดัชนีราคาส่งออกเม็ดพลาสติกหดตัวร้อยละ 3.9 ส่วนปริมาณการส่งออกเม็ดพลาสติกมีปริมาณ 606.5 ล้านกิโลกรัม ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ภาพรวม 9 เดือนแรก การส่งออกเม็ดพลาสติกหดตัวร้อยละ 17.0 จากการส่งออกไปประเทศจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น และการส่งออกในรูปปริมาณมีปริมาณ 5,028.8 ล้านกิโลกรัม หดตัวร้อยละ 8.4

ยานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ

ในเดือน ก.ย. 2563 มีมูลค่าการส่งออก 2,662.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนจากการส่งออกรถยนต์ประเภทรถปิคอัพ รถบัส รถบรรทุก และรถยนต์นั่ง หดตัวร้อยละ 28.2 และ 18.4 ตามลำดับ จากการส่งออกไปตลาดสำคัญ อาทิ อาเซียน (5) CLMV จีน สหรัฐอเมริกา

ภาพรวม 9 เดือนแรก การส่งออกยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบหดตัวร้อยละ 21.1 จากการส่งออกไปยังออสเตรเลีย อาเซียน (5) และ CLMV

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ในเดือน ก.ย. 2563 มีมูลค่าการส่งออก 465.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 17.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการหดตัวตลอดห่วงโซ่อุปทาน ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ กล่าวคือ ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์หดตัวร้อยละ 17.0 จากการส่งออกไปญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม ผ้าผืนหดตัวร้อยละ 24.1 ไปยัง CLMV บังกลาเทศ และจีน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปหดตัวร้อยละ 25.0 จากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป (27)

ภาพรวม 9 เดือนแรก การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มหดตัวร้อยละ 18.2 จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน

อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำแท่ง)

ในเดือน ก.ย. 2563 มีมูลค่าการส่งออก 425.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 58.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกอัญมณีประเภทพลอย และเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทอง ไปยังประเทศฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ขณะที่การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าการส่งออก 924.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 41.7

ภาพรวม 9 เดือนแรก การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำแท่ง) มีมูลค่า 3,361.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 46.5 จากการส่งออกไปยังประเทศฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ